“บีซีจี ภาคเกษตร” กลไกพัฒนา ความมั่นคงอาหารและการค้า

“บีซีจี ภาคเกษตร” กลไกพัฒนา  ความมั่นคงอาหารและการค้า

โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว กลายเป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทย ในช่วง 6 ปี (2564-2569)

ในการประชุมเชิงวิชาการ เรื่อง BCG Model เพื่อความยั่งยืนด้านเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม” ที่จัดขึ้นโดยราชบัณฑิตยสภา 

สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กล่าวบรรยายนำเรื่อง “ความสำคัญของ BCG Model เพื่อผลิตสินค้าเกษตรและอาหารไทย” ว่า ประเทศไทยกำลังกลายเป็นคนป่วยของเอเชีย เพราะกำลังเผชิญกับวิกฤติทั้งแรงประทุจากภายในประเทศและแรงกดดันจากภายนอกประเทศ เช่น ความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น BCG Model จะเป็นโมเดลขับเคลื่อนประเทศหลังโควิด โดยถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับ หรือ ทบทวนแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ เพราะที่ผ่านมาทำได้ช้ามาก และไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานราก 

โดยต้องใช้ BCG Model เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 4 มิติ คือ 1.การพัฒนาที่ยั่งยืน 2.ความมั่นคงมนุษย์ทั้งในบริบทประเทศและบริบทโลก 3.ความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม และ4.การเติบโตอย่างทั่วถึง

“ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ สูงทั้งด้านรายได้ และการถือครองที่ดิน จะเห็นว่า เกษตรกร 75% ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน และ 50% ของครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ย 74 บาทต่อวัน จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมด 5.57 ล้านครัวเรือน เมื่อปี 2559”

อย่างไรก็ตาม  BCG Model จะต้องมีการลงทุนเพิ่มทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ใส่งบประมาณแผ่นดินเข้าไปเพิ่ม สร้างจุดเด่นหรือเพิ่มความน่าสนใจของพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม มีกำลังซื้อเพิ่ม และสุดท้ายจะส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด(GDP) เพิ่ม

162609034713

ขณะที่การอภิปรายกลุ่มเรื่อง “ทางเลือกที่หลากหลายในการใช้ BCG Model เพื่อผลิตสินค้าเกษตรและอาหารไทย” นายสัตวแพทย์ยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเกษตร กล่าวว่า ปัจจัยที่ท้าทายภาคเกษตร ได้แก่ เกษตรกรอายุมาก ขาดแรงงาน และเข้าถึงเทคโนโลยีได้น้อยขณะที่ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และคุณภาพ ซึ่งประชากรโลกปัจจุบันอยู่ที่ราว 7,000 ล้านคน อนาคตจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน และรูปแบบการตลาดเปลี่ยนไปเข้าสู่ ดิจิทัลมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนในช่วงโควิด-19 จึงต้องใช้โอกาสนี้ปรับเปลี่ยนการตลาด

ดังนั้น BCG จะเข้ามาตอบโจทย์ ความมั่นคงอาหาร ความยั่งยืนของทรัพยากร เสถียรภาพทางสังคม และความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจ ทั้งด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว 

โดยกลไกปฏิรูปภาคเกษตร จะต้องประกอบด้วย การพัฒนาคนในภาคการเกษตร, คลังข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร,องค์ความรู้ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย “Hyienic kitchen of the world Reinventing” ภาคเกษตรไทย เพื่อเป้าหมาย “ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง” โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพภายใต้ทรัพยากรดินและน้ำที่จำกัดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การปฏิบัติตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังยุคโควิด-19 เช่น คุณภาพความปลอดภัย,แรงงาน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงทำให้เกษตรเป็นอาชีพที่มั่นคงมีคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตร

การดำเนินการดังกล่าว ยังต้องอยู่ภายใต้ 7 โปรแกรมขับเคลื่อน คือ 1.ส่งเสริมการผลิตแม่นยำสูง(Precision Farming) ประสิทธิภาพสูง และเกษตรยั่งยืน 2.ส่งเสริมระบบการผลิตสินค้าเกษตรพรีเมียม เน้นคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และการผลิตที่ยั่งยืน 3.สร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ด้านนวัตกรรมเกษตร 4.สร้างและพัฒนาบุคลากรสนับสนุนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร 5.พัฒนาตลาดเชิงรุก 6.พัฒนาปรับแก้กฎหมาย กฎระเบียน และ7. โครงสร้างพื้นฐานสำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก

สำหรับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน BCG สู่พื้นที่เชิงบูรณาการนั้น เบื้องต้น ได้คัดเลือก 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ 1.จ.ราชบุรี(มะพร้าวน้ำหอม อ้อย สุกร โคนม) 2.จ.ลำปาง (ข้าวเหนียว ไผ่) 3.จ.ขอนแก่น(อ้อย หม่อนไหม) 4.จ.จันทบุรี (ทุเรียน มังคุด) 5.จ.พัทลุง (ข้าว)

วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เป้าหมาย ผลักดันให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีโภชนาการที่ดี เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศและตลาดโลกในทุกสถานการณ์ ภายใต้ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเดิม เช่น ข้าว มันสำปะหลัง กุ้ง ปลาทูน่า น้ำตาล ซึ่งประเทศที่มีศักยภาพที่จะผลิตและส่งออกอยู่แล้ว

2.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารใหม่ เช่น อาหารเฉพาะกลุ่ม อาหารฟังก์ชั่น อาหารกลุ่มนี้ยังไม่มีการผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีศักยภาพเติบโตสูง และ3. กลุ่มอาหารท้องถิ่น ซึ่งผู้ประกอการส่วนใหญ่เป็นรายเล็กกระจายอยู่ในท้องถิ่น แต่มีจุดเด่น คือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแสดงถึงวัฒนธรรมประจำถิ่น

โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้เป็นการขับเคลื่อน BCG ด้านอาหารไปจนถึงปี 2570 แล้ว จะมีตัวชี้วัดความสำเร็จ คือ จะพิ่ม GDP สาขาอาหาร 3 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมอาหารกลุ่มใหม่เพิ่ม ลดการสูญเสียอาการ จาก 30% ให้เหลือ 15% ในปี 2567 และเหลือ 10% ในปี 2573 โดยที่ประชาชนมีความมั่นคงทางอาหารตอบโจทย์ที่วางไว้

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบัน BCG Model ได้นำไปขับเคลื่อนกับภาคการเกษตรจนประสบความสำเร็จ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างที่เห็นผลใน 2 พืชเศรษฐกิจ คือ กัญชา และ ไผ่ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่ใช้จุดเด่นทางชีวภาพของท้องถิ่นเข้ามาดำเนินการตามหลัก BCG ก็จะเกิดประโยชน์ได้