‘ขิง’ รวมสรรพคุณใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้น ต้าน ‘โควิด’ ยังไร้ข้อมูลวิจัย
“ขิง” แม้ยังไร้ข้อมูลวิจัยต้านโควิด แต่เป็นสมุนไพรมีประโยชน์ “กรมการแพทย์แผนไทย” แจก 3 สูตรทำ “น้ำขิง” ดูแลสุขภาพเบื้องต้น พร้อมเตือนใครไม่ควรดื่มมาก
สิงหาคม 2564, นอกจาก ‘น้ำกระชาย’ เชื่อว่าการดื่มน้ำสมุนไพรที่ทำจาก ขิง น่าจะเป็นเครื่องดื่มอีกหนึ่งแก้วที่หลายคนดื่มแล้วรู้สึกดีสุดๆ ไปเลย คือรู้สึกดีที่ได้เลือกเครื่องดื่มที่ดีมีประโยชน์เข้าร่างกาย หรืออย่างน้อยก็สร้างกำลังใจที่ดีให้ตัวเองในช่วงเวลาจำนวนผู้ติดเชื้อ โควิด-19 แตะสองหมื่นคนต่อวัน (4-5 ส.ค.2564)
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า ยังไม่มีข้อมูลรายงานการศึกษาวิจัยว่า ‘น้ำขิง’ สามารถต้านโควิด-19 ได้ และระบุข้อเท็จจริงไว้ด้วยว่า ‘ขิง’ เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถนำมาใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยได้
โดยเฟซบุ๊กกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขิง เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่มีคุณค่าต่อการนำมาปรับใช้ในการดูแลสุขภาพ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และช่วยเจริญอาหาร
ใครๆ ก็ทราบ ‘ขิง’ เป็นสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน นั่นก็เพราะขิงมีสารพฤกษเคมี gingerols (6-Gingerol), shogaols และน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดอาการไอ และยับยั้งเชื้อไวรัสที่ก่อโรคในทางเดินหายใจได้
สรรพคุณของ ‘ขิง’ ทางแพทย์แผนไทยระบุเกี่ยวกับการขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียดแน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ
‘ขิงสด’ ใช้ประโยชน์ในการปรุงอาหาร เช่น หมูผัดขิงใส่เห็ดหูหนู ซอยแล้วโรยหน้าโจ๊ก ขิงอ่อนหั่นเป็นแว่นๆ เป็นผักจิ้มน้ำพริก ทำเป็น ‘ขิงดอง’ ไว้กินแก้เลี่ยนกับหมูกรอบ ไส้กรอกอีสาน ยำแหนมสดข้าวทอด และที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้คือการทำ น้ำขิง ไว้ดื่มเพื่อเสริมสุขภาพ
น้ำขิงสำเร็จรูปมีจำหน่ายเพื่อความสะดวกสบายมานานแล้ว แต่ถ้าอยากลองทำน้ำขิงสดๆ ไว้ดื่มเอง เฟซบุ๊กกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำวิธีทำ น้ำขิง สำหรับดื่มไว้ 3 สูตรด้วยกัน
@ ส่วนผสมน้ำขิง สูตร 1
- ขิงสด (ไม่แก่นัก) 2 ถ้วย
- น้ำสะอาด 9 ถ้วย
- น้ำตาลทราย 1 ½ ถ้วย
วิธีทำ : ปอกเปลือกขิงออก ล้างน้ำ ทุบพอแหลก ตั้งน้ำให้เดือด เอาขิงลงต้ม 15-30 นาที กรองเอากากออก เติมน้ำตาลทราย ชิมรสตามต้องการ รีบยกลงกรองใส่ขวด นึ่งต่ออีก 20-30 นาที เมื่อเย็นเก็บใส่ตู้เย็น การต้มถ้าเดือดนานเกินไปกลิ่นหอมของขิง ซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหยจะระเหยออกไปหมด ทำให้น้ำขิงที่ได้ไม่มีกลิ่นหอมชวนดื่ม เมื่อจะดื่มน้ำขิง เติมน้ำแข็ง
การเตรียมน้ำขิง ควรใช้ขิงไม่แก่นัก เพราะขิงแก่จัดจะมีสารชนิดหนึ่งมีกลิ่นฉุนและรสเผ็ดจัด เมื่อเตรียมเป็นน้ำขิงแล้ว รสชาติจะไม่กลมกล่อม
ขนาดรับประทาน : วันละ 150 มิลลิลิตร
@ ส่วนผสมน้ำขิง สูตร 2
- ขิงสด (ขิงหั่นขนาด 1 นิ้ว 5-6 ชิ้น) 15 กรัม
- น้ำสะอาด 16 ช้อนโต๊ะ (240 กรัม)
