เลือกใช้ ‘Bioplastic’ แท้อย่างไร? ช่วยรักษ์โลก
การใช้ชีวิตยุคโควิด 19 ส่งผลให้ 'ขยะพลาสติก'เพิ่มจำนวนมหาศาล หรือเรียกได้ว่า 'ขยะล้นเมือง ซึ่ง'พลาสติกชีวภาพ'หรือ 'Bioplastic' เป็นอีกทางเลือกหนึ่งจะช่วยให้ทุกคนใช้พลาสติกแต่สามารถช่วยรักษ์โลก และดูแลสิ่งแวดล้อมได้
ศูนย์ข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาสติก ได้วิเคราะห์แนวโน้มของอุตสาหกรรมพลาสติกไทยปี 2564 โดยคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีมูลค่าของอุตสาหกรรมพลาสติกประมาณ 1.043 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.1% มีมูลค่าตลาดประมาณ 1.01 ล้านล้านบาท โดยไทยจะมีการส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมดประมาณ2.67 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 2.7% ที่มีการส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมดประมาณ 2.53 แสนล้านบาท
ขณะที่ 'เม็ดพลาสติกชีวภาพ'ที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดคือ เม็ดพลาสติกชนิดพอลิแลคติคแอซิด(PLA) โดยคาดว่า ปี 2564 มูลค่าการส่งออกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 16.6% สร้างรายได้กว่า 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกมูลค่า 2,331 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก
ปัจจุบัน 'พลาสติกชีวภาพ' หรือ'Bioplastic'มีอยู่มากมายเต็มท้องตลาด แต่'Bioplastic'ส่วนหนึ่งก็ไม่ใช่'Bioplastic'แท้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และส่งเสริมให้มีการใช้'Bioplastic'มากขึ้นเพราะผลิตภัณฑ์หรือสินค้า'Bioplastic'แท้ และ'Bioplastic'เทียมแม้ภายนอกจะเป็นพลาสติกเหมือนกัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการย่อยสลายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) อธิบายเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ'Bioplastic' ว่า สมาคม TBIA มีวิสัยทัศน์ในการผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพและการนำผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมาใช้ในเชิงพาณิชย์ในระดับภูมิภาค โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแนวทางการบริหารจัดการของเสีย และผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการสนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพ และการผลักดันไทยให้เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เป็นหนึ่งในกิจกรรมของสมาคมเพราะเราต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้ง'Bioplastic'ยังช่วยในเรื่องของ 'เศรษฐกิจหมุนเวียน' และการลดโลกร้อน
- Bioแท้ vs Bioปลอม ต้องเลือก‘Bioplasics’แบบนี้
สมาชิกของสมาคม TBIA ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่ง'Bioplastic'ผลิตได้จากพืช และน้ำมันปิโตรเลียม 'Bioplastic'มีทั้งแบบย่อยสลายได้และย่อยสลายไม่ได้ โดยกลุ่ม'Bioplastic'ที่สามารถย่อยสลายได้ คือ พลาสติก PLA PHA PBS PBAT และPCL ส่วนกลุ่มพลาสติกชีวภาพที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ คือ กลุ่ม Bio-PE และ Bio-PET
ตอนนี้มีหลายบริษัทได้เลือก‘Bioplasics’มาใช้งาน อย่าง มีการนำ PLA ซึ่งมีความแข็งแต่เปราะนำมาใช้เป็นแก้วกาแฟ ส่วน PBS มีความนุ่มใช้เคลือบกระดาษ ส่วน PLA กับ PBS และพลาสติกชนิดอื่นๆ มาผสมกันจะเป็นBiocompound ซึ่งใช้ทำช้อนส้อม จาน อาทิ แก้วกาแฟเย็น แก้วกาแฟร้อนของร้านอินทนิล คอฟฟี่ แก้วกาแฟร้านอะเมซอน การนำมาทำหลอด หรือจานพลาสติกในร้านฟาสต์ฟู้ดต่างๆ
สินค้าและผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในประเทศไทยนั้น ส่วนหนึ่งจะเป็น'Bioplastic'เทียม เนื่องจากผู้ผลิตส่วนหนึ่งใช้plasics ธรรมดาแต่มีการผสมสารออกโซ่ OXO degradable ด้วย เนื่องด้วย‘Bioplasics’มีราคาแพง ซึ่งมีราคาสูงประมาณ 2-3 เท่า หรือมากกว่า พลาสติกผสมสารออกโซ่ OXO degradable ทำให้ผู้ผลิตที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงได้ และแข่งขันทางธุรกิจไม่ได้ จึงใช้วิธีการผสม และดัดแปลงคำให้เสมือนเป็น'Bioplastic'ที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก
นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า Compostable หรือพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ นั้น เมื่อไปเจอปัจจัยในการย่อยสลายไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย อุณหภูมิ ความชื่น เมื่อแตกสลายเป็นโมเลกุลต่างๆ จะย่อยไปเป็นจุลินทรีย์นำไปใช้ต้นไม้ได้ และบางส่วนกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซต์ได้อีกด้วย ซึ่งใช้ระยะเวลาย่อยสลายได้ภายใน6 เดือน หรือมากกว่านั้น แต่ถ้าเป็น OXO degradable เป็นการนำพลาสติกทั่วไปมาผสม เมื่อเจอแสงแดด อุณหภูมิแตกสลายเป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้ปนเปื้อนไปกับแหล่งน้ำ ดิน ดังนั้น'Bioplastic'สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้จริงและมีมาตรฐานรองรับ
“Bioแท้ และBioปลอม มีความแตกต่างกัน คือ Bioแท้จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายตัวได้ทางชีวภาพ ผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมี ลดปัญหาไมโครพลาสติกตกค้างในธรรมชาติ สร้างรายได้ให้เกษตรกร เพราะผลิตจากพืชผลทางการเกษตร หรือน้ำตาลเป็นหลัก แต่ข้อเสีย คือราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไป ขณะที่ Bio ปลอมนั้น เปราะ บาง แตกสลายง่าย นำมารีไซเคิลไม่ได้ เกิดไมโครพลาสติกปกเปื้อน กำจัดยากเมื่อแตกสลาย และไม่สามารถย่อยสลายเองได้แต่มีข้อดีคือราคาถูก ดังนั้น ตอนนี้คนกำลังเลือกพลาสติกราคาถูก แต่กำลังสร้างภาระให้แก่สิ่งแวดล้อม”นายวิบูลย์กล่าว
- ตรวจสอบฉลากช่วยกันใช้'Bioplastic'ลดภาระสิ่งแวดล้อม
นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์'Bioplastic'แท้นั้น สามารถดูได้ด้วยจากฉลากยืนยันวัตถุดิบ: Compostable และมีมาตรฐานรับรอง โดยปัจจุบันมาตรฐาน Compostabal มี ASTM D6400 EN 13432 ISO 17088 มอก 17088 และGC Compostable เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์จาก'Bioplastic'สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช่ได้จริง อย่าง จุฬาฯ ก็มีการทำ ZERO-WASTECUP แก้วที่ย่อยสลายได้ 100% ที่ตอนนี้ใช้ในโรงอาหาร 17 แห่งของมหาวิทยาลัย เมื่อทุกคนแยกขยะทิ้งแก้วมีการนำแก้วร่วมกับเศษอาหารและใบไม้ นำมาใช้กับต้นไม้ในมหาวิทยาลัยต่อไป หรือมีการนำมาทำเป็นถ้วยกระดาษเคลือบ'Bioplastic'ใช้ได้ถึง 8 ชั่วโมง
อีกทั้ง'Bioplastic'สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ เช่น ไหมละลาย PLA และนวัตกรรมกระดูกเทียม เมื่อกระดูกแท้ประสานกระดูกเทียมเหล่านี้ก็จะย่อยสลายไป
“จริงๆ'Bioplastic'อยู่รอบตัว ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว มีการใช้อยู่ สินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ต้องยอมรับว่าตอนนี้มีการใช้'Bioplastic'น้อยเพียง 1% เมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไปที่ใช้กันอยู่ ประมาณ 2,000 ล้านตัน เพราะด้วยต้นทุนในการผลิตสูง
ฉะนั้น หากจะทำให้ประเทศไทยมีการ ใช้'Bioplastic'อย่างจริงจัง ภาครัฐต้องมีนโยบายส่งเสริมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ผลิต อย่างพระราชกฤษฎีกาให้สิทธิประโยชน์ภาษีให้กับบริษัทที่ซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายทางเคมีชีวภาพที่ได้รับการรับรองจากอุตสาหกรรม สามารถนำรายจ่ายไปหักค่าลดหย่อนภาษีได้ 125% ซึ่งระเบียบดังกล่าวกำลังจะหมดในสิ้นปีนี้ อยากให้มีการขยายระเบียบนี้ต่อไป 3-5 ปี เพราะขณะนี้ผู้ผลิตและผู้ใช้กำลังสนใจเรื่องนี้อย่างมาก” นายวิบูลย์ กล่าว
ไทยมีข้อจำกัด คือ เรื่องราคาสูง เพราะต่อให้มาตรการทางภาษีช่วยได้ 125% ถึงแม้จะไม่มากถ้าเทียบกับราคา'Bioplastic'ที่เพิ่มขึ้น แต่ตัว OXO ที่อยู่ในตลาด ทำให้ผู้ใช้มองว่าย่อยสลายได้เหมือนกันภาครัฐควรมีมาตรการจัดการBioเทียมให้ถูกห้ามทางกฎหมายจริงๆ ไม่ใช้กำหนดมาตรฐานอย่างเดียว แต่ต้องห้ามจำหน่าย OXO เพราะตราบใดที่มีOXO ทำให้การใช้พลาสติกชีวภาพไบโอแท้ๆ เป็นเรื่องยาก ขณะเดียวกันควรจะกำหนดลดหย่อยภาษีให้ได้300% ถ้าทำได้เชื่อว่า'Bioplastic'จะราคาถูกลงมากและมีผู้ใช้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่ไปเดินตามห้างสรรพสินค้า หรือตามตลาดต่างๆ แล้วอยากสนับสนุนผลิตภัณฑ์'Bioplastic'สามารถสังเกตตัวโลโก้ ที่เป็นมาตรฐานสากลหรือ GC Compotable อยากให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษ์โลก แก้ปัญหา 'ขยะล้นเมือง'