‘รีวิว’ ประวัติ ‘ผ้าทอ’ กรุแตก เผ่าทอง ทองเจือ ผ้าโบราณผืนงามราคาหลักพัน
“รีวิว” กรุแตกกลุ่ม “ผ้าทอ” เผ่าทอง ทองเจือ ไลฟ์ขายสมบัติสู้ “โควิด” ตัดใจขายจริง สมบัติผลัดกันชม ขอให้ซื้อจริง โละให้หมดบ้าน ชมตัวอย่าง “ผ้าทอ” ของแท้โบราณราคาหลักพัน เช่น หมี่โฮลโบราณ ผ้าซำเหนือจากลาว ผ้ามงคลตุนลยาพม่า ไลฟ์ไปให้ความรู้ไป
สร้างความฮือฮาและน่าติดตามชมอย่างมากเมื่อ เผ่าทอง ทองเจือ หรือที่ใครหลายคนให้ความเคารพรักและยกย่องว่า “อาจารย์เผ่าทอง” ประกาศโฆษณาขอไลฟ์สดขายสมบัติชนิด “โละให้หมดบ้าน ขายจริง ขอให้ซื้อจริง” ร้อนแรงในระดับใช้คำว่า เผ่าทองกรุแตกแล้วจ้า อันเนื่องจาก “โควิด” ระลอกสามที่ฟาดมาแบบไม่ให้ใครตั้งตัว โรงงานเสื้อผ้าเผ่าทองมีรายรับเป็นศูนย์
ทำให้ อ.เผ่าทอง ตัดสินใจนำสมบัติที่มีอยู่ไลฟ์ขาย เพื่อนำรายได้ไปช่วยดูแลชีวิตพนักงานที่ทำงานและผูกพันกันมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งแต่ละคนก็มีครอบครัวต้องรับผิดชอบ
อ.เผ่าทอง ได้ชื่อว่าเป็นนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีทั้งทรัพย์สมบัติเก่าและนักสะสมศิลปะวัตถุผู้มีรสนิยม เพราะสะสมด้วยความรู้และข้อมูล
ดังนั้น ในการไลฟ์ขายสมบัติผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ เปิดตำนานกับเผ่าทอง ทองเจือ ครั้งแรกเมื่อ วันศุกร์ที่ 11 มิ.ย.2564 เวลา 18.00 น. และครั้งที่สองเมื่อ วันศุกร์ที่ 18 มิ.ย. เวลาเดียวกัน จึงมีผู้ให้ความสนใจติดตามชมทะลุกว่าห้าหมื่นบัญชี ทั้งกลุ่มที่อยากช่วยอาจารย์ กลุ่มที่อยากได้ของสวยงาม และกลุ่มที่แค่ได้ชมก็ถือเป็นบุญตา เพราะอาจารย์เปิดกรุนำสมบัติมาขายตั้งแต่เครื่องประดับ ถ้วยชามเบญจรงค์ เครื่องลายคราม ไม้แกะสลัก พระพุทธรูปสำหรับบูชา โดยเฉพาะกรุในกลุ่ม ผ้าทอ ที่แฟนคลับตั้งตารอชมและรอ 'เอฟ'
การไลฟ์ครั้งแรก อ.เผ่าทองประเดิมขาย “ผ้าทอ” ที่สะสมไว้ด้วย ผ้าซิ่นโฮลสุรินทร์ โบราณแท้สีหมากสุก ขนาดผ้านุ่งได้จริง พอทราบราคาขายที่ 1,000 บาท แฟนคลับก็เอฟทันที
‘โฮล’ เป็นคำในภาษาเขมร หมายถึงผ้าทุกชนิดที่ผลิตด้วยกรรมวิธี มัดหมี่ ซึ่งใช้วิธีการมัดและย้อมสีเส้นไหมเส้นพุ่งตามจังหวะของลายที่ได้คิดแบบไว้ แล้วนำเส้นพุ่งไปทอให้เกิดเป็นสีสันและลวดลายบนผืนผ้า (ที่มา : www.sacict.or.th)
