‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘ทรงตัว’ ที่32.86บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘ทรงตัว’ ที่32.86บาทต่อดอลลาร์

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยที่มีแนวโน้มเลวร้ายต่อเนื่อง กดดันให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์ไทย และการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก กดดันบาทอ่อนค่า ขณะที่คาดธปท.ทยอยขายดอลลาร์ลดความผันผวนและไม่ให้บาทอ่อนค่าเร็วเกิดไป มองกรอบเงินบาทวันนี้32.80-32.95 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.86 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัว จากระดับปิดวันก่อนหน้า  มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-32.95 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัจจัยหลัก คือ ปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ในไทย

โดย หากสถานการณ์การระบาดในไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น และเรามองว่า จุดเลวร้ายสุดของการระบาดยังมาไม่ถึง ทำให้ เราคงประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติก็ยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยซึ่งแรงเทขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติยังคงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท อาจทำให้ผู้นำเข้าต้องรีบกลับเข้ามาแลกซื้อเงินดอลลาร์ หรือ สกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนที่ผู้นำเข้ามักจะมีภาระจ่ายเงินออกเป็นสกุลเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมจากบรรดาผู้นำเข้าที่เร่งเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินต่างประเทศ จะทำให้โดยรวมค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงและทรงตัวในระดับเกินกว่า 32.70 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ เราคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจทยอยเข้ามาขายเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อลดความผันผวนของเงินบาท รวมถึงชะลอไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไป จนผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน และส่วนหนึ่งก็เป็นการลดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลงบ้าง เพื่อไม่ให้ถูกสหรัฐฯ มองว่า ธปท. มีการแทรกแซงค่าเงินในทิศทางเดียว

นอกจากนี้ ปัญหาการระบาดโควิด-19 ทั่วโลก ที่กดดันแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องระวังเพราะหากผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลมากขึ้น เงินดอลลาร์ก็ยังสามารถแข็งค่าขึ้นต่อได้ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) ทำให้ เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะสั้นนี้

ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าคาดจากปัญหาการระบาดของ โควิเ-19 ทั่วโลก ได้กดดันให้ตลาดเดินหน้าปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้น โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Dowjones ปิดตลาดลดลงกว่า -2.09% กดดันโดยกาปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่ม Cyclical โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวลดลงหนัก ตามราคาน้ำมันดิบที่ดิ่งลงกว่า -7% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลดลง -1.58% ขณะที่ หุ้นในกลุ่มเทคฯ ก็ปรับตัวลดลงหนักเช่นกัน แต่ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ คอยช่วยพยุงไม่ให้หุ้นกลุ่มเทคฯ ปรับฐานรุนแรง ส่งผลให้ดัชนี Nasdaq ปิดลบราว -1.06%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดลบ -2.66% ตามการปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม โดยความกังวลแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจได้กดดันให้ ตลาดเลือกจะเทขายทำกำไรหุ้นธีม Cyclical ออกมา อาทิ หุ้นเกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน Airbus -6.38%, Safran -5.02% ส่วนหุ้นกลุ่มการเงินก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน Intesa Sanpaolo -4.23%, BNP Paribas -4.19 อย่างไรก็ดี เรามองว่า การปรับฐานหุ้นยุโรปเป็นเพียงแค่การปรับฐานในระยะสั้น เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงแนวโน้มผลกำไรหุ้นยังสามารถขยายตัวได้ดี ทำให้หุ้นยุโรปจะกลับมาปรับตัวขึ้นต่อได้ไม่ยาก สอดคล้องกับมุมมองของผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่จาก Bank of America’s Global Fund Manager Survey ล่าสุด ที่มีมุมมองที่เป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้นยุโรปมากขึ้น

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอลง รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ย้ำจุดยืนว่า เฟดคงมองเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นชั่วคราวและเฟดจะยังไม่รีบปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงกว่า 8bps สู่ระดับ 1.20% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ดี แม้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลดลง แต่ทว่า การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ กลับไม่ได้กดดันเงินดอลลาร์เท่าไหร่ เพราะความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven asset) เพื่อหลบความผันผวนของตลาดในระยะสั้น  ได้หนุนให้ เงินดอลลาร์ พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 92.83 จุด ส่งผลให้สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.179 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนสินทรัพย์ปลอดภัยยอดนิยม อย่างเงินเยน (JPY) ก็แข็งค่าแตะระดับ 109.5 เยนต่อดอลลาร์ เช่นเดียวกับแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ส่วนราคาทองคำ แม้จะได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ทว่าการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ก็กดดันให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,812 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรงอยู่ ซึ่งปัญหาการระบาดในหลายพื้นที่ทั่วโลกจะยังคงกดดันมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง อย่างไรก็ดี เรามองว่า รายงานผลประกอบการขอบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจของบรรดาผู้เล่นในตลาด อาจพอช่วยพยุงให้ตลาดไม่ได้ปิดรับความเสี่ยงไปทั้งหมด โดยเราประเมินว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ที่โดดเด่นจากหุ้นในกลุ่ม Cyclical จะช่วยพยุงตลาดไว้ได้ โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งทั้งสองภูมิภาคก็อาจเผชิญปัญหาการระบาดที่ไม่ได้รุนแรงมากนัก เนื่องจากมีการแจกจ่ายวัคซีนไปแล้วเกินกว่า 50% ของประชากรและเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกัน Delta หรือลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ดี ขณะที่ในฝั่งเอเชีย ผลประกอบการที่โดดเด่นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical มีแนวโน้มช่วยพยุงตลาดในประเทศที่สถานการณ์ โควิด-19 ไม่ได้เลวร้ายหรือวิกฤติ เช่น ตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น