ต้องมี'ภูมิคุ้มกันหมู่'แค่ไหน ถึงจะสู้'ไวรัสโควิด' ได้ : 'ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยา'ไขข้อข้องใจ

ต้องมี'ภูมิคุ้มกันหมู่'แค่ไหน ถึงจะสู้'ไวรัสโควิด' ได้ : 'ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยา'ไขข้อข้องใจ

กลางเดือนมิถุนายน 64 คนไทยยังฉีดวัคซีนไม่ถึง 2% ของประชากรทั้งประเทศ โอกาสที่จะเกิด"ภูมิคุ้มกันหมู่"ภายในสิ้นปีนี้คงยากยิ่ง แล้วเราจะไปต่ออย่างไร "ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยา" มีคำตอบ

ตามหลักการแล้ว เมื่อใดก็ตามที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้มากกว่า 60-75% จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และเมื่อถึงตอนนั้น จะทำให้การแพร่ระบาดของไวรัสน้อยลง

ล่าสุด เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2564 คนไทยยังฉีดวัคซีนไม่ถึง 2% ของประชากรทั้งประเทศ แทบจะเรียกว่า ไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่เลย

 “ถ้ายังมีใครคิดว่าจะไม่ฉีดวัคซีน ก็จะทำให้โอกาสที่จะมีภูมิคุ้มกันหมู่ยากขึ้น เราจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นๆ ล่วงหน้า ก่อนเจอเชื้อโรคตัวจริง การสร้างภูมิคุ้มกันสามารถทำได้ โดยเอาเชื้อที่ไม่ก่อโรคมาฉีดให้เรา เรารับเชื้อแต่ไม่เป็นโรค ร่างกายเราก็จะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น” 

ศ.ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยา และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวการแพทย์ (หน่วยงานภายใต้​ความร่วมมือระหว่างไบโอเทค และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) เล่าในวันเทคนิคการแพทย์ไทย ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ในประเด็น “เปิดความนัยภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด”

162373191448

คนไทยไม่ได้กลัววัคซีน แต่ไม่มีวัคซีนให้ฉีด 

"ภูมิคุ้มกัน"ทำงานอย่างไร

"ระบบภูมิคุ้มกัน" เป็นระบบของร่างกายที่คอยมองหาเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อมีเชื้อโรคเข้ามา จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงาน ระบบภูมิคุ้มกันจะมีคุณสมบัติพิเศษคือ เมื่อถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้น จะสามารถจับได้อย่างจำเพาะกับเชื้อโรคที่กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน

แต่ภูมิคุ้มกันไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด ต้องใช้เวลาสร้างประมาณ 2 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นสามารถยับยั้งเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่เซลล์เป้าหมายและทำลายเชื้อโรคได้

อาจารย์วัชระ บอกว่า วัคซีนโควิดที่นักวิทยาศาสตร์พัฒนาขึ้น อาศัยแนวคิดที่ว่านำไวรัสโควิดที่ไม่ก่อโรค หรือส่วนของไวรัสโควิดมาฉีดเข้าร่างกาย กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นล่วงหน้า ให้ภูมิคุ้มกันมาดักทำลายเชื้อโรคเมื่อได้รับเชื้อโควิดในเวลาต่อมา

"ไวรัสโควิดเป็นไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา บางทีเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ตายไป บางทีเปลี่ยนแปลงแล้วน่ากลัวกว่าเดิม กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ดุร้ายยิ่งขึ้น

ตอนนี้ไวรัสโควิดมีการกลายพันธุ์ไปมากแล้ว จนไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิมแทบหาไม่เจอแล้ว แต่วัคซีนที่เราใช้อยู่ ออกแบบและพัฒนามาโดยอาศัยไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นเป็นต้นแบบ

ภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นด้วยวัคซีน จะสู้กับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ได้ไหม อันนี้น่าคิด แต่ไม่ต้องตกใจ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าอย่างมาก ผมว่าเราสู้โควิดได้ นักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาวัคซีนรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์ใหม่”

นอกจากนี้ อาจารย์วัชระยังเล่าถึงการดีไซน์วัคซีนโควิดของจีนว่า พวกเขาเอาไวรัสโควิดมาเลี้ยงเยอะๆ แล้วฆ่ามันให้ตาย จากนั้นนำมาฉีดเป็นวัคซีนให้คน

 “เป็นวัคซีนเชื้อตายไม่ก่อให้เกิดโรค การเอาไวรัสมาฆ่าแล้วฉีดเข้าไปในร่างกาย กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ แต่ต้องกระตุ้นหลายครั้ง และอาจกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันไม่ครบทุกส่วน อาจขาดการกระตุ้นทีเซลล์นักฆ่า จริงๆ เทคโนโลยีแบบนี้มีใช้มานานแล้ว วัคซีนแบบนี้คือ วัคซีน ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม”

การดีไซน์วัคซีน

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ประเทศตะวันตก พัฒนาวัคซีนอีกรูปแบบหนึ่ง โดยการนำ Adenovirus (ไวรัสชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ไวรัสโควิด) มาปรับแต่งพันธุกรรม ไม่ทำให้เกิดโรค แต่จะไปบอกเซลล์ในร่างกายให้สร้างโปรตีนหนามหรือโปรตีน Spike ของไวรัสโควิด

