การทูตสาธารณะของไทยในโลกยุคดิจิทัล

การทูตสาธารณะของไทยในโลกยุคดิจิทัล

ในยุคที่ชีวิตมนุษย์ดำเนินไปคู่ขนานกับชีวิตในโลกดิจิทัล แม้แต่การทูตเองก็หนีโลกไซเบอร์ไปไม่ได้ แต่ทำอย่างไรให้ “ปัง” เรื่องนี้ต้องระดมสมอง

ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (International Studies Center: ISC) จัดสัมมนาเรื่อง “การทูตสาธารณะของไทยในโลกยุคดิจิทัล” ผ่านทางออนไลน์เมื่อวันก่อน มีผู้รู้มาให้ข้อมูลที่น่าสนใจ

ธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย อดีตอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ ชี้แจงคีย์เวิร์ด 3 คำให้เข้าใจง่ายๆ  เริ่มตั้งแต่ “การทูต” เป็นสิ่งที่ทุกประเทศทำกันทั้งนั้นเพื่อผูกสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ทำสัญญาผูกสัมพันธไมตรีหรือแก้ปัญหาระหว่างกันทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี เครื่องมือที่ใช้คือ Hard Power หรือไม้แข็ง อาทิ กำลังทหาร พลังอำนาจทางเศรษฐกิจ 

การทูตสาธารณะ (Public Diplomacy) หรือการทูตประชาชน (People Diplomacy) มีพัฒนาการมายาวนาน เป็นการหาพรรคพวก หาคนที่ชอบเรา อย่างการเข้ามาเผยแพร่ศาสนาของเหล่ามิชชันนารีก็เป็นการทูตในลักษณะนี้ที่ต้องทำควบคู่ไปกับการทูตทั่วไปที่รัฐกระทำกับรัฐ 

 “การทูตแบบ State to People นี้เป็นการผูกใจให้คนในประเทศนั้นรักและนิยมในประเทศเรา” ธฤตกล่าว แน่นอนว่าเครื่องมือที่ใช้ต้องเป็น Soft Power ซึ่งตามนิยามของโจเซฟ ไนน์ ให้นิยามว่า “การโน้มน้าวเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ใช้เครื่องมือหลายอย่างที่ไม่ใช่การข่มขู่ ซึ่งแต่ละประเทศมีไม่เหมือนกัน” อย่างสหรัฐทำมานานแล้วใช้ทั้งหน่วยงาน USAID, AUA  พีซคอร์ป หรือสมัยก่อนใช้ AFS สร้างสัมพันธ์กับเยาวชน 

ส่วนการทูตในยุคดิจิทัลไร้พรมแดน อดีตทูตหลายประเทศกล่าวว่า ต้องออกไป “หาแฟนคลับจากกลุ่มต่างๆ ในโลก” โดยใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือมองหาคนใหม่ๆ มาเป็นพวก ใช้บิ๊กดาต้าวิเคราะห์เข้าสู่กลุ่มที่ชอบและไม่ชอบเราได้ 

เมื่อพูดถึงแฟนคลับ  กวี จงกิจถาวร นักหนังสือพิมพ์อาวุโส แนะว่า เบื้องต้นต้องเริ่มต้นจากแฟนคลับในประเทศก่อน “แฟนคลับในประเทศไทยมีมาก แต่ค่อนข้างดุเดือดและดุร้าย” เขามองว่า คนไทยไม่มีความเห็นร่วมกันจึงสร้างเรื่องเล่า (Narrative) เกี่ยวกับประเทศไทยสู้ที่ฝรั่งสร้างไม่ได้  

อดีตบรรณาธิการรายนี้แนะนำว่า การสร้างเรื่องเล่า  1) ต้องเริ่มจากสังคมไทยก่อน สะท้อนความเป็นจริงออกมาอย่างต่อเนื่องโปร่งใสเป็นยุทธศาสตร์สื่อ 

“รัฐบาลชุดนี้ไม่มียุทธศาสตร์สื่อ มีแต่การแถลงข่าว เฉพาะกิจเป็นเรื่องๆ” 

2) สื่อต้องเข้าใจประเด็น การที่หน่วยงานเกี่ยวข้องไม่บูรณาการข้อมูล กลายเป็นความจริงครึ่งเดียวที่สื่อเอาไปรายงาน เช่น เรื่องการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ ที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดไปมาก 

