'เงินเยน' ไหลไม่หยุดทะลุ 158 ไร้สัญญาณแทรกแซงจากญี่ปุ่น
สถิติมีไว้ให้ทุบรายวัน! ค่าเงินเยนญี่ปุ่นยังอ่อนค่าไม่หยุด ล่าสุดหลุด 158 เยน/ดอลลาร์ หลังค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแรงจากปัจจัยเงินเฟ้อสหรัฐ นักวิเคราะห์ชี้ต่อให้แทรกแซงก็ช่วยไม่ได้มากถ้าไม่ไปพร้อมการขึ้นดอกเบี้ย
ค่าเงินเยน ญี่ปุ่น ยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่องในการซื้อขายที่ ตลาดนิวยอร์ก เมื่อเย็นวันที่ 26 เม.ย. หรือเช้าวันนี้ตามเวลาในไทย โดยอ่อนค่าลงมากถึง 1.8% ไปแตะระดับ 158.33 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติใหม่อีกครั้งของการอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 34 ปี นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2533
ทั้งนี้ ค่าเงินเยน เคลื่อนไหวที่ปลายๆ 155 เยนต่อดอลลาร์เมื่อวานนี้ แต่หลังจากที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศผลการประชุมโดยมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0 - 0.1% พร้อมการเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ต่อ และนายคาซึโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการบีโอเจไม่ได้กล่าวถึงการสนับสนุนค่าเงินเยนมากนักระหว่างการแถลงข่าว ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงทันทีทะลุระดับ 156 เยนต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าลงต่อเนื่องทั้งวัน
สถานการณ์ค่าเงินญี่ปุ่น ยิ่งแย่ลงในการซื้อขายที่ฝั่งนิวยอร์ก สหรัฐ เมื่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือน มี.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.6% จากระดับ 0.8% ในเดือนก.พ. สะท้อนเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังไม่ลดลงง่ายๆ และทำให้ ค่าเงินดอลลาร์ ดีดตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลักๆ
ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็น มาตรวัดเงินเฟ้อ ที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐยังไม่ลดลงมาง่ายๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจคงดอกเบี้ยต่อไป
ปัจจุบัน ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงไปแล้วเกือบ 11% ในปีนี้ และทำผลงานแย่ที่สุดในกลุ่ม 10 สกุลเงินหลักของโลก
ชารุ ชานานา นักกลยุทธ์จากบริษัทซาโซ แคปิทัล มาร์เก็ตส์ กล่าวกับบลูมเบิร์กว่า แม้ตลาดจะคาดว่า BOJ จะยังคงใช้แนวทางการเงินแบบผ่อนคลาย หรือสายพิราบต่อไป แต่ผลประชุมทำให้เห็นว่าท่าทีของ BOJ ยิ่งผ่อนมากกว่าที่คาดเอาไว้เสียอีก
"เรากลับมายังจุดที่รอคอยว่าจะมีการแทรกแซงเพื่อหยุดการไหลของค่าเงินเยน แต่การแทรกแซงใดๆ ก็ตาม ถ้าไม่ได้ไปด้วยกันกับการส่งสัญญาณหนุนว่าจะใช้นโยบายการเงินตึงตัว ก็อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก"