'พักชำระหนี้' กับ 'พักหนี้' ไม่เหมือนกัน! เช็คเงื่อนไข ก่อนร่วม 'มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้'
ทำความเข้าใจก่อนเข้าร่วม "มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้" เมื่อ "พักหนี้" กับ "พักชำระหนี้" มีความแตกต่างกัน
หลังจากรัฐบาลประกาศความร่วมมือกับ "ธนาคารของรัฐ" และ "ธนาคารพาณิชย์" ออกมาตรการ "ช่วยลูกหนี้" เพื่อแบ่งเบาภาระค่างวด หลังจากที่มีการยกระดับความเข้มข้นของการ "ล็อกดาวน์" ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ โดยมีมาตรการ "พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 เดือน"
หลายคนเข้าใจผิดว่าการ "พักชำระหนี้" คือการหยุดจ่ายหนี้เฉยๆ แต่นั่นผิดถนัด!
เพราะความเป็นจริงแล้วการพักชำระหนี้ ยังคงมีการคิดดอกเบี้ยอยู่ แต่จะถูกคิดในภายหลัง ต่างจากการ "พักหนี้" ที่เป็นการพักชำระแบบหยุดคิดดอกเบี้ยด้วย
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะและเงื่อนไขที่แตกต่างกันระหว่างการ "พักชำระหนี้" และการ "พักหนี้" เพื่อให้เข้าใจก่อนเข้าร่วมมาตรการ และวางแผนการชำระหนี้คืนได้ง่ายขึ้น
- พักชำระหนี้
พักชำระหนี้ หมายความว่า งวดที่ได้รับการพักชำระหนี้จะ "ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย" แต่ธนาคารจะยังคิดดอกเบี้ยของแต่ละงวดต่อไปเรื่อยๆ แล้วค่อยมาเรียกเก็บดอกเบี้ยในภายหลัง
เช่น นาย ก. เป็นลูกค้าของธนาคาร ที่ให้มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ระหว่างที่มีการพักชำระหนี้ นาย ก. ไม่ต้องชำระเงินให้กับธนาคารเลยในช่วง 2 เดือนนั้นเนื่องจากถูกพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยไว้
แต่หลังจากพ้นระยะเวลาพักชำระหนี้ 2 เดือนนี้ แล้ว นาย ก. จะต้องกลับมาผ่อนชำระค่างวดตามปกติในงวดถัดไป และจะต้องจ่ายดอกเบี้ยของงวดที่ถูกพักชำระหนี้ไปด้วย
ตัวอย่างการพักชำระหนี้
เช่น สมมติมียอดหนี้คงเหลืออยู่ 1,000,000 บาท โดยปกติต้องผ่อนชำระเดือนละ 10,000 บาท (เงินต้น 4,000 บาท ดอกเบี้ย 6,000 บาท) หลังพักชำระหนี้ นาย ก. ต้องกลับมาผ่อนชำระ 10,000 บาทตามปกติ + ดอกเบี้ยค้างชำระ 2 เดือนที่พักชำระหนี้ไป คือเดือนละ 6,000 เป็นเวลา 2 เดือน เท่ากับมีดอกเบี้ยคงค้างจากงวดที่พักชำระหนี้จำนวน 12,000 บาท
ทั้งนี้ ดอกเบี้ยคงค้างจะไม่เรียกเก็บในทันที อาจเรียกเก็บในการผ่อนชำระงวดสุดท้าย หรือมีรูปแบบอื่นๆ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร
แม้จะมีดอกเบี้ยวิ่งอยู่ แต่ ข้อดีของการพักชำระหนี้ คือ 1. มีเงินสดเหลือสำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นในช่วงวิกฤติ 2. ไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ และ 3. ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- พักหนี้
"พักหนี้" หมายความว่า ในงวดที่ได้รับการพักหนี้ให้ "ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย" และธนาคารจะ "หยุดคิดดอกเบี้ยในช่วงที่เราพักหนี้" ด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ เราจะไม่ต้องจ่ายอะไร และไม่มีอะไรติดค้างจากงวดมีการ "พักหนี้" เลย เมื่อหมดการพักหนี้แล้ว ก็กลับมาจ่ายหนี้ตามสัญญาปกติ
ตัวอย่างคือ นาย ข. เป็นลูกค้าของธนาคารที่มีมาตรการพักหนี้ 2 เดือน เขาไม่ต้องชำระเงินให้กับธนาคารเลย ในงวดที่ธนาคารพักหนี้ให้ เหมือนกับกรณีการพักชำระหนี้ แต่ในระหว่าง 2 เดือนที่ไม่ได้ชำระหนี้นั้น ธนาคารจะ "หยุดคิดดอกเบี้ย" ของนาย ข. ด้วย
ซึ่งหมายความว่า เมื่อพ้นระยะเวลาพักหนี้ไปแล้ว นาย ข. จะสามารถกลับมาผ่อนชำระค่างวดเดือนละ 10,000 บาทตามเดิม ในงวดต่อไปได้ตามปกติ เหมือนว่า 2 เดือนที่ผ่านมาธนาคารหยุดเวลาไว้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นการ "พักหนี้" จึงต่างจากการ "พักชำระหนี้" ตรงที่ทำให้ลูกหนี้ไม่มีดอกเบี้ยค้างจ่ายกับธนาคารตามมาทีหลังนั่นเอง
ดังนั้น ผู้ที่ร่วมมาตรการ "พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย" อาจต้องเตรียมตัวในการผ่อนชำระหนี้ในส่วน "ดอกเบี้ย" ช่วงที่มีการพักชำระหนี้ให้ไว้ด้วย
ส่วนผู้ที่ยังมีกำลังในการจ่ายไหวในช่วงนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย แนะนำว่า
"การเลื่อนกำหนดชำระหนี้ออกไป (พักชำระหนี้) ภาระหนี้จะยังคงอยู่และในช่วงที่ผ่อนปรน ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ ซึ่งแต่ละคนอาจได้รับผลกระทบแตกต่างกันและสามารถเลือกวิธีผ่อนชำระที่เหมาะสมกับรายได้และเงินในกระเป๋าสตางค์ของตัวเองได้
หากยังอยู่ในกลุ่มที่ยังพอมีศักยภาพ อาจเลือกชำระตามปกติเพราะจะช่วยให้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเติม หนี้ไม่เพิ่ม และบางธนาคารให้สิทธิพิเศษปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม แต่สำหรับท่านที่ได้รับผลกระทบ มีสภาพคล่องไม่พอ แนวทางการเลื่อนหรือพักชำระหนี้ก็จะเป็นทางออกหนึ่งสำหรับช่วงนี้ด้วย"
- ลูกหนี้ที่อยากขอ "พักชำระหนี้ 2 เดือน" ต้องทำอย่างไร ?
1. ตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่มาตรการกำหนดหรือไม่
2. แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน กับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่เป็น "เจ้าหนี้" ของเรา
ที่มา: เฟซบุ๊คธนาคารแห่งประเทศไทย เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย กรุงเทพธุรกิจ