เปิดรายชื่อ 'จังหวัด' ออกมาตรการคุม 'โควิด' สั่งปิดสถานที่-กำหนดเงื่อนไขเดินทาง เช็คที่นี่
อัพเดตรายชื่อ "จังหวัด" ประกาศมาตรการควบคุม "โควิด" สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว-กำหนดเงื่อนไขเดินทาง เช็คที่นี่
วันที่ 20 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังพล.อ.แระยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 ก.ค.2564 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 10/2564 ลงวันที่ 17 ก.ค.2564 กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 53 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 10 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูง 1 จังหวัด โดยมีผลตั้งแต่วันนที่ 20 ก.ค. เป็นต้นไป "กรุงเทพธุรกิจ" รวบรวมคำสั่งและประกาศของจังหวัดต่างๆ มีดังนี้
1.ศูนย์ข้อมูล covid19 จังหวัดนนทบุรี ได้เผยแพร่ประกาศคำสั่งนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนนทบุรี ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดนนทบุรี มีคำสั่งจังหวัดนนทบุรี ที่ 1965/2564 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 57) มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2564 กําหนดมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
1.ร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เปิดถึงเวลา 20.00 น.ห้ามบริโภคในร้าน ให้นำกลับไปบริโภคที่อื่น
2.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และสถาน ประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เปิดถึงเวลา 20.00 น.ให้เปิดเฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์ และการให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์
3.โรงแรม เปิดได้ตามเวลาปกติ ให้งดกิจกรรมการจัดประชุม การสัมมนา หรือการจัดเลี้ยง
4.ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด เปิดถึงเวลา 20.00 น (ปิดเวลา 20.00 – 04.00 น)
5.โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรมและสถานศึกษาต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรการที่ได้กําหนดไว้แล้วก่อนหน้า
เปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็นและปฏิบัติตาม มาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำาหนดอย่าง เคร่งครัด ได้แก่ การดำเนินการของโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์ รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคารตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจําหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยา และเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจําหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจําเป็นสถานที่จำหน่ายแก๊สหุง ต้ม เชื้อเพลิง ปั้มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส และการบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (delivery online)
2.จังหวัดภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ลงนามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 4021/2564 เรื่อง กำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับคนไทยจากต่างจังหวัดหรือคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564 มีเนื้อหา ดังนี้ เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติด้านสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตจึงจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจังเพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็ว โดยการกำหนดมาตรการที่มุ่งลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคลเพื่อลดการรวมกลุ่มบุคคลและเร่งมาตรการด้านการป้องกันและควบคุมโรค การฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของโรค การรักษาพยาบาล ขณะเดียวกันยังคงมาตรการเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ โดยมีมาตรการที่สำคัญ ดังนี้
ผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดจำนวน 53 จังหวัดและพื้นที่ควบคุมจำนวน 10 จังหวัดรวมทั้งสิ้น 76 จังหวัด การเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค Covid 19 ชนิดชิโนแวค, ชิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็มหรือได้รับวัคซีนชนิด Astrazeneca ,ไฟเซอร์, Moderna , Johnson & Johnson จำนวน 1 เข็มมาแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือเป็นผู้ที่หายจากอาการป่วยด้วยโรค Covid 19 มาแล้วไม่เกิน 90 วันและต้องได้รับการตรวจหาเชื้อCovid19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen test ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับการตรวจ ยกเว้นเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีจนถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การได้รับวัคซีนและเดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ให้มีการตรวจหาเชื้อ Covid19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen test ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับการตรวจ
กรณีนักเรียนนักศึกษาอายุไม่ถึง 18 ปี ที่ไม่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และมีความจำเป็นต้องเดินทางผ่านเข้าออกจังหวัดเพื่อการเรียนการศึกษา ให้หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาหรือศึกษาธิการจังหวัดออกบัตรประจำตัวรูปแบบเดียวกันแสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเดินทางผ่านเข้าออกจังหวัดภูเก็ต และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR และออกใบรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้มีผลใช้ได้ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน
กรณีผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดภูเก็ต หรือมีภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่หรือทำงานในจังหวัดภูเก็ตต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับการตรวจยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า6ปี จนถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับวัคซีน และเดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับการตรวจและต้องมีหนังสือรับรองจากพนักงานฝ่ายปกครอง นายอำเภอหรือผู้ได้รับมอบหมายตามแบบรับรองแนบท้ายคำสั่งนี้
หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2564
3.คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา มีมติในที่ประชุมปรับเพิ่มมาตรการเช่นกัน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 2564 โดยกำหนดให้ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาเก็ต ตลาด ร้านสะดวกซื้อ ปิดเวลา 21.00 น. รวมทั้งงดจำหน่ายดื่มสุราในร้าน และในพื้นที่บ้าน อาคาร หอพัก ห้ามรวมกลุ่มดื่มสุราเช่นกัน ส่วนร้านตัดผม แต่งผม คลินิกเสริมความงามศูนย์พระเครื่อง ให้ปิดชั่วคราว โรงแรม งดการจัดประชุม-สัมมนา และในส่วนการงดออกจากเคหสถานได้ปรับเป็นเวลา 21.00-04.00 น.