ผ้าโฮลเป็นผ้าที่มีคุณภาพดีมาก เพราะการทอผ้าชนิดนี้ใช้เส้นไหมที่มีขนาดเล็ก เรียบ ละเอียดในการทอ จึงทำให้ได้ผ้าทอเนื้อแน่นเนียนเงางามบางเบา เวลาสวมใส่จะรู้สึกพลิ้วสบาย ลวดลายเป็นแบบฉบับของกลุ่มชาติพันธุ์คนไทยเชื้อสายเขมรแถบอีสานใต้ เช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ โดยเฉพาะในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากศิลปะของเขมร ผ้าโฮลจึงได้รับการยกย่องให้เป็น ราชินีผ้าไหมมัดหมี่ ของจังหวัดสุรินทร์
ขาดใจตายชิ้นต่อไปกับ ผ้าปูมลาว อายุ 30-40 ปี ยาวเฟื้อย 2-3 เมตร ตั้งราคาไว้ 1,200 บาท มีผู้เอฟไปในเวลารวดเร็ว
เว็บไซต์สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ปูม เป็น ‘ผ้าหน้านาง’ ที่ทอขึ้นสำหรับเจ้านายใช้นุ่ง มีลักษณะแบบโจงกระเบน ในสมัยโบราณนิยมใช้ในเขตอีสานใต้ ในประเทศลาวแถบแขวงเมืองจำปาสัก และเขมร นอกจากจังหวัดสุรินทร์ที่มีชื่อเสียงเรื่องการทอผ้าหน้านางหรือที่ชาวสุรินทร์เรียกกันว่าผ้าปูมเขมรแล้ว การทอ ‘ผ้าไหมมัดหมี่หน้านาง’ ก็ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของการทอผ้าแบบหนึ่งของเมืองขอนแก่นด้วย ซึ่งได้มีการทอเลียนแบบมาจากผ้าต้นแบบซึ่งเป็นผ้าของ ‘เจ้าเมืองชนบท’ (อำเภอชนบทปัจจุบัน) คนแรก
สมบัติชิ้นต่อมา ผ้าถุงมัดหมี่เขมร โบราณจริงๆ ทอแบบเหลือบสี ผ้าไหมพื้นสีดำ มัดหมี่สี่เหลือง ลายซิกแซกและลายเอี้ย พร้อมสอนเคล็ดลับทั้งวิธีดูลวดลายและการตรวจสภาพผ้านุ่งว่ามีรูตรงไหนบ้างหรือไม่โดยใช้ข้อศอกขึงขอบผ้าถุงแล้วก้มหน้ามองเข้าไป ถ้าผ้าถุงมีรูตรงไหนก็จะเห็นแสงสว่างลอดเข้ามาแล้วแต่ว่ารูเล็กรูใหญ่และมีกี่รู
สำหรับเคล็ดลับการดูลวดลายมัดหมี่ อ.เผ่าทองชี้ให้ดูที่ ลายเอี้ย ตรง "ตีนซิ่น" โดยอธิบายว่า
“ตีนซิ่นตรงนี้เรียนลายเอี้ย เป็นเส้นตรง การดูมัดหมี่ ถ้าคนทอเก่งมัดเก่งจะต้องดูตรงนี้ ถ้ามัดดีทอดี มันจะตรงเป็นเส้นตรง ผืนนี้เป็นผืนชั้นครู เพราะลายเอี้ยเป็นเส้นตรงเป๊ะ ถ้ามัดไม่เก่งทอไม่เก่งลายตรงนี้จะเป็นฟันปลายึกไปยึกมา จะขายของทั้งที ไม่หลอกขาย ต้องให้มีความรู้”
อ.เผ่าทองยังได้หยิบผ้าไหมมัดหมี่อีกผืนมาเป็นตัวอย่างและว่า “สำหรับลายเอี้ยของผืนนี้มีลักษณะซิกแซก ลายเอี้ยเวลาที่เราจะแปลความหมายก็คือมาจากลายที่เกิดจากควายตัวผู้เดินปัสสาวะไปบนพื้นทราย กิริยาเดินด้วยปัสสาวะด้วย น้ำปัสสาวะก็จะแกว่งลงมาเป็นสายซิกแซกบนพื้นทราย ก็เลยเรียกกันว่าลายเอี้ย ถ้ามัดไม่เก่งทอไม่ก่งลายเอี้ยก็จะเขย่งกัน แต่เราไม่ถือเป็นปัจจัยคิดราคาหรือไม่คิดราคา เพราะอันนี้เป็นผ้าโบราณ แต่ในปัจจุบันถ้าเราจะเลือกซื้อมัดหมี่เราต้องเลือกซื้อลายเอี้ยที่เป็นเส้นตรง”