3) สร้างบุคลากรของรัฐเชื่อมโยงสื่อ อินฟลูเอนเซอร์ และเอ็นจีโอเข้าด้วยกันให้ได้ 

กวีมองว่า อัตลักษณ์ไทยแบบเดิม เช่น อาหารไทย มวยไทย โขน ฯลฯ ดีอยู่แล้ว แต่ต้องสร้างอัตลักษณ์ใหม่เรื่องสิทธิมนุษยชน วิถีประชาธิปไตย ที่สังคมไทยยังหลากหลายหาจุดร่วมในเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ ส่วนการทูตดิจิทัลก็มีปัญหาโดยตัวเองว่าจริงใจอย่างไร เพราะหลายเรื่องมีแต่พูดไม่ได้ลงนามกันในเอกสาร 

ธีรนัย จารุวัสตร์  กรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะคนทำงานสื่อเสนอแนะให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เข้าไปมีส่วนร่วมทางดิจิทัลที่ทำดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการนำเสนอ 

1) เรื่องดีของคนไทยที่เกิดขึ้นในไทย 

2) เรื่องดีของคนไทยในต่างประเทศ เช่น ร้านอาหารไทยชื่อดังในต่างแดนจำนวนมาก เพื่อให้คนไทยมีส่วนร่วมในการสร้างซอฟท์เพาเวอร์ 

3) เรื่องเดือดร้อนของคนไทยในต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า กระทรวงการต่างประเทศพึ่งพาได้ เช่น กระแสเหยียดคนเอเชียเพราะโควิด คนไทยก็ได้รับความเดือดร้อนด้วย

4) เรื่องดีของคนต่างชาติในไทย ที่มีแต่ไม่ค่อยได้เห็น เช่น กลุ่มคนต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยระดมทุนช่วยเหลือชุมชนประสบภัยโควิด กลุ่มดำน้ำเก็บขยะ กิจกรรมแบบนี้ชี้ว่า ไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม 

5) เรื่องเดือดร้อนของคนต่างชาติในไทย อย่างน้อยก็ต้องออกมาชี้แจง เช่น ปัญหามาเฟีย ราคาค่าบริการที่คนต่างชาติจ่ายแพงกว่าคนไทยทั้งๆ ที่ทำงานในประเทศก็เสียภาษีให้ไทยเหมือนกัน หรือปัญหาเรื่องวัคซีนที่ชัดมาก คนต่างชาติแทบไม่ชัดเจนในเรื่องนี้เลย  กระทรวงต่างประเทศเพิ่งมาพูดเมื่อวันที่ 18 ก.ค. เทียบกับในต่างประเทศที่รัฐบาลดูแลให้ฉีดวัคซีนโดยไม่เลือกเชื้อชาติ 

จาก 5 ประเด็นที่กล่าวมาธีรนัยแนะต่อให้กระทรวงต่างประเทศเข้าไปมีส่วนร่วมกับสื่อใหม่ให้มากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่เป็นพลเมืองโลกนิยมใช้สื่อใหม่ เขาแนะให้ลองดูตัวอย่างสถานทูตต่างชาติในประเทศไทย เช่น สถานทูตออสเตรเลีย สวีเดน ที่เล่นกับกระแสเก่ง “ก็น่าจะลอง experiment กับอารมณ์ขันแบบนี้บ้าง” 

นอกจากนี้ กต. ควรมีปฏิสัมพันธ์กับนักข่าวต่างประเทศในไทยให้มากขึ้น สื่อเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องฉายซอฟท์เพาเวอร์ที่ดี ประเทศไทยมีนักข่าวต่างประเทศเข้ามาปักหลักเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเป็น Global Media Hub นั้นถือเป็นจุดแข็งสำคัญ และท้ายที่สุด กต.ต้องทำให้คนไทยเข้าใจปัญหานานาชาติในภาพรวม เพื่อให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาระดับโลก เช่น ปัญหาโลกร้อน  การค้ามนุษย์ ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงระดับโลก ถ้า กต.ทำข้อนี้ได้คนไทยก็จะกลายเป็นพลเมืองโลก 

เมื่อฟังผู้รู้จบก็ต้องยอมรับว่า การทูตสมัยนี้เกินพรมแดนประเทศไปแล้วจริงๆ ดังนั้นการจะหาพรรคพวกสร้างแฟนคลับให้มาชอบประเทศไทยได้นั้น ผู้เกี่ยวข้องนอกจากผลักดันเนื้อหาอัตลักษณ์ไทยแล้วจะต้องสร้างอัตลักษณ์ร่วมกับโลก อาจริงเอาจังกับประเด็นที่โลกสนใจไม่ใช่แค่เกาะกระแส แต่ให้โลกรู้ว่าคนไทยก็มีส่วนร่วมแก้ปัญหาโลกได้ไม่ใช่แค่รัฐบาล