4.กรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 37) มีเนื้อหาระบุว่า ด้วยได้มีการประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2648 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม2564 โดยจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติมขึ้นจากข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด โดยการกำหนดมาตรการที่จำเป็นและต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน
เพื่อลดการออกนอกคหสถานของประชาชนอันเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด - 19 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดที่ได้กำหนดเป็นเขตพื้นที่ ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และโดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อโรคกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพ โดยเฉพาะบุคคลกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่แม้บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ประจำในที่พำนัก แต่ประวัติการสัมผัสเชื้อมักเกิดขึ้นในครอบครัว โดยการติดต่อสัมผัสกับบุคคลที่ได้มีการเดินทาง ซึ่งจากข้อมูลพบและแพร่ระบาดในครอบครัวและเขตชุมชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอัตราเพิ่มจำนวนขึ้นสูงมาก แม้จะได้มีการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้วก็ตาม แต่ย่อมต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ไม่อาจเกิดขึ้นโดยเร็ว สิ่งที่ต้องร่วมมือกันในเวลานี้ คือ ชะลออัตราการระบาดที่รุนแรงของโรค โดยต้องหยุดยั้งการกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นความเสี่ยงหรือเป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่ระบาดออกไป
โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อมีคำสั่งปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยงเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยให้ดำเนินการต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลาสิบ 14 วัน ดังนั้นเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35(1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 22/2564 เมื่อวันที่18 กรกฎาคม 2564 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
1.ให้ปิดสถานที่ที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่ เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 14 มิถุนายน2564 (ฉบับที่ 33) ลงวันที่ 20 มิถุนายน2564 (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 27 มิถุนายน2564 (ฉบับที่ 35 ) ลงวันที่ 5 กรกฎาคม2564 และ (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม2564 และตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 โดยสำหรับการให้บริการตามข้อ 2 ถึงข้อ 6 ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบระเบียบและมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากที่ได้เคยกำหนดไว้แล้ว
2.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการได้ จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคในร้านและให้ดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันให้เปิดให้บริการได้เฉพาะแผนกชูเปอร์มาร์เก็ตแผนกยาและเวชภัณฑ์ พื้นที่ซึ่งจัดให้เป็นการให้บริการฉีดวัคนหรือบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่น ๆ ของภาครัฐ โดยให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา
4.โรงแรมให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติโดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนาหรือการจัดเลี้ยง
5.ร้านสะดวกซื้อและตลาดสด ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา โดยจำกัดเวลาสำหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดให้บริการในระหว่างเวลา 20.00 นาฬิกาถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น
6.โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้
สำหรับการดำเนินการของโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยาร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ธุรกรรมการเงินธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสินค้าเป็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิงปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส ตลาดนัด (เฉพาะส่วนที่จำหน่ายอาหารและวัตถุดิบเพื่อการบริโภค สถานรับเลี้ยงเด็ก (เฉพาะสถานที่รับเลี้ยงเต็กในโรงพยาบาลและที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ) สถานดูแลผู้สูงอายุ (เฉพาะที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ) ธุรกิจประกันภัย หน่วยบริการงานช่วยเหลือกู้ภัย ศูนย์บริการหรือร้านซ่อมแซมยานพาหนะ ร้านแบตเตอรี่ หน่วยบริการตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงระบบสาธารณูปโภคระบบระบายน้ำ ระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าชธรรมชาติ ผู้จัดเก็บและกำจัดขยะ รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (delivery online) ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็น โดยให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันที่2 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ประกาศ ณ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2564
5.พระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ยกระดับพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้ม ตามศบค.ที่ 10/2564 โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทาง เฉพาะเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งจุดตรวจจำนวน 9 จุด ในถนนสายหลักตลอด 24 ชั่วโมง และถนนสายรองเข้าจังหวัดให้ตั้งจุดตรวจ ในช่วงเวลา 21.00-04.00 น. จากการบูรณาการกำลังพลปฏิบัติร่วมกับฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และสาธารณสุข