เมื่อเอเชีย ถูกกล่าวขานว่าสร้าง 'ขยะทะเล' มากที่สุด
เมื่อเอเชีย ถูกกล่าวขานว่ามีการทิ้ง 'ขยะพลาสติก' กว่า 60% ของปริมาณขยะทั้งหมดที่ถูกพบในทะเล แต่หากมองต้นตอของปัญหา 'ขยะทะเล' หรือ พลาสติกที่ถูกทิ้งในประเทศต่างๆ อย่างฟิลิปปินส์ หรือ อินเดีย ส่วนใหญ่ เป็นผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก
'พลาสติก' ที่สร้างความสะดวกในชีวิตประจำวัน แท้จริงแล้วทิ้งผลกระทบที่ยาวนานต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก รวมถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ของชุมชนหลายแห่ง มีรายงานว่ามากกว่า 60% ของ 'ขยะพลาสติก' ทั้งหมดที่ถูกปล่อยลงทะเลทั่วโลกมาจากเอเชีย ขณะที่ “วอน เฮอนานเดซ” องค์กร Break Free From Plastic กลับมองว่าเป็นเรื่องน่าขันที่เอเชียถูกยัดเยียดว่า เป็นต้นตอของปัญหา'ขยะทะเล'
'พลาสติก' ที่มีอยู่บนโลกตอนนี้ เกินกว่าครึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อ 15 ปีก่อน และ 91% ไม่ได้รับการ 'รีไซเคิล' คนคิดว่าพลาสติก'รีไซเคิล'ได้ แต่'พลาสติก'ส่วนใหญ่รีไซเคิลยาก ข้อมูลจาก การประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) แสดงให้เห็นว่า 32% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติก สุดท้ายกลายเป็นขยะในสิ่งแวดล้อม 40% อยู่ในบ่อฝังกลบที่ไหนสักแห่ง 14% ถูกเผา 14% ถูกรีไซเคิล แต่มีเพียง 2% เท่านั้น ที่ได้รับการรีไซเคิลแบบมีประสิทธิภาพ
“การรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ” หมายถึง รีไซเคิลเป็นของที่มีประโยชน์ใช้สอย เช่นเดียวกับที่มันเคยเป็นมา ส่วนมากเป็นการ Downcycled คือ กลายเป็นสิ่งที่ด้อยกว่า แตกต่างจากแก้ว และ โลหะ เพราะพลาสติกแตกตัวเมื่อถูกรีไซเคิล พลาสติกส่วนมากถูกรีไซเคิลแค่ครั้งเดียว ก่อนจะจบลงที่บ่อขยะ เตาเผา และในสิ่งแวดล้อม
- 60% ของ 'ขยะพลาสติก' ในทะเลมาจากเอเชีย ?
รายงานจากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)ในปี 2563พบว่า 60% ของจำนวน 'ขยะพลาสติก' ซึ่งมีการทิ้งลงสู่มหาสมุทรทั่วโลกประมาณ 8 ล้านตันในแต่ละปี มาจากจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนามรวมกัน ปริมาณการทิ้ง 'ขยะพลาสติก' รวมกันทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่า ในช่วงระหว่างปี 2553-2593
นั่นหมายความว่า หากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ไม่มีการแก้ไขใด ๆ หรือออกแต่มาตรการป้องกันที่ไร้ประสิทธิภาพ ปริมาณ 'ขยะพลาสติก' ในทะเลจะมากกว่าน้ำหนักของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรรวมกันขณะเดียวกัน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการเผาทำลาย แตะที่ 860 ล้านตันในปี 2562 มากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนรายปีของไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมกัน
