เอเชียแข่งสะสมอาวุธ แห่ซื้อ-พัฒนา ‘ขีปนาวุธ' ใหม่
![เอเชียแข่งสะสมอาวุธ แห่ซื้อ-พัฒนา ‘ขีปนาวุธ' ใหม่](https://image.bangkokbiznews.com/image/kt/media/image/news/2021/07/21/950144/750x422_950144_1626825382.jpg?x-image-process=style/LG)
เอเชียแข่งสะสามอาวุธแห่'ซื้อ-พัฒนาขีปนาวุธ'ใหม่ ขณะที่ชาติขนาดเล็กที่ในอดีตไม่เคยมีความทะเยอทะยานในเรื่องของการสะสมอาวุธร้ายแรงมาก่อน ในวันนี้กลับสร้างขีปนาวุธพิสัยการยิงระยะไกล ตามรอยเท้าประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐ
นักวิเคราะห์ในแวดวงอาวุธโลก มีความเห็นว่า ขณะนี้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย กำลังก้าวเข้าสู่สนามการแข่งขันสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยชาติขนาดเล็กที่ในอดีตไม่เคยมีความทะเยอทะยานในเรื่องของการสะสมอาวุธร้ายแรง ในวันนี้กลับสร้างขีปนาวุธพิสัยการยิงระยะไกล ตามรอยเท้าประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐ
เช่น จีนมีขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบ DF-26 หรือตงเฟิง-26 เป็นขีปนาวุธที่มีความสามารถในการโจมตีที่หลากหลายและมีพิสัยการยิงต่อสู้ไกลถึง 4,000 กิโลเมตร ขณะที่สหรัฐก็กำลังพัฒนาอาวุธรูปแบบใหม่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรับมือกับกองทัพจีนในมหาสมุทรแปซิฟิก
ส่วนประเทศอื่นๆในภูมิภาคกำลังซื้อหรือไม่ก็พัฒนาขีปนาวุธใหม่ๆของตนเอง เพราะวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับการแผ่อิทธิพลทางทหารของจีน บวกกับการอยากลดการพึ่งพาสหรัฐด้วย
บรรดานักวิเคราะห์ นักการทูตและเจ้าหน้าที่ทหาร มีความเห็นว่า ก่อนจะถึงระยะ 10 ปีนี้ ภูมิภาคเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่มีเขี้ยวเล็บด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น มีขีปนาวุธที่มีพิสัยการยิงไกลขึ้นและมีความสามารถในการทำลายล้างสูงขึ้น
“แนวโน้มการใช้ขีปนาวุธในเอเชียจะเปลี่ยนไปและเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ”เดวิด ซานโทโร ประธานแปซิฟิก ฟอรัม กล่าว
นักวิเคราะห์มีความเห็นว่า บรรดาประเทศในเอเชียจะครอบครองอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆที่มีความแม่นยำมากขึ้นและเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งได้เป็นเจ้าของอาวุธนั้นแล้ว บรรดาประเทศเพื่อนบ้านเห็นก็อยากจะครอบครองบ้างเพราะไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ส่วนการมีขีปนาวุธก็ถือเป็นผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์คือช่วยสกัดกั้นศัตรู และช่วยยกระดับความสัมพันธ์กับบรรดาพันธมิตร ทั้งยังช่วยให้มีผลกำไรจากการส่งออกอาวุธด้วย
ข้อมูลจากเอกสารด้านการทหารปี 2564 ระบุว่า กองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกของกองทัพสหรัฐ หรืออินโดพาคอม มีแผนที่จะติดตั้งอาวุธพิสัยไกลรุ่นใหม่ มีความแม่นยำสูง ตามแนวสายโซ่แห่งดินแดนวงล้อมชั้นแรก หรือ “First Island Chain” ที่หมายถึง เส้นซึ่งลากเชื่อมเกาะใหญ่ที่รายล้อมอยู่นอกชายฝั่งทะเลของจีน ไล่ตั้งแต่หมู่เกาะริวกิวของประเทศญี่ปุ่น ตอนเหนือของคาบสมุทรเกาหลี จากนั้นลงมาทางใต้ ผ่านไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทะเลที่สำคัญของจีน
อาวุธใหม่ที่ว่านี้ ครอบคลุมถึงขีปนาวุธพิสัยไกล ความเร็วไฮเปอร์โซนิค ( LRHW : Long-Range Hypersonic Weapon ) ของ กองทัพบกสหรัฐ โดยขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกสามารถขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลก และอยู่สูงเกินขอบเขตของระบบต่อต้านขีปนาวุธ ของข้าศึก
เมื่อขีปนาวุธนี้พร้อมที่จะโจมตี ก็สายเกินไปที่ระบบป้องกันจะตอบสนอง ด้วยความแม่นยำและความเร็วที่สูงมาก บวกกับ ความคล่องแคล่วในการหลบหลีกด้วยความเร็วไฮเปอร์โซนิค ทำให้ขีปนาวุธนี้สามารถโจมตีได้ทุกที่ในโลกภายในเวลาไม่กี่นาที
โฆษกอินโดพาคอม บอกว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะติดตั้งอาวุธนี้ที่ไหน และจนถึงตอนนี้ บรรดาประเทศพันธมิตรสหรัฐส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังคงลังเลที่จะรับเป็นประเทศที่ตั้งอาวุธนี้ ถ้าหากตั้งในเกาะกวม ซึ่งเป็นเขตแดนของสหรัฐ ขีปนาวุธพิสัยไกลความเร็วไฮเปอร์โซนิค อาจจะไม่สามารถที่จะโจมตีจีนได้
ส่วนที่ญี่ปุ่น แหล่งข่าวงในของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ปฏิเสธจะเปิดเผยชื่อเพราะประเด็นนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อน บอกว่า ญี่ปุ่นซึ่งมีทหารอเมริกันประจำการอยู่ 54,000 นายอาจเป็นที่ตั้งขีปนาวุธใหม่บนเกาะโอกินาวาแต่สหรัฐอาจจะต้องถอนกองกำลังอื่นๆออกจากเกาะแห่งนี้
บรรดานักวิเคราะห์มีความเห็นเพิ่มเติมว่า หากญี่ปุ่น อนุญาตให้ขีปนาวุธอเมริกันเข้าไปตั้งในประเทศ และขีปนาวุธนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพอเมริกันยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่จีนมากขึ้น
ถึงอย่างนั้นพันธมิตรของสหรัฐบางประเทศกำลังพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ของตัวเอง เช่น ออสเตรเลียที่ไม่นานมานี้ ประกาศว่าจะใช้เงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 20 ปีเพื่อพัฒนาขีปนาวุธก้าวหน้าของตัวเอง
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจีนแสดงให้เห็นว่าการพึ่งพาระบบห่วงโซ่อุปทานโลกในช่วงเกิดวิกฤตสำหรับสิ่งของสำคัญ และในช่วงสงคราม ที่รวมถึงขีปนาวุธก้าวหน้าเป็นความผิดพลาด เพราะฉะนั้นจึงเป็นการคิดเชิงกลยุทธ์ที่สมเหตุสมผลที่ออสเตรเลียต้องผลิตอาวุธเอง”ไมเคิล โชบริดจ์ นักวิเคราะห์จากสถาบันด้านนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย กล่าว