ของรักชิ้นต่อไป อ.เผ่าทองทำให้แฟนคลับรู้จัก ซิ่นซำเหนือ ผ้าซิ่นไหมจากแขวงซำเหนือ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชิ้นนี้เป็น ‘ตัวซิ่น’ ตั้งราคาไว้ 1,000 บาท
ปกติผ้าซิ่นจะมี หัวซิ่น คือช่วงเอว ต่อลงมาคือตัวซิ่นลงไปถึงตีนซิ่น เทคนิคการทอสวยงามวิจิตรมหัศจรรย์ เพราะว่าตัวซิ่นเป็นการทอขิด (สลับแถวกับ)มัดหมี่ ลายที่เห็นยึกๆ ยักๆ ความหมายคือลายนาค ลำตัวนาค หัวนาคชูขึ้นมา หงอนนาค เป็นไหมแท้ทั้งผืน อายุ 30-40 ปี ไม่โกหก อะไรใหม่ก็บอกใหม่ ซื้อสมัยหนุ่มๆ”
มาถึงผ้าชิ้นแพงขึ้นมา เป็น ผ้าซิ่นซำเหนือ เช่นกัน แต่ลวดลายการทอมีความพิเศษลึกล้ำ อ.เผ่าทองใช้คำว่า “สุดใจขาดดิ้น” กับผ้าทอชิ้นนี้ เปิดราคาที่ 9,000 บาท
“สุดใจขาดดิ้น จกหมดทั้งแถบ คั้นด้วยขิด ความโบราณขอให้ดูเส้นขิดจะมีรอยสึกร่องหรอ ตรงนี้เป็นการมัดหมี่แต่ย้อมครามหรือย้อมฮ่อม ภาษาอังกฤษใช้คำว่า indigo เป็นการย้อมสีธรรมชาติ จกใหญ่มากมหัศจรรย์ ผ้าซิ่นลาวตีนแคบ ใช้แค่ผ้าฝ้ายต่อเป็นเอว เราไม่ค่อยใช้ผ้าไหม เพราะลื่น นุ่งๆ ไปหลุด เก้าพันบาทถามว่าแพงไหม ซื้อไปแล้วขายต่อ 15,000 บาทได้ทันที มีคนซื้อแน่นอน”
ผ้าอีกหนึ่งประเภทที่แฟนคลับรอคอย ผ้าลุนตยา โบราณของแท้ อ.เผ่าทองไลฟ์ว่าเมื่อตอนรื้อออกมาก็เสียดายผืนนี้ แต่เมื่อบอกแล้วว่าจะขายแล้วก็จะขายให้หมด พร้อมกับตรวจสภาพให้ชมสดๆ พบว่ามีความสมบูรณ์ สวยมาก สีสวย เฉพาะส่วน ‘หน้านาง’ มีการทอ สีซึมเล็กน้อย ซึ่งเป็นปกติของผ้าพม่า ผืนนี้ตั้งราคาขายที่ 20,000 บาท
“ลายคลื่นของผ้าลุนตยาผืนนี้เป็นผ้าที่มีความหมายดีมาก เป็นเรื่องเขาสัตตบริภัณฑ์ ผู้หญิงพม่าบวชไม่ได้ ก็จะนุ่งผ้าลุนตยาโบราณ ซึ่งเป็นเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อมรอบ เมื่อนุ่งเข้าไปปั๊บในลำตัว ก็แปลว่าตัวเขาคือเชิงเขา แล้วมุ่นมวยผมก็คือเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอินทร์เทพสูงสุดในพุทธศาสนา ผู้หญิงพม่าเกล้ามวย จัดไรผมให้หอมเป็นพุทธบูชา ไม่ใช่เพื่อความงาม เอาดอกไม้เสียบมวยผมก็เป็นเครื่องบูชาพระอินทร์ที่อยู่บนยอดมวยผม”
