นายกฯ ถก ศบศ.วันนี้ หารือเปิด 'กระบี่-พังงา'
นายกฯ เรียกประชุม ศบศ.วันนี้ หามาตรการช่วยเหลือเยียวยา ประชาชน-ธุรกิจเพิ่มเติม หลังหารือกลุ่ม 40 ซีอีโอพลัส พร้อมเคาะมาตรการส่งเสริมท่องเที่ยวในพื้นที่กระบี่-พังงา
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (22 ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ.
ทั้งนี้ เพื่อหารือสถานการณ์เศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน รวมไปถึงมาตรการเยียวยาต่าง ๆ เพิ่มเติมหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น
สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเสนอภาวะเศรษฐกิจไทยล่าสุดโดยใช้ข้อมูลการติดตามเศรษฐกิจรายเดือนซึ่งจะเห็นผลกระทบเศรษฐกิจได้ชัดเจนขึ้น ส่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะรายงานข้อมูลการเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวซึ่งได้ดำเนินการในสองพื้นที่แล้วได้แก่ในส่วนของ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และ สมุยพลัสโมเดล
ทั้งนี้ จะมีการเสนอเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวเพิ่มเติมในพื้นที่เกาะต่างๆที่จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ง่ายรวมทั้งยังเสนอให้เปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นเพิ่ม ได้แก่ จ.กระบี่ และ จ.พังงา
สำหรับก่อนหน้านี้ ททท.ระบุว่าในการประชุม ศบศ. ครั้งนี้ นอกจากจะมีการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงมาตรการเยียวยาแล้ว ที่ประชุมยังเตรียมหารือถึงเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เตรียมรายงานความคืบหน้าของการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เริ่มต้นทำแล้วใน 2 พื้นที่นำร่อง คือจังหวัดภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี ผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัสโมเดล
อีกทั้งยังเตรียมเสนอให้เปิดพื้นที่นำร่องเพิ่มเติมในจังหวัดอื่นเข้ามาด้วย เช่น จังหวัดกระบี่ และพังงา ซึ่ง ททท.ยังเตรียมเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาการเปิดเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวแบบจำกัด (ซีล รูท) เชื่อมระหว่างภูเก็ต ไปยังเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ,เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เล จังหวัดกระบี่ และเขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา เริ่มในวันที่ 1 ส.ค.นี้ โดยการทำซีลรูทครั้งนี้ จะทำในรูปแบบ 7+7 คือ เข้ามาอยู่ในจังหวัดภูเก็ตก่อน 7 วัน มีการตรวจเชื้อเป็นลบจากนั้นจึงเดินทางไปยังเกาะต่าง ๆ ตามเส้นทางที่กำหนดได้อีก 7 วัน หรือเรียกว่าโครงการเที่ยวข้ามเกาะ
ด้านคณะทำงานชักชวนนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี จะเสนอความคืบหน้ามาตรการต่างๆ รวมทั้งเสนอความคืบหน้าของแผนการดึงชาวต่างชาติวัยเกษียณอายุที่มีรายได้สูงเข้าประเทศไทยหลังโควิด-19 ด้วย
นายธนกร กล่าวว่า ศบศ.จะได้มีการพิจารณาถึงข้อเสนอของภาคเอกชน 40 CEO ที่ได้มีการหารือกับนายกรัฐมนตรีวานนี้ (21 กค.) เพื่อนำมาพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชน และภาคธุรกิจเพิ่มเติมด้วย