‘หุ้นส่งออก’ รับข่าวดี3เด้ง 'การค้าโลกฟื้น-บาทอ่อน-ต้นทุนลด'
โควิด-19 เป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย หลังการระบาดลากยาวมานานกว่า 1ปี และดูแล้วสถานการณ์คงไม่คลี่คลายง่ายๆ สะท้อนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลายพันคนต่อวัน รวมทั้งความเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของไวรัสที่แพร่ระบาดได้เร็วและรุนแรงขึ้น
ขณะนี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ หลังรัฐบาลประกาศเตรียมพร้อมเปิดประเทศในอีก 120 วัน หรือ ราวกลางเดือน ต.ค. แต่ในมุมสาธารณสุขยังน่าวิตก ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังสูงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 พันคนต่อวัน มานานเกือบ 2 เดือนแล้ว
จนเกิดวิกฤตขาดแคลนเตียงรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะเตียงไอซียูที่ขณะนี้โรงพยาบาลรัฐทั่วกรุงเทพฯ เหลือเตียงแค่ 20 เตียงเท่านั้น ส่วนการฉีดวัคซีนทำได้จำกัด ต้องรอวัคซีนเข้ามามากกว่านี้ และยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่วัคซีนอาจคุมไม่อยู่
โดยล่าสุดแบงก์ชาติได้หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือเพียง 1.8% จากเดิมที่ 3% และปีหน้าเหลือ 3.9% จากเดิม 4.7% เนื่องจากกังวลว่าการระบาดจะลากยาวจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ขณะที่เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทรุดหนัก ทั้งการบริโภคในประเทศ การลงทุนภาครัฐภาคเอกชน การท่องเที่ยว มีเพียงแค่ภาคการส่งออกที่ยังลอยตัวเหนือวิกฤต
วานนี้ กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค. บวกแรง 41.59% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี มูลค่ารวม 23,057 ล้านดอลลาร์ รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและฐานที่ต่ำในปีก่อน ส่วน 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) มียอดส่งออกรวม 108,635 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.78%
ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขจะออกมาดี แต่กระทรวงพาณิชย์ยังขอคงเป้าการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 4% ขณะที่แบงก์ชาติได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ไปก่อนแล้วจาก 10% เป็น 17.1%
การส่งออกที่ขยายตัวอย่างร้อนแรงเป็นปัจจัยบวกต่อ “หุ้นกลุ่มส่งออก” เชื่อว่าผลประกอบการของหลายๆ บริษัทน่าจะเติบโตแรงเช่นกันตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ จีน และยุโรป
โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวดี มีสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะมันสำปะหลัง, ยางพารา, ไก่สดแช่แข็ง, อาหารสัตว์, เครื่องปรุงรส สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน รถยนต์และส่วนประกอบ ไปจนถึงอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ หุ้นส่งออกยังได้รับประโยชน์จาก “เงินบาทอ่อนค่า” เพราะจะทำให้สินค้าไทยมีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยปีนี้เงินบาทอ่อนค่าขึ้นมาแล้วกว่า 6% จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 29.99 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ราวๆ 31.90 บาทต่อดอลลาร์
โดยบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าขึ้นมาทุกๆ 1 บาท จะหนุนกำไรสุทธิกลุ่มเกษตรและอาหาร เพิ่มขึ้น 1-3% หุ้นแนะนำมีบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN, บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER, บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ XO และ บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE
และหนุนกำไรสุทธิกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 2-3% หุ้นเด่นแนะนำ บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI, บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA และบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยังได้ประโยชน์จากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลง ขณะที่คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ประกาศระบายสต็อกโลหะภาคอุตสาหกรรมจากคลังสำรองแห่งชาติ ทั้งทองแดง อะลูมิเนียม และสังกะสี ส่งผลให้ราคาโลหะเหล่านี้มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อการค้าโลกฟื้นตัว ย่อมทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศคึกคักไปด้วย เป็นปัจจัยบวกต่อผู้ให้บริการเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์อย่าง บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL แต่ด้วยราคาหุ้นที่ขึ้นมาเยอะ และปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้ความน่าสนใจมีน้อยลง