เว็บไซต์ มิวเซียมไทยแลนด์ ระบุว่า ชาวพม่าเรียกผ้าลุนตยาว่า ลุนตยา อะฉิก (Luntaya Acheik) ออกเสียงว่า "โลนตะหย่า" แปลว่า 100 กระสวย เนื่องจากเป็นผ้าทอเทคนิคพิเศษที่ต้องใช้กระสวยบรรจุเส้นไหมสีต่างๆ นับร้อยๆ กระสวย ส่วน "อะฉิก" หรือ "อาฉิก" แปลว่า ลายคลื่น เรียกตามลวดลายลูกคลื่นซ้อนกันเจ็ดชั้นที่ปรากฏบนผ้าทอ ลายลูกคลื่นนี้ไม่ใช่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้มีความงามพลิ้วไหวเท่านั้น แต่ยังซ่อนสัญลักษณ์คติจักรวาลทางพุทธศาสนา ซึ่งเวลาทอช่างต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งด้วยเทคนิคการล้วงแบบพิเศษ เพราะไม่ใช่ลายเรขาคณิตเหมือนผ้าทอประเภทอื่น
ลุนตยา อะฉิก เป็นผ้าซิ่นของชาวพม่าที่ใช้กันแพร่หลายในราชสำนักอังวะ มัณฑะเลย์ อมรปุระ ย่างกุ้ง และเมืองตองคยีแถบรัฐฉาน ถือเป็นผ้านุ่งแห่งราชวงศ์อลองพญาที่ใช้สืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี
จากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างล้านนากับพม่า ทำให้ราชสำนักล้านนาก็มีการนำเอาผ้าของพม่าใช้นุ่งเป็นเครื่องแต่งกายด้วย โดยเฉพาะเจ้านางหรือสตรีสูงศักดิ์ จะนุ่งผ้า "ลุนตยา อะฉิก" เพื่อแสดงถึงฐานะ บางผืนใช้เส้นไหมเงินหรือไหมคำ (ไหมทอง) ทอแทรกเข้าไปในเนื้อผ้า หรือปักด้วยดิ้นโลหะมีค่า นับเป็นผ้าที่ทอยากและใช้เวลาทอนาน ถือเป็นของดีและมีราคา
สตรีสูงศักดิ์ล้านนานำ ‘ผ้าลุนตยา อะฉิก’ มาเย็บเป็นผ้าถุงแล้วต่อหัวซิ่นสีดำ นุ่งแบบกรอมเท้า แต่สำหรับ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงโปรดนำ เชิงซิ่นตีนจก ซึ่งเป็น ‘ผ้าทออัตลักษณ์ล้านนา’ มาเย็บต่อด้านล่างของซิ่นลุนตยา
ในเชิงความสวยงาม ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าทออาจมองเป็นเรื่องปกติ แต่นักเขียนนักประวัติศาสตร์เจ้าของนามปากกา ‘เพ็ญ ภัคตะ’ เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ความว่า
“แม้ไม่มีหลักฐานบันทึกความในใจว่าเจ้าดารารัศมีต้องการสื่ออะไรบางอย่างถึงคนในราชสำนักสยามบ้างหรือไม่ก็ตาม แต่นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนารุ่นหลังๆ ตีความได้ว่า มูลเหตุแห่งการที่นำตีนจกมาต่อจากซิ่นลุนตยาของพม่านั้น มีวาระซ่อนเร้นทางเมืองระหว่างสยาม ล้านนา พม่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสมัยรัชกาลที่ 4-5-6 แฝงอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย”
หลังจากมีผู้ชมไลฟ์ 'เอฟ' ผ้าลุนตยาราคาหลักหมื่น อ.เผ่าทองก็นำเสนอผ้าชิ้นต่อไปโดยบอกว่า “ไม่แพงแต่เป็นของสวย” ผ้าซิ่นเวียงจันทน์ ตัวซิ่นมัดหมี่ ผืนนี้สวยมาก โดยเฉพาะตีนซิ่นเป็นดิ้นเงินดิ้นทองสวยสมบูรณ์มาก ทว่าตัวซิ่นมีรูโหว่ขนาดพอสมควร จึงขายตามสภาพ 3,500 บาท
