การเมือง
'สมพงษ์' แจงเนื้อหา4ร่างแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อคืนประชาธิปไตย-สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน
ไพบูลย์ เสนอหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญ ยืนยันปรับแก้ มาตรา 144 - 185 ด้าน ผู้นำฝ่ายค้าน นำเสนอหลักการ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 4ฉบับ ยืนยันการฟื้นประชาธิปไตย สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน
เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เข้าสู่การพิจารณาเรื่องด่วน การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รวม 13 ฉบับ ซึ่งเสนอโดย 4 กลุ่มการเมือง ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ เสนอโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมคณะ จำนวน 1 ฉบับ,กลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมคณะ จำนวน 4 ฉบับ, พรรคภูมิใจไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จำนวน 2 ฉบับ และ กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคณะ จำนวน 6 ฉบับ
เริ่มจากให้ผู้นำยื่นญัตติแต่ละกลุ่ม นำเสนอหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุมรัฐสภา
โดยนายไพบูลย์ ชี้แจงหลักการและเหตุผลโดยยืนยันต่อการปรับแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 ที่จะคืนหลักการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วยกระบวนการผลักดันการปรับเนื้อหาในชั้นกรรมาธิการ ตามที่ส.ว. ท้วงติงและแสดงความกังวล ขณะเดียวกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งที่กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2ใบเหมือนรัฐธรรมนูญปี2540 ได้แก่ส.ส.เขต 400คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100คน พรรคใดที่ส่งส.ส.เขตไม่น้อยกว่า 100คน ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อได้ พรรคใดจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องได้คะแนนบัญชีรายชื่อไม่ต่ำกว่า 1% ป้องกันปัญหาการเป็นส.ส.ปัดเศษ
ขณะที่นายสมพงษ์ ชี้แจงหลักการร่างแก้ไขทั้ง 4 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญ คือ ฉบับว่าด้วยการแก้ไขมาตราว่าด้วยการเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาทิ การสร้างหลักประกันของการปล่อยตัวผู้ต้องหา หรือ จำเลยคดีอาญา มีขอบเขตและมาตรฐาน , การรวมตัวเป็นพรรคการเมือง โดยให้กฎหมายพรรคการเมืองต้องไม่สร้างภาระให้กับพรรคการเมืองมากเกินไป หลังจากที่พบว่ากฎหมายพรรคการเมืองสร้างภาระเกินความจำเป็น ขณะเดียวกันยังต้องการแก้ปัญหาของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ควบคุมพรรคการเมืองมากเกินไป อีกทั้งในบทของการยุบพรรคต้องทำไม่ได้ง่าย, สร้างหลักประกันของสิทธิและการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและมาตรฐาน รวมถึงรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยไม่เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน
“มาตราเพิ่มใหม่คือ ห้ามทำรัฐประหารและนิรโทษกรรมผู้ทำรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญ และห้ามศาล หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รับ ยอมรับการกระะทำรัฐประหารและกำหนดความผิดการทำรัฐประหารไม่มีอายุความ ขณะยังให้สิทธิบุคคลต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติวิธี รวมถึงการไม่ยอมรับการรัฐประหาร เพื่อให้แก้การรัฐประหารที่บ่อยครั้งจนเป็นความเคยชินของผู้นำเหล่าทัพ” นายสมพงษ์ กล่าว
นายสมพงษ์ ชี้แจงหลักการฉบับที่สองว่าด้วยการแก้ไขระบบเลือกตั้งว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพรรคการเมือง ไม่ซับซ้อน ยุ่งยากที่เกิดจากการเลือกตั้งระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ดังนั้นการแก้ไขไปใช้ระบบเลือกตั้งด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีส.ส. 500 คน จากเขต 400 คนและ บัญชีรายชื่อ 100 คน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน เป็นประชาธิปไตย
“สาระสำคัญที่เปลี่ยนคือ การประกาศผลเลือกตั้ง ภายใน 30วัน จากเดิม 60 วันเพื่อให้การประชุมสภาฯ เร็วขึ้น ส่วนการเลือกตั้งแบบบัญชี กำหนดให้ใช้การคำนวณไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้มีปัญหา และใช้เกณฑ์คะแนนรวม ขั้นต่ำ 1% เพื่อคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ” นายสมพงษ์ ชี้แจง
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจง ฉบับที่สาม ว่าด้วยการยกเลิกบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง และยกเลิกให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี เพราะไม่สอดคล้องหลักการประชาธิปไตย เจตนารมณ์ของประชาชน ไม่ใช่เพราะรังเกียจส.ว.แต่อย่างใด โดยเนื้อหาที่ปรับ คือ ให้นายกรัฐมนตรี เป็น ส.ส. ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องทำในสภาผู้แทนราษฎร และฉบับที่สี่ ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ เพราะไม่สอดคล้องกับภาวะการณ์ของประเทศ, ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ว่าด้วยการติดตาม ตรวจสอบ ยุทธศาสตร์ชาติ และ ยกเลิกการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อการกระทำ ประกาศคำสั่ง ของ คสช. ที่กำหนดไว้ในมาตรา 279.