กางปฏิทินการเมือง 2 เดือน วาระร้อนเกมเร่ง “ยุบสภา"

กางปฏิทินการเมือง 2 เดือน  วาระร้อนเกมเร่ง “ยุบสภา"

หากมองเกมการเมือง ในสภาฯ ช่วง "สิงหาคม-กันยายน" ก่อนปิดสมัยประชุม มีวาระร้อนที่ต้องจับตา อย่างน้อย 3 เรื่อง ที่มีผลอย่างยิ่ง ต่อการตัดสินใจของ "บิ๊กตู่" ว่าจะ "อยู่ต่อ" หรือ "รีเซ็ตการเมืองใหม่"

       สัญญาณของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่เปิดเผยผ่านแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ต่อประเด็นวัดใจการ “ถอนตัว” ของ 2 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล “ภูมิใจไทย” และ “ประชาธิปัตย์” ที่ว่า "ตอนนี้ไม่ใช่เวลาเล่นการเมือง ใครจะทิ้งผมก็ตามใจ แต่ผมจะทำงานต่อ”

       ถูกแปลความว่า นี่คือ “ความไม่สนใจ” ฝ่ายการเมืองที่มุ่งแต่ผลประโยชน์การเมือง มากกว่าดูแลประชาชนให้เต็มที่

       อีกความคือการส่งสัญญาณ “ไฟเขียว” หาก 2 พรรคใหญ่จะสละเรือเหล็ก หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามที่ “พรรคฝ่ายค้าน” เดินเกมเปิดช่องไว้ให้

       ในมุมการเมืองจากสายตาของ “สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” นักการเมืองรุ่นเก๋า กลับมองว่า นี่คือ “คำพูดดักทาง” เท่านั้น เพราะนายกฯรู้ดีว่า สถานการณ์ประเทศตอนนี้ ไม่เหมาะที่ “พรรคไหน” ถอนตัวจากความได้เปรียบทางการเมือง หากไม่อยาก “แพ้เลือกตั้ง”

162688300129

       เนื่องจาก โควิด-19 สร้างบาดแผลและความบอบช้ำให้ทุกพรรคร่วมรัฐบาล ให้มีบาดแผล-ความบอบช้ำ ที่คู่แข่งทางการเมืองนำไปชำแหละ และ ดิสเครดิตในสนามเลือกตั้งได้

       นอกจากเรื่อง “โควิด-19” ที่สร้างผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ยังมีปัจจัยสำคัญที่ควรรอ คือ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 - การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

       ทั้ง 3 เรื่องร้อน จะประเดประดังเข้ามาไล่เลี่ยกันในช่วง สิงหาคม-กันยายน และถือเป็นวาระที่กำหนดชะตาทางการเมือง

       เริ่มจาก ​ “ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2565” ที่กรรมาธิการฯ เร่งพิจารณาแบบไม่พัก แม้ “โควิด-19” จะลามเข้าสู่ห้องประชุมอนุกรรมาธิการฯ และ ศบค.ใช้มาตรการคุมเข้ม ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด

       โดยปฏิทินที่กำหนดไว้คือ สภาฯ จะพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ในวันที่ 11 - 13 สิงหาคมนี้ ก่อนส่งให้วุฒิสภา พิจารณาเห็นชอบ ช่วง 23 - 24 สิงหาคม  และ ส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่างพ.ร.บ.ฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 7 กันยายน เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

       การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯ65 ตอนนี้ จะถูกขุดคุ้ย และชำแหละจาก “ส.ส.ฝ่ายค้าน” ทำให้โครงการ “กองทัพ” สำคัญต้องสะดุด แต่งบประมาณที่ถูกหั่นจากกระเป๋ากองทัพ ถูกแบ่งไปใส่ไว้ใน “งบกลาง” ซึ่งสามารถจัดสรรไปใช้ในภารกิจเร่งด่วน ฉุกเฉินจำเป็นได้ในอนาคต ตามความเห็นชอบของ นายกรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรี

162688300126

       ต่อด้วยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 และ มาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง

       แม้ตอนนี้ การประชุมต้องสะดุด หลังนัดประชุมไปแค่ 1 ครั้ง เพื่อเลือกกรรมาธิการในตำแหน่งต่างๆ แต่แผนการทำงานของกรรมาธิการถูกเซ็ตความพร้อมไว้ ให้ “จบ” ภายในกลางเดือนสิงหาคม

       เกมแก้รัฐธรรมนูญที่เร่งเคลียร์ผ่านการยกร่างพิมพ์เขียว 6 มาตรา โดย “3 พรรคใหญ่” คือ “พลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” เห็นชอบทางเดียวกันทั้งหมด จึงง่ายที่จะคุมเสียงข้างมาก แม้ความพยายามของ “พรรคก้าวไกล-พรรคเล็ก” ที่ต่อรองประเด็น "การใช้เกณฑ์ขั้นต่ำเพื่อหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ” จากที่พรรคใหญ่เสนอ 1% ไปเป็น 0.02% ถือว่าไม่ใช่อุปสรรคขัดขวางที่ยากจะผ่าน

       ดังนั้นปฏิทินของการแก้รัฐธรรมนูญ ในวาระ 2 จะต่อท้ายการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 65 ของสภาฯ ก่อนจะทิ้งเวลา 15 วันเพื่อลงมติในวาระ 3 เบื้องต้นคาดว่าจะเกิดขึ้นก่อนที่สภาฯ จะเปิดสมัยประชุม 18 กันยายนนี้

       ส่วนการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น จะถูกเซ็ตขึ้นใหม่ในช่วงเปิดสมัยประชุมถัดไปเดือนพฤศจิกายน และใช้เวลาแค่ 1 เดือน

       ขณะที่ การขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน ที่กำหนดปฏิทินไว้คือ “เดือนกันยายน”

162688314658

       แม้ฝ่ายค้านยังไม่เปิดเผยชื่อรัฐมนตรีที่เข้าคิวเชือด ด้วยเหตุที่ยังรอข้อมูล สนับสนุนจากเวที กมธ.งบประมาณ และปรากฎการณ์-อารมณ์ผู้คนสังคม

       เชื่อแน่ว่า 2 เดือนจากนี้ ไปจนถึงวันปิดสมัยประชุม 18 กันยายน วาระทางการเมืองจะมีผลเชื่อมโยงกับ การตัดสินใจของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะประคองรัฐบาลให้ “ไปต่อ" หรือตัดสินใจยุบสภา รีเซ็ตการเมืองใหม่.