'สุทิน-ชินวรณ์-ไพบูลย์' ย้ำปัญหา 'รธน.60' ต้องแก้ พร้อมเปิดทางปรับระบบเลือกตั้ง-สูตรคำนวณส.ส.

'สุทิน-ชินวรณ์-ไพบูลย์' ย้ำปัญหา 'รธน.60' ต้องแก้ พร้อมเปิดทางปรับระบบเลือกตั้ง-สูตรคำนวณส.ส.

ที่ประชุมรัฐสภา เปิดให้ 3ส.ส.ที่เสนอญัตติอภิปรายสรุป โดยเห็นพ้องต้องแก้มาตราที่เป็นปัญหา ย้ำการแก้ระบบเลือกตั้ง ที่มีช่องโหว่ พร้อมปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการ

       เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ประชุมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้เข้าสู่การอภิปรายสรุปของผู้เสนอญัตติ
       ฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นายสุทิน  คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปญัตติ ว่า หลักการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง เพื่อต้องการแก้ปัญหา ทั้งนี้ที่มีส.ส.อภิปรายท้วงติงในหลายเรื่อง สามารถปรับแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ แต่ขณะนี้ขอให้รับหลักการไปก่อน ส่วนการแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจส.ว. นั้น พรรคฝ่ายค้านทำเพื่อส.ว. เพราะที่ผ่านมาส.ว.ชุดปัจจุบัน ถูกลบหลู่เกียรติ และไม่ได้รับการยอมรับ การแก้ไขจึงคล้ายกับยกภูเขาออกจากอก ทั้งนี้เห็นด้วยต่อการแก้ไขมาตรา 144 และ มาตรา 185 เพราะที่ผ่านมาปราบโกง แก้ทุจริตได้จริงหรือไม่ ดังนั้นต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดรัฐราชการ เป็นใหญ่ ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยพร้อมจะเห็นด้วยกับทุกฉบับ เพราะทำเพื่อประชาชน และในประเด็นที่ส.ว.กังวล สามารถแก้ไขในกรรมาธิการได้ เพราะการทำงานในกรรมาธิการไม่ใช่ทำงานแบบปิดบังได้ ถ้าประเด็นไหนที่ไม่สบายใจ ตัดออกได้ ทบทวนได้ 
       “ที่บอกว่าถ้าไม่ผ่านก็แก้ใหม่ แต่ผมไม่เชื่อว่าจะมีโอกาสได้แก้อีก เพราะเวลาไม่พอ ทั้งนี้ผมขอขอบคุณพรรคร่วมรัฐบาล และส.ว. ผมจะลงมติด้วยเจตนาดีและความซื่อ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจะภาวนาให้ผ่านทุกร่าง ส่วนจะคืนมาอย่างไร คาดเดาไม่ได้ 13 ร่างไม่น่ามีปัญหา” นายสุทิน อภิปรายสรุป

        ขณะที่ ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสรุปโดยย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องศึกษารายละเอียดของเนื้อหาอีก และควรเดินหน้าไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคม  และการเมือง ทั้งนี้การแก้ไขมาตรา 272 ไม่ใช่เพราะรังเกียจส.ว. แต่มองว่าเมื่อส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงควรถูกจำกัดอำนาจ หากส.ว.ร่วมมือตัดสิทธิ์ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และลบข้อครหาว่า นายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจ ทั้งนี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะถูกมองว่า ไม่ต้องการแก้ไขเพราะประโยชน์ตัวเอง  

        “สำหรับการแก้ไขระบบเลือกตั้ง มองว่าหากไม่เปลี่ยนแปลงกติกา ก่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรียุบสภาา หรือลาออก การเมืองจะกลับไปสู่วังวนเดิม และเพิ่มความขัดแย้ง ดังนั้นควรแก้ไขระบบเลือกตั้งและระบบเลือกนายกรัฐมนตรี การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ ดีกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และเชื่อว่าจะถอดสลักทางการเมืองที่เกิดขึ้น พร้อมนำไปสู่การรเปลี่นยแปลงทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งตนเชื่อมั่นว่าหากการเมืองมีดุลยภาพ มีเสถียรภาพจะได้ผู้แทนที่ดี ที่มาจากการเลือกตั้งสุจริต และได้รัฐบาลที่ดี” นายชินวรณ์ อภิปรายสรุป

        ทางด้าน ฉบับของพรรคพลังประชารัฐ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสรุป โดยย้ำถึงการแก้ไขเนื้อหาที่ปลดล็อคให้กับการทำงานของผู้แทนราษฎร เพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีปัญหา ทั้งนี้การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ที่มีผู้เสนอให้ใช้ระบบเอ็มเอ็มพี นั้นตนมองว่าไม่สามารถคิดคำนวณได้ ตนฐานะเป็นอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานฯ ยังคำนวณไม่ถูกด้วยซ้ำ

        “ทั้งนี้การเสนอแก้มาตรา 144 และมาตรา 185 เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่แก้เพื่อโกง และเห็นว่ามีปัญหา และการแก้ไขจะเป็นประโยชน์ ส่วนที่ส.ว.ท้วงติงนั้น ผมรับปากว่าจะแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ ที่แก้ไขได้ การลงมติมี3 ชั้น คือ การแก้ในกรรมาธิการ ในสภา และวาระสาม หากมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในวาระสามสามารถโหวตคว่ำ หากมองว่าพวกผมเลว และพวกท่านดี ไปด้วยกันไม่ได้ ขอให้ส.ว. ฟังบ้าง แต่หากคิดว่าส.ว.มีสถานะแต่ความถูกต้อง ส.ส.ไม่ถูกต้อง จะไปกันไม่ได้ในอนาคต” นายไพบูลย์.