เอกชนท่องเที่ยวชงรัฐดัน 'พัทยา มูฟออน' ลุ้นคิกออฟ ส.ค.นี้ ตามรอยภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์
เอกชนท่องเที่ยวพัทยาชงรัฐพิจารณาโครงการ “พัทยา มูฟออน” เป็นอีกโครงการนำร่องต่อจาก “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” กางโมเดล Sealed Route ของพื้นที่เปิดรับทัวริสต์ต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วแบบกักตัว 3 วัน จากนั้นเที่ยวในเส้นทางที่กำหนดเท่านั้น ขอคิกออฟส.ค.นี้
ชี้ถ้าสำเร็จคาดปลายปีนี้ท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้น แต่ถ้าช้าต้องรอยาวถึงปลายปี 65
นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี และสมาชิกสภาเมืองพัทยา กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าภาคเอกชนท่องเที่ยวของเมืองพัทยา จ.ชลบุรี จะเข้าพบนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หลังจากนำเสนอต่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถึงแผนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวของพัทยา ภายใต้โครงการ “พัทยา มูฟออน” (Pattaya Move On) เพื่อขอให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการนำร่อง (Pilot Project) ต่อจากโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์
สำหรับโครงการพัทยา มูฟออน เป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบพื้นที่ปิด (Sealed Route) สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ในรูปแบบกักตัวอยู่ในพื้นที่ของโรงแรม 3 วัน จากนั้นให้เดินทางท่องเที่ยวเส้นทางที่กำหนดเท่านั้นใน 2 อำเภอ คือ อ.บางละมุง และ อ.สัตหีบ โดยขอเริ่มเดือน ส.ค.นี้ เมื่อครบ 14 วันถึงจะให้ออกไปเที่ยวพื้นที่อื่นได้ โดยโครงการนี้จะสำเร็จได้ เบื้องต้นจะต้องได้รับการจัดสรรวัคซีนสำหรับคนในพื้นที่ 2 อำเภอนี้ 450,000 คน หรือ 900,000 โดส จากปัจจุบันได้รับจัดสรรวัคซีนไม่เกิน 50,000 โดส
“เดิมพัทยาอยู่ในแผนรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบแล้วแบบไม่ต้องกักตัวในเดือน ต.ค.นี้ แต่ที่ต้องเสนอโครงการนี้ให้เริ่มต้นในเดือน ส.ค.ก่อน เพื่อเป็นโมเดลของพื้นที่เปิด เนื่องจากพัทยาไม่ใช่เกาะเหมือนภูเก็ต อาจทำให้คนรู้สึกกังวลเรื่องการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อทำแล้วจะได้เห็นว่ามีประเด็นใดบกพร่องจะได้แก้ไขทันก่อนเริ่มรับนักท่องเที่ยวแบบไม่ต้องกักตัว”
โดยในช่วงแรกคงมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไม่มากนัก คาดว่าระหว่างเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้จะอยู่ที่เดือนละ 10,000-20,000 คน ส่วนความหวังอยู่ที่เดือน ต.ค.เป็นต้นไปซึ่งเป็นช่วงชาวยุโรปหนีหนาวและจะเข้ามาเที่ยวไทย แต่ถ้าช้าไปอีกจะต้องรอนานถึงไตรมาส 4 ปี 2565
สำหรับเป้าหมายนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ส่วนตลาดระยะไกล เช่น เยอรมนี รัสเซีย สหราชอาณาจักร สแกนดิเนเวีย สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน อาร์เมเนีย มอลโดวา อาเซอร์ไบจาน คีร์กิซ อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และยูเครน
นายชัยรัตน์ รัตโนภาส นายกสมาคมสปาและเวลเนสภาคตะวันออก กล่าวเสริมว่า ในปี 2562 จ.ชลบุรีมีนักท่องเที่ยว 18.6 ล้านคนรวมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สร้างรายได้ 276,328 ล้านบาท แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 เหลือนักท่องเที่ยวรวมเพียง 6.97 ล้านคน สร้างรายได้ 66,499 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคนไทย ซึ่งไม่สามารถทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในฐานะที่พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับนาชาติ โดยในปี 2564 พบว่าดัชนีผลผลิตภาคบริการ ติดลบ 94.2% จากปี 2563 ที่ติดลบ 64.3% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ จ.ชลบุรี เป็นศูนย์กลางของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หากปล่อยให้จมกับปัญหาจะยิ่งฟื้นฟูยาก
นายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก กล่าวว่า จากจำนวนโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในพัทยากว่า 1,000 แห่ง ปัจจุบันเปิดให้บริการเพียง 20% หรือประมาณ 100 กว่าแห่ง ไม่มีลูกค้า ไม่ว่าปิดหรือเปิดก็มีค่าใช้จ่าย จึงเปิดเพื่อให้พนักงานได้มีงานทำ
นางสาวฐิติภัสร์ ศิรณัฐศรีกุล นายกสมาคมแหล่งท่องเที่ยวชลบุรี กล่าวว่า แหล่งท่องเที่ยวทั้งหมด 53 แห่งใน จ.ชลบุรี ปัจจุบันเปิดให้บริการ 12-15 แห่ง พนักงานส่วนใหญ่ไปทำอาชีพอื่นกันแล้ว ไม่ว่าจะไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมหรือขายของตลาดนัด ในวันที่พัทยามีการฟื้นฟูแล้วจะมีความลำบากเรื่องพนักงานต่ออีก โดยแหล่งท่องเที่ยวที่พร้อมให้บริการแบบ Sealed Route มีสวนนงนุช สวนน้ำรามายณะ สวนน้ำการ์ตูนเน็ตเวิร์ค อเมซอน ปราสาทสัจธรรม และทิฟฟานีโชว์ เป็นต้น