“มาเลเซีย” เป็นประเทศที่มีสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกต่อประชากรสูงที่สุดในบรรดา 6 ประเทศที่กล่าวถึง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 16.8 กิโลกรัมต่อคนต่อปี รองลงมาคือ“ไทย”เฉลี่ยอยู่ที่ 15.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่หลายพื้นที่ในเอเชีย มีการขยายเศรษฐกิจ เขตที่อยู่อาศัยจากใจกลางเมืองออกไปยังพื้นที่แนวชายฝั่งมากขึ้น แต่บริการและระบบโครงสร้างพื้นฐานในการจัดเก็บขยะ ไม่ได้รับการพัฒนารวดเร็วตามการขยายตัวเหล่านี้
และ จากการที่ “จีน” ยุตินำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทเมื่อปี 2561เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้ปริมาณขยะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นบรรดาชาติตะวันตกเบี่ยงเส้นทางส่งออกขยะมายังประเทศอื่นในภูมิภาคแทน ถือเป็นความท้าทายใหม่สำหรับทุกประเทศในภูมิภาคในการป้องกันและกำจัดขยะจากภายนอก
- คลื่น 'ขยะทะเล' อ่าวมะนิลา ฟิลิปปินส์
ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The story of Plastic โดย กรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งสะท้อนปัญหามลพิษพลาสติกที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ สื่อให้เห็นว่า “คำกล่าวที่ว่า ในปี 2050 จะมีขยะพลาสติกในทะเลมากกว่าปลา อาจจะเป็นความจริง” ยกตัวอย่าง อ่าวมะนิลา ฟิลิปปินส์ ที่มีลักษณะโค้ง และครอบคลุมหลายจังหวัดแนวชายฝั่ง ขยะมหาศาลถูกคลื่นซัดและติดในส่วนเว้าของอ่าว แม้จะทำความสะอาดทุกวัน แต่ไม่มีวันจบ
จากคำบอกเล่าของ “โจเซฟ บอร์โกนยา” ชาวประมง ที่อ่าวมะนิลา ฟิลิปปินส์ ซึ่งยังชีพด้วยปลาและอาหารทะเล พบว่าการออกทะเลแต่ละครั้งจะเจอปลา 60% และ 'พลาสติก' กว่า 40% 'ขยะพลาสติก' ส่วนใหญ่รีไซเคิลไม่ได้และสัดส่วนเยอะที่สุด คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีวัสดุซ้อนหลายชั้น ไม่มีใครอยากเก็บไปขายและกลายเป็นขยะ คำถามคือ ใครจะเป็นคนแบกรับปัญหาเหล่านี้
- "ซีโร่เวสต์" จัดการขยะชุมชน
มีความพยายามในหลายชุมชนเพื่อทำให้ขยะเหลือศูนย์และทำให้ทุกเมืองปลอดขยะ นั้นหมายถึงว่าทุกสิ่งที่ใช้ที่ผลิตสามารถหมักหรือรีไซเคิลได้ และทุกเมืองมีความสามารถรองรับในการจัดการ ยกตัวอย่าง เมืองซานเฟอนานโด ในฟิลิปปินส์ หากไม่มีโครงการซีโร่เวสต์ ซานเฟอนานโด จะต้องใช้เงิน 70 ล้านเปโซต่อปี เพียงเพื่อจัดเก็บขยะแล้วนำไปทิ้งบ่อฝังกลบ แต่ด้วยโครงการซีโร่เวสต์ ทำให้สามารถลดรายจ่ายลงแหลือเพียง 12 ล้านเปโซเท่านั้น โดย “เอ็ดวิน ดี ซานติดาโก” นายกเทศมนตรี ซาน เฟอร์นานโด กล่าวว่า หนทางเดียวในการจัดการขยะคือการจัดการด้วยระบบซีโร่เวสต์ เป็นหนทางที่ดีต่อทั้งเงินและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถจัดการขยะได้ดีขึ้นกว่า 78% แต่ความจริงคือยังเหลืออีก 22% ที่ยังจัดการไม่ได้ โครงการซีโร่เวสต์ สามารถทำให้จัดการในระดับชุมชน แต่ยังมีข้อเรียกร้องให้อุตสาหกรรมต้องรับผิดชอบเพราะหากผลิตภัณฑ์ยังไม่สามารถรีไซเคิลได้ ก็ไม่ควรผลิตออกมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภูเขาขยะ อินเดีย
