‘เงินบาท’ วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.82บาทต่อดอลลาร์
แนวโน้มของค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนและมีโอกาสเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง มาจากทั้ง เงินดอลลาร์แข็งค่า และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ คาดวันนี้เงินบาทที่ระดับ 31.75-31.90บาทบาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 31.82 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 31.78 บาทต่อดอลลาร์
มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.75-31.90 บาทต่อดอลลาร์และกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 31.60-32.10 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนและมีโอกาสเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง
โดยในส่วนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่านั้นอาจมาจากทั้ง เงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ของฝั่งผู้นำเข้าในช่วงปลายเดือน และ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ
เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังมีอยู่ และพร้อมแข็งค่าขึ้น หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่งกว่าคาดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ ต้องจับตาการระบาดของ โควิด-19 เพราะการระบาดที่เลวร้ายลงในยุโรปหรือเอเชีย จะเป็นปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์
ขณะเดียวกัน ในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ปัญหาการระบาดในไทย ก็จะยิ่งกระตุ้นแรงขายสุทธิสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ จนกว่าการแจกจ่ายวัคซีนจะเร่งตัวขึ้นได้ดีขึ้น(อย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 5 แสนโดสขึ้นไป หากต้องการให้ถึงเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกัน 50% ของประชากรภายในปีนี้) นอกเหนือจากฟันด์โฟลว์ขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ควรระวังแรงเทขายบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่ทาง J.P. Morgan ได้ปรับสัดส่วนบอนด์ ในดัชนี Government Bond Index – Emerging Markets (GBI-EM) ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนตามดัชนี GBI-EM อาจเทขายบอนด์ไทยราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับดัชนีได้ (สัปดาห์ก่อน นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายบอนด์ไทยสุทธิราว 4.3 พันล้านบาท ซึ่งอาจมองได้ว่า นักลงทุนต่างชาติอาจขายบอนด์ได้อีก 5.7 พันล้านบาท )
อย่างไรก็ดี แนวต้านสำคัญของเงินบาทยังอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้ง เราคาดว่า หากเงินบาทอ่อนค่าลงไปมากในระยะสั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีโอกาสทยอยขายเงินดอลลาร์ เพื่อลดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ออกมาบ้าง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสถูกสหรัฐฯ มองว่า ประเทศไทยมีการแทรกแซงค่าเงินบาทในทิศทางเดียวทำให้เงินบาทยังคงแกว่งตัวในช่วง 31.85+/-0.15 บาทต่อดอลลาร์ และไม่เกิน 32.00 บาทต่อดอลลาร์ ไปมาก
สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจหลายประเทศจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ได้ทำให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายตามสำหรับสัปดาห์นี้ ควรติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) รวมถึงถ้อยแถลงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน และ สถานการณ์การระบาด โควิด-19 รอบโลก
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
ฝั่งสหรัฐฯ – เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมโดย ISM (Manufacturing PMI) ที่ระดับ 61 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึงการขยายตัว) ขณะเดียวกันตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวดีขึ้น โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) จะลดลง สู่ระดับ 3.8 แสนราย ส่วนยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนมิถุนายน ก็จะเพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนตำแหน่ง และทำให้อัตราว่างงานในสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 5.7% หนุนโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาคึกคักมากขึ้น หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown
และการทยอยยุติเงินช่วยเหลือผู้ตกงานเพิ่มเติมในหลายรัฐ ทั้งนี้ ภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นยังได้หนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 119 จุด ชี้ว่าการบริโภคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดจะติดตาม มุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดถึง 4 ท่าน อาทิWilliams, Barkin (วันจันทร์) Quarles (วันอังคาร) และ Bostic (วันพุธ)
ทางด้านฝั่งยุโรป – แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปยังสดใส หลังการแจกจ่ายวัคซีนคืบหน้ามากขึ้น(ครอบคลุมประชากรเกือบ 40% และ อาจใช้เวลา 3 เดือน เพื่อครอบคลุมประชากร 75%) หนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนมิถุนายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -1.0 จุด สะท้อนว่าการบริโภคของครัวเรือนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกของเยอรมนี (Retail Sales) เดือนพฤษภาคม ก็จะขยายตัวกว่า 4.6% จากเดือนก่อนหน้า หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักมากขึ้นจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown
ส่วนในฝั่งเอเชีย – เศรษฐกิจในฝั่งเอเชียโดยรวมยังเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฝั่งญี่ปุ่น ที่เศรษฐกิจได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี (ยอดการส่งออกเดือนพฤษภาคมโตเกือบ 50%y/y) ซึ่งการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีนั้นจะช่วยหนุนการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตอุตสาหกรรม
สะท้อนผ่าน ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม(Industrial Production) เดือนพฤษภาคม ที่จะโตขึ้นกว่า 18%y/y และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ Tankan โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ของฝั่งผู้ผลิตขนาดใหญ่ก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 16 จุด จาก 5 จุด (ดัชนี > 0 หมายถึงแนวโน้มดีขึ้น) ทั้งนี้ ตลาดจะจับตายอดค้าปลีกของญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคมว่าจะขยายตัวได้กว่า 8%y/y หรือไม่ หลังรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการ Lockdown บางส่วน
ส่วนในฝั่งเวียดนาม ปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ระลอกใหม่จะกดดันให้ เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวลงได้ในระยะสั้น โดยเฉพาะภาคการผลิตและการส่งออก ซึ่งตลาดมองว่าจะได้รับผลกระทบจากคลัสเตอร์การระบาดตามนิคมอุตสาหกรรมหรือโรงงาน โดยยอดการส่งออกอาจโต 26%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่โต 36%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรมก็อาจโตเพียง 9%y/y
ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนามยังสามารถขยายตัวกว่า 7%y/y ในไตรมาส 2 ส่วนในฝั่งจีน เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ (Mfg. & Services PMIs) ยังอยู่ที่ระดับ 50.8 จุด และ 55.3 จุด ตามลำดับ (ดัชนี > 0 หมายถึงภาวะขยายตัว)
และในฝั่งไทย – ปัญหาการระบาดของโควิด-19 และแผนการแจกจ่ายวัคซีนยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดนอกจากนี้ ควรติดตามการปรับพอร์ตลงทุนบอนด์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่ทาง J.P. Morgan ได้ปรับสัดส่วนบอนด์ ในดัชนี Government Bond Index – Emerging Markets (GBI-EM) โดยเพิ่มบอนด์ Serbia เข้าพอร์ตทำให้สัดส่วนบอนด์ไทยลดลงราว 0.13% ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนตามดัชนี GBI-EM อาจเทขายบอนด์ไทยราว1 หมื่นล้านบาท เพื่อปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับดัชนีได้ (สัปดาห์ก่อน นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายบอนด์ไทยสุทธิราว 4.3 พันล้านบาท ซึ่งอาจมองได้ว่า นักลงทุนต่างชาติอาจขายบอนด์ได้อีก 5.7 พันล้านบาท )