'Home Isolation' กักตัวอย่างไร ‘สัตว์เลี้ยง’ ไม่ติดโควิด-19
สัตวแพทย์แนะชาว “Home Isolation” ที่เป็นเจ้าของ “สัตว์เลี้ยง” กักตัวอย่างไรไม่ให้น้องรับเชื้อ “โควิด”
Home Isolation หรือ ‘วิธีการแยกกักตัวที่บ้าน’ เป็นทางเลือกกักตัวสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อายุไม่เกิน 60 ปี มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ ไม่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ไม่มีโรคประจำตัว 7 โรคเสี่ยง สามารถพักรักษาตัวที่บ้าน
แต่ถ้าผู้ติดเชื้อโควิดและกักตัวแบบ Home Isolation มี สัตว์เลี้ยง ร่วมบ้านอยู่ด้วย โดยเฉพาะสัตว์ยอดฮิตอย่าง สุนัข และ แมว ซึ่งมักไม่ยอมอยู่ห่างและมีความใกล้ชิดกับเจ้าของเป็นอย่างยิ่ง กระโดดขึ้นลงบนตัก กระโดดให้อุ้ม ทั้งกอดทั้งหอมยอมให้สุนัขเลียหน้าเป็นปกติวิสัย หลายคนพาสัตว์เลี้ยงนอนด้วยกันบนเตียง
เจ้าของสัตว์เลี้ยงผู้กักตัวแบบ Home Isolation ยังจะสามารถดูแลรับผิดชอบสัตว์เลี้ยงได้ตามปกติหรือไม่ สัตว์เลี้ยงมีโอกาสรับเชื้อโควิดอย่างไรไหม
ในเรื่องนี้ สพ.ญ.กมลพรรณ เจริญกุล สัตวแพทย์แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน ให้สัมภาษณ์กับ ‘Art & Living กรุงเทพธุรกิจ’ ว่า
“ปัจจุบัน สุนัขและแมวสามารถติดเชื้อโควิดได้ โดยได้รับเชื้อมาจากคน ในสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทยเองมีรายงานโควิด-19 ในสุนัขและแมว แต่พบน้อยมาก พบเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ในไทยพบเพียง 4-5 ตัวเท่านั้น แต่ก็ต้องย้ำอีกครั้งว่า ยังไม่มีรายงานว่ามีการติดต่อจากสุนัขและแมวกลับมายังคนนะคะ”
สำหรับผู้ติดเชื้อโควิดซึ่งมีอาการน้อย สามารถกักตัวที่บ้านได้แบบ Home Isolation และเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง สพ.ญ.กมลพรรณแนะนำ ข้อควรปฏิบัติตัวเพื่อให้สัตว์เลี้ยงปลอดภัยและห่างไกลโควิด-19 ดังนี้
- หนึ่ง) หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง : ให้คนอื่นในบ้านที่ไม่ได้ติดโควิดเป็นผู้เลี้ยงดูแทน หรือถ้าไม่สามารถจัดการได้แบบนั้นจริงๆ ผู้ติดเชื้อโควิดต้องเป็นคนดูแลเท่านั้น ก็ต้องแยกเลี้ยง คือกักบริเวณหรือแยกบริเวณสัตว์เลี้ยงกับเจ้าของผู้ติดเชื้อ ไม่คลุกคลีกันมากเกินไป ไม่กอดจูบลูบคลำ
- สอง) ใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือก่อน-หลังทุกครั้ง : เวลาให้อาหาร ให้ข้าว ให้น้ำ ต้องใส่หน้ากากอนามัย ถุงมือ จากนั้นพ่นบริเวณรอบๆ ที่จับหรือสัมผัสด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อกระจายสู่สัตว์เลี้ยง ไม่ใช่พ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ไปที่ตัวสัตว์เลี้ยง เพราะสัตว์เลี้ยงเกิดการระคายเคืองได้ และไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยให้สัตว์เลี้ยง
- สาม) ให้ผู้อื่นดูแลแทน โดยปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติ : ในกรณีที่สามารถมีคนอื่นในบ้านดูแลสัตว์เลี้ยงได้แทนเจ้าของผู้ติดเชื้อโควิด
สพ.ญ.กมลพรรณ กล่าวถึง อาการของสุนัขและแมวที่ติดเชื้อโควิด-19 ว่าส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยแสดงอาการ หรือถ้าแสดงอาการก็มีอาการเพียงเล็กน้อย และสามารถหายได้เองในสองสัปดาห์ อาการไม่รุนแรงเหมือนในคน เนื่องจากไวรัสชนิดนี้มีความจำเพาะก่อโรคในมนุษย์
“ยังเป็นเรื่องที่โชคดีอยู่ที่เขาหายได้เอง ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยเอง น้องหมาน้องแมวที่ติดเชื้อโควิดแทบจะไม่แสดงอาการ ในบางตัวที่เจอมามีอาการไอจามนิดหน่อย ไม่รุนแรง ไม่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อไวรัสหรือใช้ยารักษาตามอาการด้วยซ้ำ ร่างกายเขาสามารถเคลียร์เชื้อไปได้ด้วยตัวเขาเอง”
ถ้าเช่นนั้นน่าสนใจไหมถ้าจะศึกษาระบบการทำงานภายในร่างกายของสุนัขและแมว สพ.ญ.กมลพรรณ ให้ความเห็นว่า ต้องยอมรับว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสในคน ตัวไวรัสมีความสามารถอยู่ในคนค่อนข้างดี มีความจำเพาะก่อโรคในคน ดังนั้นเมื่อแพร่กระจายไปสู่สัตว์ประเภทอื่น ไวรัสต้องการการปรับตัวที่จะทำให้สามารถก่อโรคได้ในสัตว์ชนิดนั้นๆ วันนี้ไวรัสโควิด-19 จึงไม่ก่อโรครุนแรงมากในสัตว์เลี้ยง
อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศเริ่มมีการพัฒนา วัคซีนโควิด-19 สำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นในสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อโควิดจากคน ซึ่งตอนนี้มีการใช้วัคซีนในสัตว์เลี้ยงบ้างแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา
สพ.ญ.กมลพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเทศไทยมีรายงานจาก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อโควิด-19 ยังอยู่ในจำนวนน้อยมากตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดจนถึงขณะนี้ คือประมาณ 4-5 ตัวเท่านั้น โดยพบว่าติดเชื้อจากเจ้าของได้ทั้งในสุนัขและแมว
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รายงานข้อมูลให้ ‘กรมควบคุมโรค’ ทราบเรียบร้อยแล้ว พร้อมแนะนำ ข้อควรปฏิบัติเมื่อสัตว์เลี้ยงติดโควิด-19 สำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงไว้ตั้งนี้
- ควรดูแลและแยกสัตว์เลี้ยง จนกว่าจะยืนยันว่าสัตว์เลี้ยงปลอดโควิด-19
- ไม่ควรทิ้งหรือปล่อยสัตว์เลี้ยงที่ติดโควิด-19
- สังเกตอาการในสัตว์เลี้ยง
- ควรเว้นระยะห่าง สวมถุงมือ หน้ากากอนามัย
- ทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์เลี้ยงสัตว์
- ควรสวมถุงมือ หน้ากากอนามัย เมื่อเก็บของเสียต่างๆ ของสัตว์เลี้ยง
“หมอขอฝากประชาสัมพันธ์ ถ้าสงสัยว่าสุนัขและแมวติดเชื้อหรือไม่ สามารถพาเข้าไปตรวจได้ที่ศูนย์โรคอุบัติใหม่ ศูนย์โควิดในสัตว์เลี้ยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยินดีให้คำปรึกษากับเจ้าของที่มีปัญหา หรือน้องหมาน้องแมวที่เจ้าของเป็นโควิดแล้วไม่รู้จะจัดการเขาอย่างไร หรือสงสัยว่าน้องหมาน้องแมวติดโควิดหรือเปล่าก่อนนำไปฝากบ้านญาติให้ช่วยดูแลให้ ก็สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์โรคอุบัติใหม่ หรือ ศูนย์โควิดสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รับตรวจโควิดในสัตว์เลี้ยงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นวิธีการตรวจด้วยวิธี พีซีอาร์ คือสวอบเหมือนของในคน” สพ.ญ.กมลพรรณ กล่าว
ขณะที่ โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน ก็ให้ความร่วมมือกับทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ถ้ามีเคสไหนที่เจ้าของเป็นผู้ป่วยโควิดและมีความใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง หรือมีความสงสัยและประสงค์อยากจะตรวจ ทางโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชันก็ยินดีประสานงานเรื่องการตรวจกับทางคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ รวมทั้งให้คำปรึกษาหากเจ้าของมีคำถาม ตรวจแล้วติดจริงๆ ต้องดูแลอย่างไร
สำหรับสัตว์เลี้ยงตามบ้านประเภท กระต่าย และ นก สพ.ญ.กมลพรรณ กล่าวว่าสัตว์เลี้ยง 2 ประเภทนี้ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อโควิด-19 ในสังคม ยกเว้น ‘กระต่าย’ ที่พบว่า สามารถติดเชื้อได้ในระดับห้องทดลอง และในต่างประเทศมีรายงานการติดเชื้อโควิดในกลุ่มของสุกร หนู สิงโต และเสือ
สพ.ญ.กมลพรรณ ย้ำอีกครั้งว่า ยังไม่มีรายงานว่าโควิด-19 ติดต่อจากสุนัขและแมวกลับมาที่คนได้ เพราะฉะนั้นถ้าน้องหมาน้องแมวของเราเป็นโควิดจริงๆ ไม่ต้องทิ้ง ไม่ต้องกลัว เราสามารถเลี้ยงดูเขาได้ ดูแลเขาได้ ก็แค่เอาน้องเขาไว้ในกรง ให้น้ำให้อาหารได้ตามปกติ ดูแลน้องเขาได้ตามปกติด้วยซ้ำ
เพียงแต่ควรปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำที่ให้ไว้เพื่อสุขอนามัยทั้งสัตว์เลี้ยงและตัวผู้เป็นเจ้าของ
* * * * * * *
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
‘ผัก’ 7 ชนิด ที่เจ้าของ ‘สุนัข’ ควรรู้ว่าน้องหม่ำได้
‘สุนัข’ แรกเกิด ต้องเลือก 'อาหารสุนัข' แบบไหน กินอย่างไรจึงสุขภาพดี
‘แมว’ มงคลโบราณ 5 สายพันธุ์ไทยแท้