การเมือง
'จุรินทร์' แจงรัฐสภา เหตุ 'ตัดอำนาจส.ว.'โหวตนายกฯ ไม่ใช่กีดกัน ให้เป็น 'นายกรัฐมนตรี' ต่อ
"จุรินทร์" ประกาศตัดอำนาจ ส.ว. โหวตนายกฯ ไม่ใช่กีดกัน "ใคร" เป็นนายกฯ ต่อ ย้ำหวังเพื่อตัดความขัดแย้งทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงที่ประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณาเรื่องด่วน การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รวม 13 ฉบับ ซึ่งเสนอโดย 4 กลุ่มการเมือง ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ เสนอโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมคณะ จำนวน 1 ฉบับ,กลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมคณะ จำนวน 4 ฉบับ, พรรคภูมิใจไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จำนวน 2 ฉบับ และ กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคณะ จำนวน 6 ฉบับ
โดยนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ชี้แจงญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคภูมิใจไทยจำนวน 3ฉบับ ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคภูมิใจไทยเสนอประกอบด้วย1.เพิ่มมาตรา 55/1 การเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนมักได้สิทธิเสรีภาพในลักษณะที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม จึงเสนอแก้ไขมาตรา55 ให้รัฐต้องจัดให้ประชาชนได้รับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง โดยประชาชนไม่ต้องเรียกร้อง ให้เป็นหน้าที่รัฐจัดให้ประชาชนมีรายได้ถ้วนหน้า ขณะนี้ประชาชนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือ2,763บาทต่อคนต่อเดือน แม้จะแจกบัตรคนจน แต่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันความมั่นคงในระยะยาว เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ พรรคภูมิใจไทยเห็นว่า การให้เงินสดแก่ประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน น่าจะแก้ปัญหาความยากจนได้แท้จริง ส่วนอีกร่างที่เสนอแก้ไขคือ มาตรา65 เรื่องยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ 20ปี เห็นว่า ไม่เหมาะสม ควรแก้ไขเป็นปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติตามความจำเป็นให้สอดคล้องสถานการณ์ วันนี้เราอยู่ในยุคความผันผวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การกำหนด 20ปี เนิ่นนานไป และร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่สาม เสนอเหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์คือ การยกเลิก มาตรา 272 การให้อำนาจส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี
ขณะที่นายจุรินทร์ ชี้แจงหลักการของญัตติ ตอนหนึ่งถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ขอแก้ไขกลุ่มมาตราว่าด้วยระบบเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพเลือกผู้แทนและพรรคการเมืองที่ชอบ เพราะบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแยกเลือกคนและพรรคการเมือง ไม่ถูกบังคับเหมือนระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว อีกทั้งทำให้ประชาธิปไตยในรัฐสภาเข้มแข็ง เพราะพรรคการเมืองเข้มแข็ง การเมืองมีเสถียรภาพ คะแนนไม่เป็นเบี้ยหัวแตก ส่วน การแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์มองว่า วุฒิสภาจำเป็นและประเทศไทยควรเป็นระบบรัฐสภาแบบสองสภา แต่เมื่อส.ว.ไม่มาจากการเลือกตั้งควรมีอำนาจจำกัด เฉพาะกลั่นกรองกฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ควรมีอำนาจลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชน คือ ส.ส.
“การแก้ไขมาตร 272 คือ การย่นระยะเวลา 5 ปีที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้สั้นลงเท่านั้นเพื่อกลับเข้าสู่หลักประชาธิปไตยให้เร็วขึ้น ไม่มีผลกีดกันบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปในอนาคต เพราะหากบุคคลนั้นประสงค์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป สามารถนำชื่อไปใส่ในบัญชีที่พรรคการเมืองสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือลงเลือกตั้ง ก็ได้ และหลังเลือกตั้งบุคคลนั้นสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ย่อมมีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเดียวกัน นอกจากนั้นการปลดล็อคมาตรา 272 จะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองและให้การเมืองมีเสถียรภาพแก้ปัญหาของรัฐบาลปัจจุบันได้ราบรื่น” นายจุรินทร์ ชี้แจง
นายจุรินทร์ ชี้แจงด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีมติสนับสนุนญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ทั้ง 13 ฉบับเพราะมีหลักการที่ใกล้เคียงกัน ส่วนร่างของพรรคพลังประชารัฐที่มีปัญหาต่อมาตรา 144 และมาตรา 185 สามารถ แปรญัตติแก้ไขให้เหมาะสมในวาระสอง ทั้งนี้การลงมติสนับสนุนไม่ใช่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แต่คือการแสวงหาความร่วมมือที่ไม่ขัดจุดยืนเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรลุผลสำเร็จ เพราะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน รวมถึงใช้เสียง 20% ของฝ่ายค้านและเสียง ส.ว. 1 ใน 3 สนับสนุนด้วย.