เช็ค! 4 มาตราการ 'ลดภาระค่าใช้จ่าย' นร.-ผู้ปกครอง-โรงเรียนได้อะไรบ้าง?
'ศธ.' ชง 4 มาตรการเสนอ ครม. ช่วยนักเรียน-ผู้ปกครอง-โรงเรียน แง้มขอใช้งบฯ 21,600 ล้านบาท แจกเงินช่วยเหลือ 'ลดภาระค่าใช้จ่าย' ด้านการศึกษายุคโควิด -19 จ่ายเงินตรงให้ผู้ปกครอง
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมหารือการออกมาตรการ ลดภาระค่าใช้จ่าย ด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา
- 4 มาตรการช่วยเหลือ 'ลดภาระค่าใช้จ่าย'ผู้ปกครอง
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เสนอ 4 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 การให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา โดยเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ในวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีพ ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน รวมประมาณ 10.8 ล้านคน ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน รวมเป็นเงินประมาณ 21,600 ล้านบาท โดยใช้ฐานข้อมูลเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งเงินนี้เป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายในการเรียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ใช้วิธีการจ่ายเงินตรงให้ผู้ปกครองนำไปใช้ตามความจำเป็น เช่น ค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าบำรุงการศึกษา ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า เป็นต้น
- ตั้งศูนย์ประสาน แก้ปัญหา'ค่าใช้จ่าย'ผู้ปกครองรร.เอกชน
มาตรการที่ 2 เป็นการขอความร่วมมือจากโรงเรียนเอกชนให้ลด หรือ ตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจาก ผู้ปกครอง ในโรงเรียนเอกชนกลุ่มที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐ และกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ ให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร
พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองใน โรงเรียนเอกชน ทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อพิจารณาสั่งการเป็นรายกรณี อย่างไรก็ตามหลังจาก ศธ.ได้ออกประกาศแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ปีการศึกษา 2564 ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัด หรือ ในกำกับของ ศธ. ถือปฏิบัติไปแล้ว นั้น
จนถึงขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนในสังกัด สช.คืนเงิน ค่าธรรมเนียม การเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นแก่ผู้ปกครองแล้วกว่า 2,275 ล้านบาทเศษ บางแห่งให้ผู้ปกครองผ่อนชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น โดยมีระยะปลอดดอกเบี้ยตลอดปีการศึกษา และบางโรงเรียนสนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตแก่นักเรียน อย่างน้อย 1 เดือน ขณะเดียวกันในส่วน สถานศึกษาของรัฐ ก็ได้มีการคืนเงินค่าบำรุงการศึกษาบางส่วน และ คืนเงินค่ากิจกรรมที่ไม่ได้จัดให้นักเรียนแก่ผู้ปกครองไปแล้วเช่นกัน
- ลดช่องว่างการเรียนรู้ จัดสรรค่าใช้จ่ายให้สถานศึกษา
มาตรการที่ 3 เป็นการลดช่องว่างการเรียนรู้ (Learning Gaps) และลดผลกระทบด้านความรู้ ที่ขาดหายไป (Learning Loss) โดยให้สถานศึกษาสามารถจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อใช้จัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดใน ปีการศึกษา 2564 ได้
จัดสรรค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้สถานศึกษาอีกส่วนหนึ่ง เพื่อใช้จัดการเรียนรู้และแก้ ปัญหาความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของ สถานศึกษา และจัดทําสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้หลากหลายที่เหมาะสมกับวัย ลดการเรียนรู้จากสื่อออนไลน์โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียน อนุบาล-ป.3 ขณะเดียวกัน ศธ.จะจัดเช่าอุปกรณ์ (Devices) พร้อมสัญญาน จํานวน 200,000 ชุด สําหรับให้นักเรียน/นักศึกษา กลุ่ม ป.4 - ม.6 และ อาชีวศึกษา ใช้ยืมเรียน รองรับการเรียนแบบออนไลน์
น.ส.ตรีนุช กล่าวด้วยว่า มาตรการที่ 4 เป็นการช่วยเหลือผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงาน โดยจะมีการจัดฝึกอบรมด้านอาชีพสําหรับผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการอบรมฟรีรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน พร้อมทั้งประสานเชื่อมโยงกับแหล่งทุนเพื่อจัดหาทุนเริ่มต้นประกอบอาชีพ ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 27 ก.ค.นี้ ศธ.จะนำ 4 มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป.