ดับฝัน‘นิรโทษ’พ่วง ม.112 สกัดแผนเฉพาะกิจ'พท.-ปชน.’

ดับฝัน‘นิรโทษ’พ่วง ม.112 สกัดแผนเฉพาะกิจ'พท.-ปชน.’

ดับฝัน‘นิรโทษ’พ่วง ม.112 เช็กเสียงพรรคการเมือง สกัด'พท.'จับมือ‘ปชน.’ จับตาดินเนอร์ 21ต.ค. วัดพลังพรรคร่วมรัฐบาล

KEY

POINTS

  • นิรโทษกรรม พ่วงม.112 ปมร้อนวัดใจพรรคเพื่อไทย 
  • ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ ต่างแสดงจุดยืนแบบชัดเจน ไม่เอาด้วยกับการนิรโทษกรรมในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็นแบบมีเงื่อนไข และไม่มีเงื่อนไข 
  • มองเผินๆ ดูเหมือนการรอมชอมระหว่าง “2 นายใหญ่” จะปิดตำนาน "มันจบแล้วครับนาย" หรือไม่ก็แค่พักยกชั่วขณะ  จะเห็นได้ว่า ทั้งสองฝั่งยังรักษาอำนาจต่อรอง ยื่นหมูยื่นแมวกันอยู่เป็นระยะ
  • “อนุทิน” หัวหน้าพรรค ที่แม้จะถูกมองในแง่ของตัวกลางในการรอมชอมอำนาจระหว่าง2นายใหญ่ “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคภูมิใจไทย” แต่ลึกๆ แล้ว ยังซ่อนอีกบทบาท ในการเล่นบทซื้อใจ “บุคคลสำคัญ” ฝ่ายอนุรักษนิยม 
  • ข่าวคราว การจับมือรวมการเฉพาะกิจระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” ที่ถูกโยนหินออกมาก่อนหน้านี้อาจทำให้ “นายใหญ่” พรรคเพื่อไทย ได้รับอานิสงส์ทิ้งความคลางแคลงใจ ให้กับ “คีย์แมนอนุรักษนิยม” อยู่ไม่น้อย 
  • จับตาสัญญาณ“นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ล่าสุดนัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ตั้งวงดินเนอร์ในช่วงค่ำวันจันทร์ที่ 21 ต.ค.นี้

จับสัญญาณ “พรรคร่วมรัฐบาล” นิรโทษกรรม พ่วงม.112 ปมร้อนวัดใจพรรคเพื่อไทย ตอกย้ำชัดจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2567 วาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมซึ่ง กมธ. ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน

สะท้อนภาพชัดพรรคการเมืองในขั้วพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ ต่างแสดงจุดยืนแบบชัดเจน ไม่เอาด้วยกับการนิรโทษกรรมในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็นแบบมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไข 

อาทิ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก่อนหน้านี้ ตอบชัดว่า อะไรที่มันชัดเจนเราพร้อมพิจารณา หากเข้ามาแล้วมีนิรโทษกรรม มาตรา 112 พรรคภูมิใจไทยก็ไม่เห็นด้วย

เมื่อมีสัญญาณจาก“หัวหน้าพรรค” จึงไม่แปลกที่การอภิปรายในสภาฯ จะได้เห็นภาพที่บรรดา “ลูกพรรคสีน้ำเงิน” อภิปรายตามสัญญาณผู้นำแบบสคริปต์เดียวกัน

ท่ามกลางการจับตาไปที่การพบกันระหว่าง เนวิน ชิดชอบ “ครูใหญ่สีน้ำเงิน” และ “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดย“หัวหน้าพรรคสีน้ำเงิน” ยอมรับเองว่า เป็นมือประสานให้ 2 นายใหญ่พบกัน 

มองเผินๆ ดูเหมือนการรอมชอมระหว่าง “2 นายใหญ่” จะปิดตำนาน "มันจบแล้วครับนาย" หรือไม่ก็พักยกชั่วขณะ  

ดับฝัน‘นิรโทษ’พ่วง ม.112 สกัดแผนเฉพาะกิจ\'พท.-ปชน.’                                                                                               

จะเห็นได้ว่า ทั้งสองฝั่งยังรักษาอำนาจต่อรอง ยื่นหมูยื่นแมวกันอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นปมร้อนแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งรายมาตรา และทั้งฉบับ ที่เหมือนซ่อนดาบในรอยยิ้ม 

ทั้งการแก้ไขประเด็นจริยธรรม ฝั่งเพื่อไทยบอกว่าต้นเรื่องมาจาก “หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล” ก่อนที่ “อนุทิน” จะออกมายอมรับเป็นเพียงการพูดคุยในวงน้ำชา ก่อนที่ภูมิใจไทยจะมีการแถลงจุดยืนสนับสนุนให้มีการตั้งสสร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญเว้นหมวด1หมวด2

หรือกฎหมายประชามติ ที่เห็นไปคนละทิศละทาง ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” ที่สนับสนุนให้ใช้ประชามติชั้นเดียว และ “ภูมิใจไทย” ซึ่งคุมเสียงในสภาสูง ถูกมองว่า“พลิกมติ” กลับลำจากในวาระแรก ที่ยืนยันเสียงแข็งร่างภูมิใจไทยเสนอประชามติชั้นเดียว  แต่เวลานี้หันไปสนับสนุนการทำประชามติ 2 ชั้น ซึ่งอาจส่งผลไปถึงเรือธงแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย เป็นอันต้องขยับออกไป

เช็กเสียงสัญญาณสกัด'พท.'จับมือ‘ปชน.’

ไม่ต่างจากบทบาทของ “อนุทิน” หัวหน้าพรรค ที่แม้จะถูกมองในแง่ของตัวกลางในการรอมชอมอำนาจระหว่าง2นายใหญ่ “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคภูมิใจไทย” แต่ลึกๆ แล้ว ยังซ่อนอีกบทบาท ในการเล่นบทซื้อใจ “บุคคลสำคัญ” ฝ่ายอนุรักษนิยม 

หากจับจังหวะดีๆ ก็จะเห็นภาพเป็นระยะ ทั้งการประกาศ กลาง"บิ๊กอีเวนต์" ลมหายใจของแผ่นดิน ที่สนามช้าง อารีนา จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2567ที่ผ่านมา เป็นพรรค “เลือดสีน้ำเงินเข้ม”

ฉะนั้น ข่าวคราวการเปลี่ยนหัวขบวนอนุรักษนิยม ดัน “อนุทิน”สู่ตำแหน่งสูงสุด ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว แต่อาจขึ้นอยู่ที่การจัดวางบทบาทเฉลี่ยดุลอำนาจเสียมากกว่า 

ดับฝัน‘นิรโทษ’พ่วง ม.112 สกัดแผนเฉพาะกิจ\'พท.-ปชน.’

ไม่ต่างจาก “พรรครวมไทยสร้างชาติ” และ “พรรคประชาธิปัตย์”  ที่แตกแขนงมาจาก“อำนาจเก่า”  แถมยังเคยเป็นหัวขบวนฝ่ายขวาแต่เดิม โอกาสจะสนับสนุนการนิรโทษกรรม มาตรา 112 คือเป็นศูนย์ 

ฝั่ง “พรรคเพื่อไทย” ที่แม้ว่า ท่าทีล่าสุดของบรรดาแกนนำ อาทิ “ชูศักดิ์” ในฐานะประธาน กมธ.จะยืนยันว่า การอำนวยความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.110 และ ม.112 ยังคงเป็นประเด็นที่อ่อนไหว และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ แต่ข้อสังเกตของ กมธ.ไม่ได้บังคับ หรือผูกมัด ครม.ที่จะต้องดำเนินการ ตามที่เสนอ

มองเผินๆ เหมือนจะไม่เอาด้วย กับประเด็นนิรโทษกรรมพ่วง ม.112 แต่อย่างที่รู้กัน ท่ามกลางข่าวคราว การจับมือรวมการเฉพาะกิจระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” ที่ถูกโยนหินออกมาก่อนหน้านี้

โดยเฉพาะในประเด็นการนิรโทษกรรม คดีตาม ม.112 ซึ่งอาจทำให้ “นายใหญ่” พรรคเพื่อไทย ได้รับอานิสงส์ตรงนี้เป็นของแถมด้วย  

“พรรคส้ม”เองก็เหมือนจะเห็นช่องตรงนี้พยายามไล่บี้ทวงถามจุดยืนในเรื่องดังกล่าว 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมทิ้งความคลางแคลงใจ ให้กับ “คีย์แมนอนุรักษนิยม” อยู่ไม่น้อย 

ดับฝัน‘นิรโทษ’พ่วง ม.112 สกัดแผนเฉพาะกิจ\'พท.-ปชน.’

ฉะนั้น เกมที่ส่อแววจะยืดเยื้อออกไปแบบไม่มีกำหนด โดยเฉพาะการประชุมสภาฯล่าสุด ที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จนกระทั่ง "พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน" รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ต้องชิงตัดจบ ปิดประชุม โดยที่วาระดังกล่าวยังค้างเติ่งอยู่ในสภาฯ 

จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำ “เกมวัดพลัง” โดยเฉพาะซีกรัฐบาล ท่ามกลางคำถามว่า พรรคเพื่อไทยจะเล่นหน้าไหน ในประเด็นนี้ 

 จับตาดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล 21ต.ค. 

ล่าสุด มีสัญญาณจาก “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ตั้งวงดินเนอร์ในช่วงค่ำวันจันทร์ที่ 21 ต.ค.นี้

ดับฝัน‘นิรโทษ’พ่วง ม.112 สกัดแผนเฉพาะกิจ\'พท.-ปชน.’

ว่ากันว่า วาระร้อนที่น่าจะถูกหยิบยกมาหารือในวงดินเนอร์ น่าจะมีทั้ง การเคลียร์ใจสารพัดปมร้อนก่อนหน้านี้ ที่ปรากฎภาพ เกมวัดพลังภายในพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งกฎหมายประชามติประตูสู่การแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม สรุปแล้วต่างฝ่ายจะเอาอย่างไรกันแน่

ท่ามกลางอำนาจต่อรอง ที่ต่างฝ่ายต่างถือในมือ เพื่อไทยถืออำนาจฝ่ายบริหาร และเสียงสภาฯล่าง 141 เสียง ขณะที่พรรคภูมิใจไทยมีเสียงสส.70 เสียง บวกเสียงพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง และพรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง ยังไม่นับรวมพลังประชารัฐ20เสียงที่เวลานี้ถูกจัดอยู่ในซีกฝ่ายค้าน แต่ประกาศชัดไม่เอาด้วยกับประเด็น112 แถมมีเสียงสภาสูงที่เวลานี้ถูกปกคลุมด้วยสีน้ำเงิน

ต้องจับตาว่า ฝ่ายใดจะช่วงชิงโอกาส ความได้เปรียบทางการเมืองได้มากกว่ากัน