หวั่น ‘เต่ามะเฟือง’ สูญพันธุ์! ดร.ธรณ์ แนะแตะเบรกเสริมทราย ‘เขาหลัก’
ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลกังวลผลกระทบจากการเสริมทรายชายหาด “เขาหลัก” ระยะทาง 12 กิโลเมตร อาจเลวร้ายถึงขั้น “เต่ามะเฟือง” ไร้ที่วางไข่และสูญพันธุ์
หลังจากกรมเจ้าท่าและทีมศึกษาได้มีแผนการเสนอใช้วิธีการเติมทราย (เสริมทราย) ในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่บริเวณโรงแรมเขาหลักซันเซ็ท ไปจนถึงหาดปะการัง เป็นความยาวทั้งสิ้น 12 กิโลเมตร จนเกิดกระแสคัดค้านจากหลายฝ่าย เพราะหวั่นผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว ล่าสุด ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก เตือนว่าการ เสริมทราย อาจรบกวนการวางไข่ของ เต่ามะเฟือง
“เต่ามะเฟืองเป็นเต่าหายากระดับโลก เป็นเต่าทะเลใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเต่าที่ได้รับการคุกคามจากสถานะใกล้สูญพันธุ์มาก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย และเต่ามะเหืองเข้ามาวางไข่เฉพาะที่ชายหาดที่เปิดรับลมและค่อนข้างชัน บริเวณที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เยอะคือตั้งแต่หาดท้ายเหมืองจนถึงบริเวณเขาหลัก บางเนียง ไล่ไปตามพื้นที่จนถึงแหลมปะการัง มีแวะแถวภูเก็ตบ้าง แต่หลักๆ จะเป็นบริเวณดังกล่าว”
อาจารย์ธรณ์อธิบายว่าเหตุผลที่เต่าขึ้นมาที่ “เขาหลัก” เพราะธรรมชาติของ “เต่ามะเฟือง” คือไม่วางไข่ที่ชายฝั่งแนวปะการังเหมือนเต่าชนิดอื่น เพราะขนาดตัวใหญ่มากจึงเข้าที่ตื้นไม่ได้ และพื้นที่ดังกล่าวมีชายฝั่งที่ค่อนข้างลึก แต่เมื่อ 5-6 ปีก่อนมีปัจจัยทำให้เต่ามะเฟืองหายไป ไม่มาวางไข่ กระทั่งมีการรณรงค์ผลักดันให้เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์สงวนสำเร็จเมื่อปี 2562 และเต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่อีกครั้งบริเวณชายหาดคึกคักซึ่งอยู่ในบริเวณ 12 กิโลเมตรตามแผนการ “เสริมทราย”
ก่อนหน้านี้มีการ “เสริมทราย” อยู่ในบางพื้นที่ เช่น เสริมทรายหน้าหาดพัทยา และล่าสุดคือที่หน้าหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี แต่พื้นที่ดังกล่าวไม่น่ากังวลนักเพราะไม่มีสัตว์ทะเลหายาก ทว่าพื้นที่การเสริมทรายชายหาด “เขาหลัก” น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะการเสริมทรายจะทำให้ลักษณะชายหาดมีการเปลี่ยนแปลง คือ เกิดการตื้นเขิน ส่งผลกระทบต่อ “เต่ามะเฟือง” โดยตรง
“ถ้าเต่ามะเฟืองไม่มาวางไข่ เท่ากับสูญพันธุ์จากเมืองไทย เพราะเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่วางไข่ยากมาก ไม่ได้เป็นเต่าที่เพาะเลี้ยงกันได้ มีแต่เขาปกป้องกันสุด พื้นที่ไหนในโลกที่มีเต่ามะเฟืองมาวางไข่ ไม่ต้องห่วงหรอก เพราะฉะนั้นเราพยายามคุยกับชาวบ้าน ร่วมกันดูแลเต่า แต่ถ้าเปลี่ยนสภาพชายหาด การที่ขาดเต่ามะเฟืองไปเพียง 1 รัง จะส่งผลกระทบต่อประชากรเต่ามะเฟืองที่มาวางไข่ในประเทศไทยอย่างมหาศาล”
ระหว่างที่โครงการ “เสริมทราย” ในพื้นที่ชายฝั่งหาด “เขาหลัก” ความยาว 12 กิโลเมตร ยังอยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูลและศึกษาผลกระทบ อาจารย์ธรณ์แนะนำว่ายังไม่สายที่จะพูดคุยกับคนในพื้นที่ หาจุดที่มีปัญหาจริงๆ ที่เกิดการกัดเซาะ ซึ่งจากการสำรวจของเขายังไม่พบการกัดเซาะที่เป็นปัญหาใหญ่ แต่ถ้ากรณีมีปัญหาจริงๆ ต้องแก้ไขเฉพาะจุด ไม่ “เสริมทราย” แบบลากยาว
“ต้องกำหนดจุดที่ชัดเจนว่ามีจุดใดเป็นปัญหาการกัดเซาะจริงๆ แล้วค่อยมาดูว่าจะทำอย่างไร ถ้าเสริมทรายทั้งหมดผมเสนอมาตรา17 “ระงับการกระทำหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง” แน่นอน แล้วถ้ากรมทะเลไม่อนุมัติ ผมจะลาออกทุกตำแหน่งเลย การทำให้เต่ามะเฟืองได้เป็นสัตว์สงวน ผมใช้เวลาไป 5-6 ปี แต่ผมก็คิดว่าน่าจะไม่มีปัญหาหรอกครับ น่าจะคุยกันได้ คุยกับกรมเจ้าท่า เพียงแต่ว่าต้องดูให้ชัดเจนว่าตรงไหนมีปัญหา กำหนดกรอบของปัญหาให้ชัดๆ ว่าปัญหามันสาหัสถึงระดับที่ต้องทำอะไรไหม เพราะว่าถ้าเกิดทำ ต้องเข้าใจว่ามีเต่ามะเฟืองอยู่แล้วมันจะขึ้นตรงไหน ถ้ากำหนดกรอบพื้นที่เล็กๆ ได้ ก็มาดูว่าทำอย่างไรกับพื้นที่เล็กๆ นั้น แต่ถ้าจะเสริมทรายทั้งพื้นที่ ให้ตายผมก็ไม่เห็นด้วย” อาจารย์ธรณ์ กล่าว