3 สายอาชีพส่อไปไม่รอด ชาวอเมริกันอาจตกงานมากขึ้น ในยุคทรัมป์ 2.0
เปิดลิสต์ 3 สายงาน 3 ภาคอุตสาหกรรมส่อตกงานมากขึ้น เหตุ 'โดนัลด์ ทรัมป์' มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหลายอย่าง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อวัยทำงานจำนวนมาก
KEY
POINTS
- ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ทรัมป์ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะสร้างงานให้ชาวอเมริกันมากขึ้น แต่พอเขาได้รับชัยชนะ กลับมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหลายประการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อวัยทำงานชาวอเมริกันมหาศาล
- สายงานที่เสี่ยงตกงานมากที่สุดในยุคของทรัมป์ 2.0 ได้แก่ สายงานภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ, เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐบาลกลาง, สายงานด้านพลังงานสีเขียว
- ยกตัวอย่างเช่น นายจ้างในอุตสาหกรรมน้ำมัน อาจต้องลดพนักงานจำนวนมาก หากประเทศอื่นๆ กำหนดภาษีตอบโต้สินค้าของสหรัฐฯ
หลังจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสหรัฐ 2024 ประเด็นเรื่องแรงงาน การสร้างอาชีพ และค่าแรงขั้นต่ำก็ถูกหลายฝ่ายหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยๆ เพราะก่อนหน้านี้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ทรัมป์ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะสร้างงานให้ชาวอเมริกันมากขึ้น และปกป้องตำแหน่งงานเดิมให้ยังคงอยู่ แต่พอเขาได้เป็น “ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ” กลับพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหลายประการ บางนโยบายอาจส่งผลกระทบให้วัยทำงานชาวอเมริกันตกงานจำนวนไม่น้อยเลย
สำหรับอุตสาหกรรมบางประเภท นโยบายของทรัมป์อาจสร้างงานได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น นโยบายเรื่องการเก็บภาษีที่สูงขึ้น อาจช่วยกระตุ้น “การจ้างงาน” ในภาคการผลิตของอเมริกาได้ หากธุรกิจต่างๆ ตัดสินใจว่าต้องการให้สินค้าของตนผลิตในประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนเพิ่มเติมในการนำเข้า
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานว่า ย้อนกลับไปสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในวาระแรก พบว่า อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ แต่ที่หนักว่านั้นก็คือเขาเผชิญกับช่วงที่มีการระบาดใหญ่ ภาคเศรษฐกิจสูญเสียตำแหน่งงานไปหลายล้านตำแหน่ง ส่งผลให้เมื่อเขาออกจากทำเนียบขาว ชาวอเมริกันกลับมีงานทำน้อยลงเมื่อเทียบกับตอนที่เขาเข้ามา
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน การดำรงตำแหน่งของทรัมป์ในวาระที่สองมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหลายอย่าง แม้ว่าอุตสาหกรรมบางแห่งอาจขยายตัวได้ แต่อุตสาหกรรมอื่นๆ อีกหลายแห่งอาจถูกบังคับให้ “เลิกจ้าง” พนักงานจำนวนมาก เนื่องมาจากนโยบายใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นซึ่งเขาได้ลงนามเป็นกฎหมาย และต่อไปนี้คือ 3 สายงานที่เสี่ยงตกงานมากที่สุดในยุคของทรัมป์ 2.0
สายงานภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ: วิศวกรเหมืองแร่, นักธรณีวิทยา, พนักงานแท่นเจาะ
แฮร์รี โฮลเซอร์ (Harry Holzer) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณะ แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์และนักวิจัยอาวุโสวิเคราะห์ประเด็นนี้ว่า ธุรกิจใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่น อาจถูกบังคับให้เลิกจ้างพนักงาน หากทรัมป์ยังคงดำเนินการตามคำขู่เรื่องภาษีศุลกากรที่เขาได้ทำไว้
เนื่องจากประเทศที่ได้รับผลกระทบมีแนวโน้มที่จะกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่เทียบเท่ากัน เพื่อตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนของธุรกิจสหรัฐฯ สูงขึ้นตามไปอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันก็ลดความต้องการสินค้าของพวกเขาด้วย บริษัทสหรัฐฯ หลายแห่งเคยประสบปัญหานี้ในช่วงดำรงตำแหน่งวาระแรกของทรัมป์ โดยจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่เท่ากัน
จากข้อมูลการค้าของรัฐบาลกลางประจำปี 2566 ระบุว่า น้ำมันเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ นายจ้างในอุตสาหกรรมดังกล่าวอาจต้องลดพนักงานจำนวนมาก หากประเทศอื่นๆ กำหนดภาษีตอบโต้สินค้าของสหรัฐฯ นั่นหมายความว่า วัยทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสกัดน้ำมันและก๊าซ รวมไปถึงวิศวกรเหมืองแร่ นักธรณีวิทยา และพนักงานแท่นขุดเจาะน้ำมัน อาจมีความเสี่ยงตกงานค่อนข้างสูง (ยกเว้นว่าทรัมป์ให้ความสำคัญกับการขุดเจาะน้ำมันในประเทศมากขึ้นตามที่เขาหาเสียงไว้ สายงานเหล่านี้ก็อาจมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทันทีในระยะสั้น)
“พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสารเคมี รถยนต์ ชิ้นส่วนการขนส่ง และเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็อาจมีความเสี่ยงตกงานเช่นกัน เนื่องจากสินค้าเหล่านี้จัดเป็นสินค้าส่งออกหลักๆ ของสหรัฐฯ ด้วย” ศาสตราจารย์โฮลเซอร์ ซึ่งเคยเป็นอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกระทรวงแรงงานกล่าวเพิ่มเติม
เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐบาลกลาง: กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ
อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และ วิเวก รามาสวามี (Vivek Ramaswamy) เป็นแกนนำมุ่งหน้าลดการใช้จ่ายภาครัฐผ่าน “กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE)” ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ในยุครัฐบาลทรัมป์ 2.0 ซึ่งพวกเขาได้ออกมาแสดงการสนับสนุนให้ “ไล่พนักงานรัฐบาลกลางออก”
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มัสก์ได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X ซ้ำสองครั้ง ซึ่งเปิดเผยรายชื่อและตำแหน่งของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ไม่ชัดเจน 4 ตำแหน่งในรัฐบาล ซึ่งเขาเชื่อว่าตำแหน่งเหล่านั้นควรจะถูกลบออก และก่อนหน้านี้มัสก์และรามาสวามี เคยกล่าวในบทบรรณาธิการของวอลล์สตรีทเจอร์นัลว่า “กฎระเบียบหรือแผนกงานของรัฐบาลกลางบางส่วนควรถูกยกเลิก ซึ่งก็ต้องเลิกจ้างพนักงานรัฐบาลกลางจำนวนหนึ่งตามไปด้วย เพื่อให้สมดุลกัน”
ในมุมมองของศาสตราจารย์โฮลเซอร์ มองว่าพนักงานในกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงศึกษาธิการ (ซึ่งทรัมป์สนับสนุนให้ยุบออกไปทั้งหมด) คือกลุ่มพนักงานที่สุ่มเสี่ยงจะตกงานมากกว่ามาก เมื่อเทียบกับพนักงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านการป้องกันประเทศ
สายงานด้านพลังงานสีเขียว: พนักงานโรงงาน EV, พนักงานโรงงานแบตลิเธียม
ศาสตราจารย์โฮลเซอร์ให้ความเห็นอีกว่า ทรัมป์เป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เขาจึงมีแนวโน้มที่จะพยายามล้มล้างโครงการพลังงานสีเขียวบางส่วนที่รัฐบาลไบเดนริเริ่มขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการลดแรงจูงใจทางภาษีและเงินช่วยเหลือสำหรับธุรกิจที่ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
“ทั้งสองอุตสาหกรรมต่างก็พึ่งพาการลงทุนของรัฐบาลกลาง ที่ฝ่ายบริหารของไบเดนผลักดันจนประสบความสำเร็จ หากไม่มีการลงทุนเหล่านี้ พนักงานในโรงงานของทั้งสองธุรกิจ คงถูกเลิกจ้างในไม่ช้า” เขากล่าว
ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนที่แล้วกระทรวงพลังงานได้ประกาศการให้คำมั่นสัญญาเงินกู้ มีเงื่อนไขมูลค่า 6.6 พันล้านดอลลาร์ให้แก่ Rivian ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นคู่แข่งใหม่ของ Tesla ของมัสก์
รามาสวามี บอกว่า เงินกู้และเงินกู้อื่นๆ ในลักษณะเดียวกันถือเป็น “รายการสำคัญ” ที่เขาจะพยายามเรียกคืนเมื่อ DOGE เริ่มดำเนินการในปีหน้า (ในปี 2010 Tesla เคยได้รับเงินกู้จาก DOE หรือ กระทรวงพลังงานสหรัฐ จำนวน 465 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทำให้บริษัทได้รับเงินทุนที่จำเป็นอย่างยิ่งก่อนการขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก)
ท้ายที่สุดศาสตราจารย์โฮลเซอร์มองบทสรุปในภาพรวมว่า หากทรัมป์อนุมัติการเนรเทศจำนวนมาก อาจทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานอย่างมากในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การก่อสร้าง เกษตรกรรม และการบริการ ซึ่งต้องพึ่งพาแรงงานอพยพที่ไม่มีเอกสารเป็นอย่างมาก
ขณะที่ จาโคโม ซานตานเจโล (Giacomo Santangelo) นักเศรษฐศาสตร์จาก Monster สะท้อนมุมมองในทิศทางเดียวกันว่า การสูญเสียประชากรหลายล้านคนในสหรัฐอเมริกา อาจส่งผลให้ธุรกิจทั่วประเทศมีรายได้ลดลงอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจจำนวนมากต้อง “เลิกจ้างพนักงาน” นอกจากนี้ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอาจทรุดตัวลง โดยมีการคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอาจร่วงลงอย่างหนักหากเกิดการเนรเทศจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกด้วย