'4 ศาล' บรรทัดฐานชุมนุม เข้าทางม็อบ 'ไล่รัฐบาล-ลุง'
จะเป็น "ข้อต่อสู้" ทางคดีความตลอดการชุมนุมในปี 2563 ถึงในปี 2564 ซึ่งมีแกนนำและแนวร่วมการผู้ชุมนุมถูกตั้งข้อหาไม่ต่ำกว่าร้อยคน
จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ในมาตรา 4 จากบทนิยามคำว่า “การชุมนุมสาธารณะ” ในมาตรา 10 มาตรา 14 และมาตรา 28 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
เป็นที่มาจุดเริ่มต้นที่ศาลจังหวัดตะกั่วป่า ศาลจังหวัดนครพนม ศาลแขวงเชียงราย และศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ส่งคำโต้แย้งของจำเลย "คดีวิ่งไล่ลุง" รวม "4 คำร้อง" จากการถูกตั้งข้อหาเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 4, 10, 14, และ 28
ทั้ง 4 ศาลข้างต้นได้ขอให้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" วินิจฉัยว่าบทบัญญัติทั้ง 4 มาตราเหล่านี้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 26 มาตรา 34 และมาตรา 44 ในพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะหรือไม่ ซึ่งในมาตรา 26 มาตรา 34 และมาตรา 44 ได้กำหนดไว้ว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคลจะกระทำมิได้ และบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการพูด แสดงความคิดเห็น การเขียน รวมถึงการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ สามารถกระทำได้
หากเปิดคำนิยามใน "4 มาตรา" ที่ถูกยื่นคำร้องซึ่งบัญญัติอยู่ใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 นั้นพบว่า "มาตรา 4" ได้กำหนดนิยามการชุมนุมสาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่
ขณะที่ "มาตรา 10" ได้กำหนดถึงผู้ที่จะจัดการชุมนุมสาธารณะให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และต้องขออนุญาตใช้สถานที่ เครื่องขยายเสียง เส้นทางการชุมนุม แต่การชุมนุมต้องระบุวัตถุประสงค์และวันเวลาให้ชัดเจน ให้เป็นไปตาม"มาตรา 14" กำหนดไว้หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าเป็นการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยที่ "มาตรา 28" กำหนดความผิดผู้ฝ่าฝืนมาตรา 10 มาตรา 12 มาตรา 17 และมาตรา 18 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท
หากย้อนไปถึงที่มาของกฎหมายฉบับนี้ มาจากการออกโดย "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้คุ้มครองให้การชุมนุมเป็นไปตามสิทธิเสรีภาพ แต่มีต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่นั้น ซึ่งกำหนด "เงื่อนไข" หรือมีคําส่ังให้ผู้จัดชุมนุม "ต้องปฏิบัติตาม" ซึ่งเป็นไปตาม "ดุลพินิจ" ของเจ้าหน้าที่ว่าจะดำเนินการให้เป็นไปตามหลัก "สิทธิเสรีภาพ" หรือไม่
ที่ผ่านมาการนัดหมายการชุมนุมที่ต้องเคลื่อนขบวนในเส้นทางสำคัญเพื่อไปยังสถานที่นัดหมาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองตั้งแต่รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล เป็น "เส้นทางหลัก" ที่ถูกเลือกใช้เคลื่อนขบวนแทบทุกครั้ง แต่กลับเป็น "พื้นที่พิเศษ" ถูกประกาศไว้ห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร
หากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตาม "มาตรา 29" ใน พ.ร.บ.การชุมนุมฯ กำหนดไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนคําสั่งห้ามชุมนุมหรือจัดการชุมนุมระหว่างมีคําสั่งห้ามชุมนุมตามมาตรา 11 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ
การชุมนุมที่ผ่านมานั้นไม่ใช่แค่ "เงื่อนไข" ตาม "พ.ร.บ.ชุมนุมฯ" เพียงอย่างเดียว แต่ทุกความเคลื่อนไหวของม็อบจะคาบเกี่ยวกับกฎหมายฉบับอื่นๅ ที่แกนนำและแนวร่วมถูกตั้งข้อหามาแล้ว อาทิ ความผิดอาญาตามมาตรา 116 ทำให้เกิดความปั่นป่วน ก่อความไม่สงบฯ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ความผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.จราจร หรือความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ พ.ศ.2504
แต่จากคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ กำลังทำให้การชุมนุมหลายกลุ่มที่ขับไล่รัฐบาล ตั้งแต่คณะราษฎร กลุ่มไทยไม่ทนฯกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือกลุ่มอื่นๆ นำไปเป็นบรรทัดฐานในการจัดชุมนุมครั้งต่อไป โดยเฉพาะจะใช้เป็น "ข้อต่อสู้" ทางคดีความที่ผ่านมาตลอดการชุมนุมในปี 2563 ถึงในปี 2564 ซึ่งมีแกนนำและแนวร่วมการผู้ชุมนุมถูกตั้งข้อหาไม่ต่ำกว่าร้อยคน
ยิ่งการชุมนุมจากกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" ได้นัดชุมนุมอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 18 ก.ค.นี้ ในธีม "ถึงเวลาทวงคืนอนาคต ทุกความสูญเสียหยาดเหงื่อ หยดน้ำตา และเลือดทุกหยด จะต้องได้รับความยุติธรรม" ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2563 จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาชุมนุมภายหลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจากไวรัสโควิดระลอกใหม่ยังไม่มีท่าทีจะจบลงเมื่อใด แต่อีกด้านยังเห็นการเคลื่อนไหวจากม็อบกลุ่มต่างๆ ในสังคมออนไลน์ปลุกกระแสขับไล่รัฐบาลต่อไปไม่เว้นแต่ละวัน รอจังหวะเหมาะสมทางการเมืองออกมานัดชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาล บนบรรทัดฐานที่เชื่อมั่นว่าจะชุมนุมได้ตามสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้.