ตามมาด้วย ผ้าซิ่นพระตะบอง ไม่มีเอวไม่มีตีนซิ่น ลายเอี้ยเส้นทอตรงเป๊ะ มีหน้านางคั่นนิดหนึ่ง สวยสุดใจ อ.เผ่าทองว่า “บอกราคาไปก็จะขาดใจตาย สีคลาสสิก สีธรรมชาติแท้ ผ้าไหมมัดหมี่ นุ่งได้จริง ขายตามสภาพ มีรูเล็กรูน้อยและขาดตรงรอยพับนิดหน่อย 1200 บาท”
ต่อด้วย ผ้าทออินโดนีเซีย ที่อาจารย์ไลฟ์ว่า “ผืนใหญ่ แต่อาจจะนุ่งไม่รอบตัว เพราะเป็นผ้าโชว์ ถ้าเราดูด้านหลังมีรอยเพลาะ เนื่องจากทอกี่เอว ทอที่เกาะสุมาตรา ที่ราบน้อย เป็นป่าเป็นเขา ทำกี่ตั้งแบบบ้านเราไม่ได้ จึงใช้กี่เอวที่ทอผ้าได้หน้าแคบแล้วนำมาเพลาะสอยต่อกัน จกทั้งผืน ไม่มีที่ว่าง เราซื้อซิ่นตีนจกวันนี้ก็เกินหมื่น ซิ่นจกทั้งตัวสามหมื่นถึงห้าหมื่น นี่จกทั้งผืนแค่หมื่นเดียวจริงๆ ผ้าฝ้ายกับไหม สีย้อมธรรมชาติทั้งผืน”
สำหรับการ ไลฟ์ขายสมบัติกรุแตกครั้งที่สอง อ.เผ่าทองขอลดความเหนื่อยด้วยการขาย ผ้าทอครั้งละ 3 ผืน ราคา 6,000 บาท ก็มีผู้รู้จักผ้าซื้อทุกครั้งอย่างรวดเร็ว อาทิ ผ้ามัดหมี่พระตะบองลายแน่นทั้งผืน, มัดหมี่อีสานเหนือ, หมี่โฮลสุรินทร์, มัดหมี่อีสานใต้ลายโคมเชิงสวย, หมี่โคมไส้สีชมพูย้อมครั่ง, มัดหมี่ย้อมสีเขียวจากเปลือกต้นสัก, มัดหมี่ลายนกกางเขนหางชี้ ดอกไม้ ผีเสื้อ นกยูง และไก่ในผืนเดียว, มัดหมี่ย้อมครามลายละเอียด, มัดหมี่ลายคลาสิก ตีนซิ่นย้อมมะเกลืออ่อน
สำหรับ การไลฟ์ครั้งที่สอง มีความรวดเร็วและสะดวกยิ่งกว่าเดิม อาจารย์เผ่าทองมีเทคโนโลยีมาช่วย โดยระบบจะดักจับ รหัสที่ถูกต้อง ของผู้ส่งข้อความเป็นคนแรกให้แอดมินเพจทราบทันที ไม่ต้องรอว่ามีคน ‘เอฟ’ หรือยัง และรอให้ถ่ายรูปหน้าจอส่งกลับไปยืนยันเหมือนการไลฟ์ครั้งแรก ทำให้การไลฟ์ดำเนินไปอย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น
ผู้ซึ่งไม่สามารถส่งข้อความซื้อได้เป็นคนแรก ต่างส่งข้อความแสดงความเสียดาย และตั้งใจส่งข้อความให้เร็วขึ้นในผ้าชิ้นต่อๆ ไป
ปรากฏการณ์การไลฟ์ขายสมบัติของ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการระบาดของโรค “โควิด-19” อาจารย์เล่าสาเหตุของความจำเป็นที่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ไว้ว่า
“ช่วงโควิดครั้งที่หนึ่ง เราทุกคนนึกว่าจะอยู่หนึ่งเดือนสองเดือนสามเดือนหกเดือน เดี๋ยวมันก็กลับคืนปกติ แต่มันก็อยู่กับเรายาวมาก จากนั้นเราเข้าสู่ช่วงโควิดช่วงที่สอง
