ส่อง 7 ข้อต้องรู้ โควิดสายพันธุ์ ‘เดลตา’ อาการร้ายแรงแค่ไหน?
โควิดสายพันธุ์ ‘เดลตา’ ที่กำลังระบาดหนักในไทย จริงหรือไม่ เพียงแค่ 5-10 วินาทีก็ติดได้ มีอาการรุนแรงอะไรอีกบ้างที่ต้องรู้ และวัคซีนยี่ห้อไหนที่ป้องกันได้?
จากที่ยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงนี้ทะยานสูงขึ้นถึง 2 หมื่นรายแล้ว และอาจมีทีท่าว่าน่าจะยังไม่น่าลดลงในเร็วๆ นี้ และโควิดสายพันธุ์กลายพันธุ์อย่าง “เดลตา” ก็เป็นสายพันธุ์ที่มีผู้คนติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพราะกำลังระบาดหนักในประเทศไทย
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้ “เดลต้า โควิดสายพันธุ์นี้ที่กำลังระบาดในไทย มีอาการที่รุนแรงอย่างไร วัคซีนยี่ห้อไหนที่ป้องกันได้บ้าง?”
1. โควิดสายพันธุ์ “เดลตา” พบที่ไหน?
โควิดสายพันธุ์ “เดลตา” (Delta) เป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย ในช่วงเวลาเดือนตุลาคม ปี 2563 มีชื่อรหัสไวรัสทางวิทยาศาสตร์ว่า “B.1.617.2”
2. สายพันธุ์เดลต้า “แพร่กระจายเชื้อ” ได้ไวแค่ไหน?
โควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (Delta) มีความสามารถในการยึดเกาะกับเซลล์ในปอดได้ง่ายกว่าโควิดสายพันธุ์อื่น สามารถแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟาหรือสายพันธุ์อังกฤษถึง 60%
สามารถแพร่กระจายเชื้อลงไปยัง “หลอดลม-ถุงลม” ได้ จึงแตกต่างจากสายพันธุ์เดิมที่แพร่กระจาย “ในโพรงจมูกและลำคอ”
ใช้เวลาในการแพร่กระจายเชื้อเพียงแค่ 5-10 วินาทีเท่านั้น และสามารถลอยอยู่ในอากาศได้ถึง 16 ชั่วโมง ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายได้แม้ไม่ต้องสัมผัสผู้ป่วย
3. โควิดสายพันธุ์ “เดลตาพลัส” มาได้อย่างไร?
โควิดสายพันธุ์ “เดลตา” เป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์แรกที่พบจากอินเดีย และในช่วงเวลาต่อมา สายพันธุ์เดลตาเองก็ได้มีการกลายพันธุ์มาเป็นสายพันธุ์ “เดลตาพลัส” (Delta Plus) ด้วย ซึ่งอันตรายยิ่งกว่าเดลตาดั้งเดิม เพราะสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดีกว่า และอาจติดเชื้อได้ง่ายกว่าในสายพันธุ์โควิด-19 ตัวอื่นๆ ในตอนนี้ แต่อย่างไรก็ตาม “สายพันธุ์เดลตาพลัสนี้ยังไม่พบในประเทศไทย”
4. อาการของโควิดสายพันธุ์เดลตา เป็นอย่างไร?
อาการที่พบจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า มีดังนี้ สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดแต่มีความซับซ้อนเพราะแม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบถึงสองโดสแล้ว อาการก็ยังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง
อาการในผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกัน หรือได้รับวัคซีนแล้วหนึ่งโดส: ปวดศีรษะ เจ็บคอ น้ำมูกไหล เป็นไข้ และไอบ่อย
อาการของผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วจำนวนสองโดส: ปวดศีรษะ ไอ จาม เจ็ยคอ และในบางรายมีการสูญเสียการได้กลิ่น
นอกจากนี้อาการที่เห็นได้ชัดของผู้ที่ติดโควิดสายพันธุ์เดลตานี้ ในผู้ที่มีอายุน้อยมักไม่แสดงอาการ แต่อันที่จริงแล้วอาจอยู่ในระยะแพร่เชื้อแล้ว และแม้ว่าฉีดวัคซีนแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อได้และอาจมีอาการเข้าขั้นหนัก ดังนั้นการต้องปลีกวิเวกตนเองออกจากสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการติดเชื้อด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม และสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด
5. การระบาดของสายพันธุ์เดลตา ในประเทศไทย มาจากไหน?
โควิดสายพันธุ์เดลตา พบในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 โดยเริ่มพบในคลัสเตอร์แคมป์คนงานหลักสี่ จากนั้นแพร่กระจายเป็นวงกว้างไปทั่วทุกพื้นที่ในปัจจุบัน และเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทย
6. “ป้องกัน” โควิดสายพันธุ์เดลตาได้อย่างไรบ้าง?
วิธีการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลตาก็เหมือนกับการป้องกันโควิดสายพันธุ์อื่นๆ โดยยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี รักษาระยะห่างกับผู้อื่น ล้างมือบ่อยครั้ง ไม่ไปในพื้นที่เสี่ยง และได้รับวัคซีนที่เสริมสร้างภูมิคุ้มอย่างมีประสิทธิภาพกันให้กับร่างกาย เพราะแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็อาจสามารถติดเชื้อได้ เพียงแต่เมื่อมีอาการอาจไม่รุนแรงเท่าคนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันมาก่อน
7. วัคซีนยี่ห้อไหนที่ป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ดี?
Pfizer/BionTech: ป้องกันโรค 86% ป้องกันติดเชื้อ 82%
Moderna: ป้องกันโรค 89% ป้องกันติดเชื้อ 85%
AstraZeneca: ป้องกันโรค 35% ป้องกันติดเชื้อ 31%
Johnson & Johnson: ป้องกันโรค 64% ป้องกันติดเชื้อ 57%
Spunik-V: ป้องกันโรค 59% ป้องกันติดเชื้อ 52%
Novavax: ป้องกันโรค 49% ป้องกันติดเชื้อ 43%
Sinopharm: ป้องกันโรค 47% ป้องกันติดเชื้อ 41%
(หมายเหตุ: ประสิทธิภาพของวัคซีนต่อการรักษาโควิดสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่ยกมานี้ อ้างอิงจาก Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME) ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564)
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจรวบรวม
ข้อมูล ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2564