เช็คสัญญาณ 'เครียด' ในยุค 'โควิด-19' ระบาด ต้องรู้วิธีรับมือ
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ เผยสัญญาณผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ เมื่อต้องอยู่ในภาวะ "เครียด" สูง ท่ามกลางสถานการณ์ "โควิด-19" ระบาดหนัก ที่อาจกระทบกับสุขภาพจิต ชวนเช็ควิธี "แก้เครียด" ต้องทำยังไง?
เมื่อ "โควิด-19" ระลอกที่ 4 (28 มิ.ย.-ปัจจุบัน) ทำให้ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตกอยู่ท่ามกลางสภาวะ "เครียด" สูง หลายคนกังวลว่าจะ "ติดโควิด" อีกทั้งมีความเครียดสะสมจากการตกงาน ปัญหาปากท้อง และแม้บางคนจะยังมีงานทำ แต่ก็ไม่วายหดหู่ไปกับข่าวสารยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ได้รับในแต่ละวัน จนทำเอาสุขภาพจิตใจเสียสมดุล
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้ทันสัญญาณผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อต้องอยู่ในภาวะ "เครียด" สูงดังกล่าว พร้อมมีข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีคลายเครียด มาฝากกัน ดังนี้
1. ยิ่งโควิดระบาดหนัก ผู้คนก็ยิ่ง "เครียด"
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) เปิดเผยข้อมูลว่า การระบาดของ COVID-19 มีผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของผู้คนทั่วโลก หลายคนกำลังเผชิญกับความท้าทายและปัญหาหลายๆ อย่างรุมเร้า เช่น มีคนในครอบครัวติดเชื้อ ปัญหาเรื่องตกงาน ปัญหาเรื่องปากท้อง กลัวติดโควิด ฯลฯ เหล่านี้สามารถสร้างความเครียดให้บุคคลได้อย่างท่วมท้น และทำให้เกิดอารมณ์รุนแรงในผู้ใหญ่และเด็ก
การดำเนินการด้านสาธารณสุข เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม มีความจำเป็นในการลดการแพร่กระจายของ COVID-19 แต่สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้ผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น และสามารถเพิ่มความเครียดและความวิตกกังวลได้
การเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเครียดอย่างมีสุขภาพดี จึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะมันจะทำให้คุณ บรรเทาความเครียดลงได้
2. เช็คสัญญาณความเครียด ทั้งร่างกายและจิตใจ
รู้หรือไม่? "ความเครียด" ทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงได้ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หากไม่ระมัดระวังและเผลอให้ความเครียดเข้าครอบงำมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ป่วยได้ในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น
- เกิดความรู้สึกกลัว โกรธ เศร้า กังวล ด้านชา หรือหงุดหงิดมากผิดปกติ
- ไม่อยากกินอาหาร หมดพลัง หดหู่
- ขาดความกระตือรือร้น หรือความสนใจที่เคยมีหายไป
- ประสิทธิภาพในการตัดสินใจน้อยลง ไม่มีสมาธิจดจ่อเหมือนเคย
- นอนไม่หลับ ฝันร้ายบ่อยๆ
- ปฏิกิริยาทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย โรคกระเพาะอาหาร และผื่นผิวหนัง
- ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่แล้ว มีอาการแย่ลง
- ภาวะสุขภาพจิตใจโดยรวมแย่ลง
- มีความอยากสูบบุหรี่/อยากดื่มเหล้ามากขึ้น
3. วิธีรับมือและ "แก้เครียด" ในยุคโควิดระบาดหนัก
เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเครียด วิตกกังวล เศร้าโศก และวิตกกังวล ในช่วงการระบาดของ COVID-19 แต่ไม่ควรปล่อยให้ความเครียดเข้าครอบงำจิตใจ เพราะจะทำให้คุรป่วยยิ่งกว่าเดิม และนี่คือวิธีที่คุณสามารถช่วยเหลือตัวเอง และคนรอบข้าง ให้สามารถจัดการกับความเครียดได้
- พักสมองจากการดู อ่านหนังสือ หรือฟังข่าว รวมถึงโซเชียลมีเดีย เป็นเรื่องที่ดีที่จะอัพเดทข่าวสารอยู่เสมอ แต่การที่รับฟังข่าวการระบาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้คุณหดหู่ โกรธ อารมณ์เสีย ดังนั้นจึงควรจำกัดเวลาการดูข่าวให้อยู่แค่ 2 ครั้งต่อวัน
- ลดความตึงเครียดด้วยการหายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ ทำบ่อยๆ
- ออกกำลังกาย เช่น ยืดเส้นยืดสาย หรือนั่งสมาธิ
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การกินอาหารที่สมดุลทำให้คลายเครียดได้
- เข้านอนให้เป็นเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่
- หาเวลาผ่อนคลายตัวเองด้วยกิจกรรมที่ชอบ เช่น เล่นกับสัตว์เลี้ยง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร
- พยายามคุยกับเพื่อนและครอบครัวบ่อยๆ ระบายสิ่งที่อัดอั้นในใจ
4. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โทร.1323
หากลองทำทุกวิธีข้างต้นแล้ว ยังรู้สึกช่วยได้ไม่มากหรือไม่ได้ช่วยให้หายเครียดลงได้ แนะนำให้โทรศัพท์ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญอย่าง "สายด่วนสุขภาพจิต" โทร.1323 หรือจะปรึกษาออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊คก็ได้ที่เพจ "1323 ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต"
โดยมีทีมงานเป็นนักจิตวิทยากว่า 30 คน ที่จะคอยหมุนเวียนมาไห้บริการตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่เสียค่าบริการใดๆ (แต่ถ้าจะคุยผ่าน Chatbot ทาง Inbox ของเฟซบุ๊ค จะให้บริการเวลา17.00 - 22.00 น.)
-------------------------
อ้างอิง :