บพข.หนุนทุนพัฒนา 'เทคโนโลยีสารสนเทศ'
บพข. ให้ทุนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศจัดรูปแบบโลจิสติกส์ระบบเครือข่ายปฐมภูมิ ผนึกกำลัง ม.มหิดล - ม.เชียงใหม่ - สธ. และเอกชน ดูแลสุขภาพองค์รวม ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ลดแออัดต้นทุน และเวลา
จากสถานการณ์ด้านสุขภาพในประเทศไทยอันมีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของภาคเศรษฐกิจและสังคม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรที่ทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุนั้นมีโรคประจำตัวที่หลากหลาย เช่น ความดัน เบาหวาน เป็นต้น ดังนั้นการดูแลและให้บริการสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic care) ในระดับปฐมภูมิจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากในขณะนี้
ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข คือ การดำเนินจัดตั้งเครือข่ายคลินิกหมอครอบครัวหรือเครือข่ายบริการปฐมภูมิ เพื่อดูแลสุขภาพแบบองค์รวมขึ้น แต่ในปัจจุบันเครือข่ายบริการปฐมภูมิยังไม่สามารถเชื่อมต่อและบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างเครือข่ายได้เป็นรูปธรรม
ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท ไมโม่เทค จำกัด (บริษัทในเครือ AIS) ได้ร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาและทดสอบรูปแบบโรงพยาบาลเสมือนโดยการจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ในระบบเครือข่ายปฐมภูมิ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบ Extra/ Virtual hospital ที่เป็นไปได้ในอนาคต โดยได้รับทุนจากหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ปีงบประมาณ 2563
ทางทีมวิจัย นำโดย รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย ศฤงคารินทร์ ได้ดำเนินการศึกษาและหาแนวทางการพัฒนาระบบต้นแบบที่สามารถบริหารจัดการข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลทั้งภายในและภายนอกเครือข่ายบริการปฐมภูมิ โดยใช้แนวคิด Extra/ Virtual hospital ในการพัฒนา ทำให้ได้ระบบต้นแบบที่ชื่อว่า Primary Care on Cloud หรือ PCoC ซึ่งเป็นระบบสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลและเชื่อมต่อข้อมูลของคลินิกปฐมภูมิที่มีลักษณะเป็น Cloud Service ทำให้คลินิกปฐมภูมิสามารถนำไปใช้งานได้อย่างรวดเร็วและระบบสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับโรงพยาบาลแม่ข่าย ทำให้สามารถส่งรายงานต่างๆ เช่น รายงานการจ่ายยา เป็นต้น
และโรงพยาบาลแม่ข่ายสามารถตรวจสอบข้อมูลและรวบรวมข้อมูลจากคลินิกปฐมภูมิได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และยังสามารถส่งข้อมูลไปยังส่วนกลาง โดยผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลของระบบ ทั้งหมดนี้เพื่อให้คลินิกปฐมภูมิสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดเวลาในการส่งรายงานเข้าสู่โรงพยาบาลแม่ข่ายและส่วนกลาง รวมไปถึงลดต้นทุนการบริหารจัดการของคลินิกปฐมภูมิ และสามารถวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ภายในเครือข่ายปฐมภูมิได้อย่างแม่นยำอีกด้วย
นอกจากระบบ Primary Care on Cloud หรือ PCoC แล้ว ทางทีมวิจัยยังได้เล็งเห็นว่า ในการบริหารจัดการข้อมูลยังสามารถนำแนวคิดการจัดการโดยใช้ SPD (Supply, Processing and Distribution) หรือหน่วยงานขนส่งกลางเข้าไปเสริมประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านการขนส่งยาและเวชภัณฑ์สำหรับเครือข่ายปฐมภูมิได้ จึงได้ดำเนินการพัฒนาโมเดลต้นแบบในการใช้หน่วยงานขนส่งกลาง ที่จะช่วยบริหารจัดการในการขนส่งยาและเวชภัณฑ์จากโรงพยาบาลแม่ข่ายไปยังคลินิกปฐมภูมิ รวมไปถึงการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ไปถึงผู้ป่วยได้อีกด้วย
โดยโมเดลต้นแบบการขนส่งกลางนี้จะใช้การเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยขนส่งกลางและเครือข่ายปฐมภูมิผ่านทางระบบ PCoC โดยมีหน้าจอแสดงผลการขนส่งว่าของจะส่งจากที่ไหน ไปถึงที่ไหนและจะไปถึงเมื่อไหร่ เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างรวดเร็ว และหากโมเดลต้นแบบสำเร็จ จะทำให้สามารถลดต้นทุน ลดเวลา สำหรับการบริหารจัดการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ของเครือข่ายปฐมภูมิได้มากยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ในด้านโลจิสติกส์ยาและเวชภัณฑ์อีกด้วย