สุมไฟการเมือง ‘นิรโทษ 112’ สัญญาณ‘ผบ.เหล่าทัพ’ สั่ง‘นิ่ง’

สุมไฟการเมือง ‘นิรโทษ 112’  สัญญาณ‘ผบ.เหล่าทัพ’ สั่ง‘นิ่ง’

คงต้องวัดใจ "รัฐบาลเพื่อไทย"ว่า วาระการเมืองเรื่องการเข็นกฎหมายนิรโทษกรรมความผิดอาญาจะพ่วงคดี ม.112 ที่“นายใหญ่”เพิ่งถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้องหรือไม่

KEY

POINTS

  • มุมมอง ผบ.เหล่าทัพ คดีม.112 ไม่ใช่คดีการเมือง และไม่เห็นด้วยการนิรโทษกรรมมาตลอด
  • “หน่วยเหนือ”ของกองทัพ ประชุมหาข้อสรุป กรณีมีผู้กระทำความผิด ม.112 เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ดำเนินคดี เนื่องจากทำผิดซ้ำซาก
  • รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติไว้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง และเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ถือเป็น “ปีมหามงคล” เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2567 “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม เป็นประธานแถลงข่าว “กลาโหมรวมใจ-เดินวิ่ง ด้วยหัวใจที่เทิดทูน” ด้วยการน้อมนำพระราชดํารัสของรัชกาลที่ 9 “กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ” มาเป็นหลักคิดในการจัดกิจกรรม หวังพัฒนาคน ชุมชน ต่อยอดไปสู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยกิจกรรมจะจัดวันที่ 1 ก.ย.2567 ตั้งเป้าประชาชนเข้าร่วมกว่า 3,000 คน

พร้อมกำชับหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ 28 ก.ค.2567 ให้ยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติสูงสุด

รวมทั้งให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม-เหล่าทัพ เชิญชวนกำลังพลและครอบครัวทุกนายเข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระพรชัยมงคล และถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังทำวัตรเย็นในทุกวันจันทร์ ณ วัดทุกวัดในประเทศไทย โดยพร้อมเพรียงกัน

นี่เป็นบทบาทหนึ่งของ “สุทิน คลังแสง” ในฐานะ รมว.กลาโหม แสดงออกในการปกป้อง เทิดทูนสถาบัน พระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติการจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ 2551 มาตรา 8 ข้อ 2 ที่ได้กำหนดบทบาทหน้าที่กระทรวงกลาโหมไว้ชัดเจน

เช่นเดียวกับ “ผบ.เหล่าทัพ” ที่มีจุดยืนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งนอกจากการพิทักษ์ ปกป้อง และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้ว จะมิยอมให้กลุ่มบุคคลใดกระทำการล่วงเกินสถาบันสูงสุดของประเทศโดยเด็ดขาด

พร้อมกำหนดไว้ใน “ประมวลจริยธรรมทหาร” ให้กำลังพลทุกเหล่าทัพปฏิบัติ ต้องยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งจักต้องพิทักษ์ รักษา ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และเชิดชูรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า ดำรงความสำคัญของความเป็นชาติไทย และการจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันที่เคารพสูงสุดของประเทศชาติ

 ท่ามกลางสถานการณ์ร้อน ซึ่งถูกจับตาเรื่อง “นิรโทษกรรมในปีมหามงคล” นั่นคือ การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาฯ ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้เตรียมเสนอผลศึกษาต่อสภาฯ ในช่วงเปิดสมัยประชุมในเดือน ก.ค.นี้

ประเด็นที่ถูกจับจ้อง “นิรโทษกรรม” จะรวมคดี ม.112 ด้วยหรือไม่นั้น ในฝ่ายการเมืองยังมีความเห็นต่าง และเริ่มกลายเป็นประเด็นสุมไฟการเมืองอีกครั้ง เมื่อมีตัวละครสำคัญ อย่างอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร รวมอยู่ด้วย 

คดีนี้ น่าสนใจตรงที่คดีนี้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในขณะนั้น สั่งให้เจ้าหน้าที่กรมพระธรรมนูญ ไปแจ้งความเอาผิดทักษิณ ชินวัตร ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2558 และพูดพาดพิงสถาบันฯ กระทั่งศาลได้อนุมัติหมายจับ 

 ตัดมาที่สถานการณ์เวลานี้ รัฐมนตรี “สุทิน คลังแสง” ซึ่งอยู่ในค่ายเพื่อไทยที่กำลังผลักดันร่างกฎหมายนี้ ก็พยามช่วยหยั่งกระแสจากฝ่ายกองทัพ 

โดยหวังใช้เวทีสภากลาโหม 26 มิ.ย. เปิดรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายความมั่นคง ทั้ง พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ. ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. พล.อ.อ. พันธุ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. เพื่อเป็นแนวทางเสนอรัฐบาล

“คดีม.112” ในมุมมอง “ผบ.เหล่าทัพ” แม้ไม่พูด ก็พอจะเดาคำตอบได้ว่า ไม่ใช่คดีการเมือง เพราะอ้างอิงจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติไว้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง และเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และไม่ควรนำสถาบันลงมายุ่งกับการเมือง

โดยที่ผ่านมาจุดยืน “ผู้นำเหล่าทัพ” ทุกยุคสมัยไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี ม.112 มาแต่ไหนแต่ไร ขึ้นอยู่กับการแสดงออก 

และสำหรับ ผบ.เหล่าทัพชุดปัจจุบันนี้ ล่าสุดได้มีคำสั่ง“ทุกคนต้องนิ่ง”

ดังนั้น 26 มิ.ย.นี้ “สุทิน” อาจได้ยินแค่เพียงคำพูดท่องเป็นสูตรคูณจาก ผบ.เหล่าทัพ ที่ย้ำถึงบทบาทหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติตามกรอบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมถึง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม มาตรา 8 ข้อ 2

ก่อนหน้านี้ “หน่วยเหนือ”ของกองทัพ เคยประชุมหารือ เพื่อหาข้อสรุป กรณีมีผู้กระทำความผิด ม.112 ซึ่งระยะหลังเป็นเยาวชน ควรให้โอกาสหรือไม่ 

มีเพียง"เสียงส่วนน้อยเห็นด้วย" ขณะที่"เสียงส่วนใหญ่คัดค้าน" ด้วยเหตุผล ทำผิดซ้ำซาก ควรถูกดำเนินคดีและปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมจนกว่าคดีสิ้นสุด หากสำนึกผิด สามารถใช้ช่องทางขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลได้

จากนี้ คงต้องวัดใจรัฐบาลเพื่อไทยว่า วาระการเมืองเรื่องการเข็นกฎหมายนิรโทษกรรมความผิดอาญาจะพ่วงคดี ม.112 ที่“นายใหญ่”เพิ่งถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้องหรือไม่ 

เมื่อสัญญาณคำสั่ง"นิ่ง"ของ“ผบ.เหล่าทัพ”เป็นคำตอบส่วนหนึ่งจากฝ่ายความมั่นคง ที่อาจถูกตีความอย่างเลี่ยงไม่ได้