สปสช. ย้ำคลินิกดูแลผู้ป่วย 'Home Isolation' ติดต่อกลับภายใน 48 ชม.

สปสช. ย้ำคลินิกดูแลผู้ป่วย 'Home Isolation' ติดต่อกลับภายใน 48 ชม.

สปสช.เผยสถิติจับคู่หน่วยบริการกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อดูแลแบบ 'Home Isolation' แต่พบยังมีผู้ติดเชื้อรอนานหลายวัน ย้ำโรงพยาบาล คลินิกชุมชนอบอุ่น เมื่อตอบรับดูแลคนไข้แล้ว ให้รีบโทรแจ้งผู้ป่วยและเริ่มให้บริการภายใน 48 ชั่วโมง

วันนี้ (3 ส.ค. 64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงสถานการณ์การจัดหาโรงพยาบาล/คลินิกชุมชนอบอุ่นเพื่อรับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบ Home Isolation ในพื้นที่ กทม. โดยระบุว่า ณ วันที่ 3 ส.ค. 2564 มีจำนวนเคสผู้ติดเชื้อสะสมที่ติดต่อให้ สปสช. จัดหาหน่วยบริการให้จำนวน 57,944 ราย และมีหน่วยบริการที่ตอบรับดูแลผู้ป่วย 56,471 ราย

ยังมีผู้ติดเชื้อที่จับคู่ไม่ได้ประมาณ 1,500 ราย มีผู้ติดเชื้อที่รักษาหายและจำหน่ายออกจากระบบแล้ว 5,504 ราย และอยู่ระหว่างรับบริการดูแลรักษาที่บ้าน 48,174 ราย เฉลี่ยมีหน่วยบริการตอบรับดูแลผู้ป่วยวันละ 2,382 ราย โดยทั้งหมดนี้ 52.4% เป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ขณะที่ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมมีสัดส่วน 34.5% และสิทธิข้าราชการ 4.8%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

บอร์ด สปสช. เห็นชอบยา วัคซีน เวชภัณฑ์โควิด-19 เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพ

ส่องแนวทางการรักษาโควิด ‘Home Isolation’ vs ‘Community Isolation’

'Home isolation'ยาไปไม่ถึงคนไข้ แนะเปิด'ศูนย์รับยา'ทุกเขต ลดเสียชีวิตคาบ้าน

 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ระบบ ที่ สปสช. ทำงานร่วมกับเครือข่ายหน่วยบริการนั้น เมื่อได้รับแจ้งจากผู้ติดเชื้อโควิดให้ประสานหาหน่วยบริการให้ ข้อมูลจะถูกส่งเข้าระบบแล้วโรงพยาบาลหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นที่มีความพร้อม เช่น ผู้ป่วยรายนั้นอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับคลินิกและคลินิกมีกำลังบุคลากรและทรัพยากรพอที่จะดูแลผู้ติดเชื้อได้ ก็จะแจ้งตอบเข้ามาในระบบว่าจะรับผู้ติดเชื้อรายนั้นๆอยู่ในการดูแล จากนั้นทางคลินิกจะติดต่อไปยังผู้ติดเชื้อโดยตรงเพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีหน่วยบริการรับดูแลแบบ Home Isolation แล้วและเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป โดยระยะเวลาการตอบรับและแจ้งผู้ติดเชื้อนั้น ตั้งเป้าไว้ว่าไม่เกิน 48 ชั่วโมง

  • ผู้ป่วยเพิ่มสูง บางส่วนยังไม่เข้าระบบ

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีเสียงสะท้อนจากผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่แจ้งเข้ามาทางสายด่วน สปสช. 1330 ว่ารออยู่หลายวันแล้วก็ยังไม่มีโรงพยาบาลหรือคลินิกติดต่อมาหา ซึ่งจากข้อมูลแล้วอัตราการจับคู่หน่วยบริการกับผู้ติดเชื้อสูงถึง 97% แต่อาจมีบางประเด็นที่ทำให้เป็นคอขวด ทำให้หน่วยบริการติดต่อไปยังผู้ติดเชื้อล่าช้า เช่น มีหลายวันที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายงานเข้ามาในระบบสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยที่หน่วยบริการรับไปดูแล ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากค้างสะสมในระบบ จน สปสช.ต้องแก้ปัญหาด้วยการประสานกับโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ให้รับผู้ติดเชื้อตกค้างเหล่านี้ไปดูแลเพื่อแบ่งเบาภาระหน่วยบริการใน กทม.

 

  • ขอคลินิก ติดต่อผู้ป่วยใน 48 ชั่วโมง 

"ขณะเดียวกัน ในช่วงปลายเดือน ก.ค. จำนวนหน่วยบริการที่ตอบรับดูแลผู้ติดเชื้อต่อวันก็สูงขึ้น จากหลักร้อยในช่วงต้นเป็น 2,400-3,500 รายต่อวัน อย่างไรก็ดี ก็มีหน่วยบริการบางส่วนที่อาจจะตอบรับดูแลผู้ติดเชื้อไว้ก่อนแต่ในทางปฏิบัติยังอยู่ระหว่างเตรียมการ จึงยังไม่ได้ติดต่อไปยังผู้ติดเชื้อโควิด ทำให้ผู้ติดเชื้อหลายคนรอนานหลายวันกว่าจะมีหน่วยบริการติดต่อมาหา ซึ่งในกรณีนี้ก็ต้องฝากไปยังหน่วยบริการด้วยว่าเมื่อตอบรับดูแลผู้ติดเชื้อแล้ว ขอให้รีบติดต่อและให้บริการภายใน 48 ชั่วโมงตามที่ตกลงกันไว้" นพ.จเด็จ กล่าว