ขณะที่ อินเดีย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีปัญหากองขยะมหาศาล เช่น บริเวณฟาร์มวัวนมกาซิปุร์ ดี บล็อก ซึ่งตั้งอยู่ข้างบ่อขยะกาซิปุร์ ที่รับขยะเกือบครึ่งหนึ่งของเมืองเดลี อินเดีย “ประติภา ชาร์มา องค์กรกายา (Global alliance for incinerator alternatives : GAIA)” กล่าวว่า ปัญหาขยะและมลพิษของ'พลาสติก' คือความไม่เป็นธรรมที่ฝังรากลึก จากคำบอกเล่าของ “มันนัน คาน” เกษตรกร ฟาร์มวัวนมกาซีปุร์ ซึ่งอยู่ที่นี่มานานกว่า 20 ปี บอกว่าที่นี่เต็มไปด้วยมลพิษ หมอเชื่อว่าคนที่นี่จะมีอายุขัยน้อยกว่าปกติ 15 – 20 ปี เพราะบ่อขยะ สิ่งเดียวที่พลาสติกสร้าง คือ ภูเขาขยะในอินเดีย
การคัดแยกขยะ ส่วนที่ยากที่สุด ทำโดยคนเก็บขยะเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง ที่ถูกมองว่าไร้คุณค่า และยังได้รับเงินตอบแทนน้อยนิด ถ้าย้อนกลับไป 17 ปีก่อน ขยะเหล่านี้ส่วนมากจะเป็นโลหะ เหล็ก อลูมิเนียม แต่ตอนนี้เฉพาะ'พลาสติก' ก็ต้องคัดแยกถึง 83 ชนิด จากคำบอกเล่าของ “ใจ ประกาศ เชาดารี” ผู้จัดการ โรงงานรีไซเคิล ซาไฟ เซนา เน็ตเวิร์ค พบว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด คือ บรรจุภัณฑ์พลาสติกหลายชั้น เช่น ถุงขนม ซองคุ้กกี้ ที่รีไซเคิลไม่ได้ 'พลาสติก'หลายชั้น ซึ่งขายไม่ได้
- สินค้าอุปโภคบริโภค ใช้แล้วทิ้ง เปลี่ยนวิถีชีวิต อินเดีย
หากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน อินเดียไม่ใช่สังคมใช้แล้วทิ้ง เพราะไม่ได้เน้นบริโภค แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของสินค้าอุปโภคบริโภคในอินเดีย เกือบ 100% บรรจุในพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เช่น แชมพู 1 รูปี หรือซองน้ำมัน 1 รูปี ผลิตด้วยวัสดุหลายชั้น ทั้งพลาสติก อลูมิเนียม และกระดาษเล็กน้อย บรรจุจำนวนน้อยเพื่อใช้ครั้งเดียวและทิ้ง
มีข้อสังเกตว่า สินค้าอุปโภคบริโภคยี่ห้อเดียวกัน ซึ่งถูกส่งขายเป็นซองบรรจุภัณฑ์ในอินเดีย ทำจาก'พลาสติก' ใช้แล้วทิ้งรีไซเคิลไม่ได้ ขณะที่สินค้ายี่ห้อบริษัทเดียวกันที่วางขายในยุโรป กลับเป็นขวดที่รีไซเคิลได้ ผู้ผลิตต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการจัดเก็บขยะ ในขณะที่แบบซองที่ขายในอินเดียไม่มีค่าธรรมเนียมรวมอยู่ ดังนั้น ในประเทศส่วนใหญ่ที่จัดเตรียมระบบการจัดการขยะ จึงต้องการงบประมาณเพื่อสร้างระบบพื้นฐาน ผู้ผลิตไม่ได้มีส่วนร่วมจนถึงจุดสุดท้ายของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ในขณะที่ยุโรปมีมาตรฐานที่ดีกว่า
ในอินเดียเอง มีการทำแบรนด์ออดิท จำแนกยี่ห้อที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุด ที่เป็นผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนเพื่อสร้างฐานข้อมูลให้รัฐบาลเข้าร่วมทำมาตรการเร่งด่วนและขยายความรับผิดชอบไปยังผู้ผลิตแต่ละยี่ห้อ ในการเก็บบรรจุภัณฑ์กลับหรือสนับสนุนรัฐในการจัดการ และจากที่มีการทำแบรนด์ออดิทในพื้นที่อื่นๆ ทั่วอินเดียพบว่าผู้ผลิตหลักๆ เป็นรายเดียวกันทั้งสิ้น
- Bio-PET ย่อยสลายไม่ได้
กระทั่งปัจจุบัน มีความพยายามคิดค้นวัสดุทดแทนพลาสติก “ดร.มอลลี่ มัวร์” จากแมงโก้ แมททีเรียล ซึ่งวิจัยไบโอพอลีเมอร์ ในแคลิฟอร์เนียร์ สหรัฐฯ ระบุว่า พลาสติกไบโอชีวภาพและไบโอเบส น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในอนาคต นักวิจัยกำลังค้นหาพลาสติกที่ย่อยสลายได้จริงและหาทางให้พลาสติกย่อยสลายใช้ได้มากขึ้น เพราะนั่นแสดงออกถึงการกระตุ้นความยั่งยืน
“อย่างไรก็ตาม อะไรที่ทำจากข้าวโพดหรือต้นไม้ ไม่ได้หมายความว่าย่อยสลายได้ไปหมด หลายสิ่งในตลาด เช่น Bio-PET ซึ่งมีคาร์บอนเชนเดียวกันกับ PET ทั่วไป แค่ไม่ได้ใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนแบบเดิมในการสร้างวัสดุนั้น ดังนั้น มันไม่ย่อยสลาย เรากำลังต่อต้านการคงทนยาวนานของพลาสติกปิโตรเคมี นี่เป็นความท้าทายยิ่งใหญ่ในระดับโครงสร้าง”
- ผู้ผลิต ควรมีส่วนรับผิดชอบ
“แครอล มัฟเฟล” ศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เท็กซัส สหรัฐฯ ระบุว่า จะไม่มีวันแก้วิกฤตพลาสติกได้หากยังมองแค่ปัญหาขยะ คำถามคือ ใครผลิต'พลาสติก' ตั้งแต่แรกเริ่มและทำไม ความจริง 99% ของสิ่งที่อยู่ใน'พลาสติก' คือ เชื้อเพลิงฟอสซิล จึงไม่แปลกเลยที่บริษัทผลิตพลาสติก คือ บริษัทเดียวกันที่ขายน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นผู้นำในการผลิตภัณฑ์น้ำมันและก๊าซด้วย พลาสติกเคยเป็นแค่ของเสีย ที่บริษัทต้องเลือกว่า จะจ่ายเงินเพื่อการกำจัดอย่างถูกต้อง หรือเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
ด้าน "ทิซ่า มาฟิรา” องค์กรเคลื่อนไหวด้านพลาสติกของอินโดนีเซีย ให้ความเห็นว่า พลาสติกใช้แล้วทิ้งมากมายที่สุดท้ายสร้างมลพิษให้กับโลก เราใช้มันแค่ครั้งเดียวแต่มันคงอยู่ตลอดไป พวกมันสร้างจากวัสดุที่ไม่มีวันย่อยสลาย เป็นสิ่งที่น่าผิดหวังที่สุดที่ อุตสาหกรรมเหล่านั้นกำลังผลักดันความคิดที่ว่า นี่เป็นการจัดการที่แย่ ขยะมีอยู่เพราะรัฐบาลไม่ได้ใช้งบมากพอในการกำจัดขยะให้ถูกต้อง พวกเขาทำให้คนไขว้เขวในความจริงที่ว่า มันไม่มีทางเป็นไปได้ ในการจัดการขยะเหล่านี้ ผู้บริโภคไม่ควรต้องดูแล ควรมีการหารืออย่างจริงจังในเวทีโลก เพราะบริษัทเหล่านี้ทำงานอยู่ทั่วโลก”