เมื่อช่วงโควิดครั้งที่หนึ่ง ผมก็ยังดูแลลูกน้อง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังดูแลลูกน้องตามเดิม ในโรงเย็บเสื้อ ห้องเสื้อเผ่าทอง เราก็ยังเดินโรงงานอยู่ตลอดเวลา จนนาทีนี้โรงงานก็ยังไม่ได้ปิดไม่ได้หยุดเลย พนักงานก็ยังจ้างเต็มเหนี่ยว จ่ายเงินเดือนครบ ไม่ได้ลดเงินเดือน เพราะถือว่าเราเป็นบริษัทในครอบครัว อยู่กันมา 20-30 ปี ทำด้วยกันมาตลอดชีวิต ตอนเรารวยเขาก็รวยกับเรา โอทีสนั่นหวั่นไหว
พอช่วงนี้งานเงียบ ทุกอย่างสะดุดหมด เขาลำบาก เราก็ต้องลำบากไปกับเขาด้วย เงินเดือนทุกคนในบริษัทเผ่าทอง บริษัทแพนแอนด์ฟู้ดก็ยังคงเดิมทุกอย่าง แต่ว่ารายรับมันค่อยๆ หายไป และในที่สุดรายรับมันก็หายไปเลย ตื่นขึ้นมารายรับเป็นลบ วันนี้ไม่เปิดบิลเลย เสื้อผ้าขายไม่ออก เราก็ยังใช้เงินสำรองของบริษัทในครั้งที่หนึ่ง พอโควิดครั้งที่สองเราก็ยังใช้เงินสำรองของบริษัทมาดูแลพนักงานทุกคน เราก็เริ่มไหวตัวด้วยการเปิดเชฟเทเบิลที่บ้านตั้งแต่สิงหาปีที่แล้ว ใช้คำว่า กินข้าวบ้านเผ่าทอง
จู่ๆ มันก็มาระลอกที่สามแบบไม่ทันได้ตั้งตัว อันนี้หงายหลังตึง ก็ตั้งแต่เดือนเมษาเป็นต้นมาเราปิดร้านอาหารของเรา ซึ่งมีรายรับนิดเดียว ไม่สามารถที่จะมาคุ้มครองเงินเดือนพนักงานโรงงานต่างๆ ได้หมด แต่แทนที่เราจะต้องเบิกเต็มร้อย ที่จะต้องเอาเงินทุนดั้งเดิมมา มันก็ลดไปได้หน่อยหนึ่ง เราก็ยังพอมีเงินทุนดั้งเดิมสืบลมหายใจต่อไป แต่ตอนนี้ทุกอย่างนิ่งสนิทปิดตาย เราไม่มีรายรับ เราเป็นศูนย์มาโดยตลอด เราก็คิดว่ายังไงก็ตามของทั้งหมดที่เรามีอยู่ เราอาจจะโชคดีกว่าหลายๆ ท่าน เรายังพอเหลือโน่นนี่นั่น เราถือว่าทั้งหมดเป็นของรักของเรา แต่ก็ปล่อยไปให้ไปอยู่กับคนรักคนใหม่ ไปอยู่กับคนที่รักเหมือนเรา ก็เป็นที่มาของคำว่า สมบัติผลัดกันชม หรือ เผ่าทองกรุแตกแล้วจ้า เพราะฉะนั้นวันนี้เราก็คิดว่าปล่อยของไป อะไรที่ไปได้ก็แบ่งๆ กันไป”
นี่เป็นการรีวิวเพียงส่วนหนึ่งของ ผ้าทอ ที่อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ เก็บสะสมไว้ประมาณ 30,000 กว่าผืน แล้วนำออกมาเปิดกรุขาย 2 ครั้ง ผ้าที่นำออกมาขายทุกผืนมีผู้ซื้อในทันที แม้บางผืนมีร่องรอยชำรุดตามเวลา
แต่คนเข้าใจผ้าทอรู้ดี..หาราคานี้ไม่ได้ที่ไหนอีกแล้ว
* * * * * * *
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
'โอลิมปิก 2020' จารีต ‘เครื่องแต่งกาย’ ญี่ปุ่น ใน ‘Costume’ ผู้เชิญเหรียญ
‘MUJI’ เปิดใหม่คอนเซปต์สโตร์ 1,800 ตารางเมตร โชว์ปรัชญา ‘มูจิ’ เต็มรูปแบบ
“หนังสือ” 5 เล่มต้องอ่าน คิดจะเปลี่ยน ‘วิกฤติ’ เป็น ‘โอกาส’