วัคซีนแบบนี้กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันทุกรูปแบบที่ร่างกายมี เป็นเทคนิคที่ใช้ในวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า สปุตนิค วี และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

 

ส่วนการดีไซน์วัคซีนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การสร้างพันธุกรรม mRNA ที่กำหนดการสร้างโปรตีนหนามของไวรัสโควิด แล้วฉีดเข้าไปเลย เทคโนโลยีวัคซีน mRNA นี้ใช้ในวัคซีน ไฟเซอร์ และโมเดอร์น่า

“ผมมั่นใจว่าการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน สามารถป้องกันไวรัสโควิดได้ แต่วัคซีนจากเชื้อตายจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีนัก ฉีดครั้งเดียวไม่ได้ ใครที่ฉีดซิโนแวคจะต้องฉีดครั้งต่อไป

ส่วนเทคโนโลยีวัคซีน mRNA เพิ่งมีการนำมาใช้ครั้งแรกในโลก ถ้าถามว่าจะมีผลข้างเคียงระยะยาวไหม ขอตอบว่ายังไม่รู้ แต่ก่อนที่พวกเขาจะดีไซน์เป็นวัคซีนและนำมาใช้ คงได้กางทฤษฎีและพิจารณาอย่างดีแล้ว ไม่น่าจะเป็นอะไร แต่นี่เป็นทฤษฎี เหตุการณ์จริงไม่มีใครรู้” อาจารย์วัชระ กล่าว

  162373254378

ไม่อยากป่วยเป็นโควิด ต้องฉีดวัคซีน แต่ไม่มีวัคซีนให้ฉีด

เรื่องสำคัญคือ ภูมิคุ้มกันหมู่

ถ้าจะไม่ให้ไวรัสแพร่เชื้อต่อไป คนในประเทศต้องมีภูมิคุ้มกันหมู่ ประมาณ 60-75% ของประชากรทั้งหมดซึ่งต้องได้รับวัคซีน อาจารย์วัชระ ยกตัวอย่างว่า ถ้าคน 80% ไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่คน 20% มีภูมิคุ้มกัน เชื้อก็จะระบาดในกลุ่ม 80% อย่างนี้ไม่สามารถจะหยุดโรคระบาดได้

 “แม้จะมีคนที่มีภูมิคุ้มกัน 50% ของประชากร ก็ยังไม่สามารถป้องกันการระบาดของโรคได้ แบบนี้เรียกว่าไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่

ถ้าเมื่อใดก็ตามประชากรมีภูมิคุ้มกันจำนวนมากๆ ไวรัสก็จะไม่มีที่ไป แม้จะมีคนไม่มีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง จำนวนน้อยๆ ไวรัสก็จะไม่สามารถแพร่กระจายต่อเนื่องจากคนต่อคนได้

 ผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีวัคซีนที่ป้องกันไวรัสโควิดได้ พวกเราต้องฉีดวัคซีน ถ้ายังมีใครคิดว่าจะไม่ฉีดวัคซีน โอกาสจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก็ยากขึ้น”

 

ตรวจภูมิคุ้มกันโควิดอย่างไร

มีคำถามที่พบบ่อย ฉีดวัคซีนโควิดแล้วมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นไหม จะตรวจอย่างไร

อาจารย์วัชระ เน้นว่า ปัจจุบันชุดตรวจภูมิคุ้มกันโควิดมี 2 แบบ คือ ชุดตรวจภูมิคุ้มกันเพื่อการวินิจฉัยโรค เป็นชุดตรวจที่ใช้ตรวจสอบว่าคนนั้นๆ เคยติดเชื้อโควิดหรือไม่ ชุดตรวจนี้ไม่เหมาะที่จะนำมาตรวจภูมิคุ้มกันจากการฉีดว้คซีน

และชุดตรวจอีกชนิดหนึ่งคือ ชุดตรวจที่ออกแบบมา เพื่อตรวจภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ ชุดตรวจแบบนี้จึงสามารถนำมาใช้ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด เพื่อประเมินผลของวัคซีนได้

มีคำถามอีกว่า ทำไมฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แล้วตรวจภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น แต่บางคนฉีดซิโนแวคตรวจภูมิคุ้มกันขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยา  บอกว่า ในทางทฤษฎีแล้วหลังฉีดวัคซีน ภูมิคุ้มกันจะสร้างขึ้นในสองสัปดาห์ แต่บางคนอาจนานกว่านั้น เป็นเดือนก็มีเหมือนกัน ปัญหาที่ตรวจภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเลือกชุดตรวจผิด

“ต้องเลือกชุดตรวจให้ถูกต้อง หากใช้ชุดตรวจสำหรับเช็คภูมิคุ้มกันต่อโปรตีน N (Nucleocapsid protein) ถ้านำมาตรวจคนที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ก็จะไม่เจอ(ผลลบ) เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนาม (โปรตีน Spike)

แต่ชุดตรวจนี้คนที่ฉีดซิโนแวค อาจจะให้ผลบวก เพราะมีภูมิคุ้มกันต่อโปรตีน N แต่ถ้าใช้ชุดตรวจภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนาม ก็จะให้ผลบวกทั้งสองวัคซีน”

ดังนั้น การตรวจภูมิคุ้มกันโควิด จึงต้องเลือกชุดตรวจที่เหมาะสม