- น้ำเชื่อม 2 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)
วิธีทำ : ปอกเปลือกขิงออกล้างน้ำให้สะอาด ทุบพอแหลกตั้งน้ำให้เดือด เอาขิงที่ทุบไว้ลงต้มให้เดือด 15-30 นาที กรองเอากากออก เติมน้ำตาลหรือน้ำเชื่อม ชิมรสตามชอบ
ขนาดรับประทาน : วันละ 150 มิลลิลิตร
@ ส่วนผสมน้ำขิง สูตร 3
- เหง้าขิงสดยาวประมาณ 2 นิ้ว ฝานเป็นแว่น ๆ
วิธีทำ : ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว 15-30 นาที ใส่น้ำตาลเล็กน้อย
ขนาดรับประทาน : กินครั้งละ 2-5 ช้อนโต๊ะ ตลอดวัน
อ้างอิงจาก : คู่มือประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
ขิง
ขณะที่ เมดไทย เว็บไซต์ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพรฯ พูดถึงประโยชน์ของขิงไว้ถึง 65 ข้อ โดยในข้อที่เกี่ยวกับการเสริมสุขภาพ อาทิ
- ขิงจัดว่าเป็นยาอายุวัฒนะชั้นยอด
- มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระเป็นจำนวนมาก ช่วยชะลอความแก่และชะลอการเกิดริ้วรอย
- มีส่วนช่วยในการป้องกัน ต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง ต่อต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
- ช่วยลดผลข้างเคียงจากสารเคมีที่ใช้ในการรักษามะเร็ง ดังนั้นควรรับประทานขิงควบคู่ไปกับการรักษามะเร็งจะเป็นผลดี
- ขิงมีฤทธิ์อุ่น ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น และช่วยในการขับเหงื่อ
- ช่วยแก้อาการร้อนใน ด้วยการใช้ลำต้นสด ๆ นำมาทุบให้แหลกประมาณ 1 กำมือ แล้วต้มกับน้ำดื่ม
- ช่วยลดความอ้วน ลดระดับไขมัน คอเลสเตอรอล ด้วยการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากลำไส้ แล้วปล่อยให้ร่างกายกำจัดออกทางอุจจาระ
- การรับประทานขิงจะช่วยทำให้เลือดแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดได้ช้าลง
- ช่วยแก้หวัด บรรเทาอาการไอ บรรเทาหวัดจับเสมหะ ด้วยการใช้ขิงสดฝนกับน้ำมะนาวใส่เกลือนิดหน่อย
- ไอน้ำหอมระเหยจากน้ำขิงช่วยทำลายไวรัสหวัดในทางเดินหายใจได้
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์เมดไทย และเว็บไซต์ กรมการแพทย์ทางเลือก มีคำเตือนถึงข้อควรระวังสำหรับการใช้ขิง โดยระบุว่า ควรระมัดระวังการใช้ ‘ขิง’ ในกรณีต่อไปนี้
- การใช้ระยะยาว ควรระวังการใช้ร่วมกับยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) และยาละลายลิ่มเลือด (antiplatelet) เนื่องจากอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าและทำให้เลือดไหลหยุดยาก
- ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด
- ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหานิ่วในถุงน้ำดี ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์
- ไม่แนะนำให้รับประทานในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
- เนื่องจากขิงมีรสเผ็ด มีคุณสมบัติอุ่น จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีความร้อนภายในร่างกายอยู่แล้ว เช่นผู้เหงื่อออกมาก เหงื่อออกเวลากลางคืน ตาแดง ถ้าจะรับประทานควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
ดังนั้นจึงไม่ควรหวังพึ่งสรรพคุณของ ‘ขิง’ เพียงอย่างเดียว หรือดื่มมากเกินพอดี แต่ควรปรับพฤติกรรมอย่างอื่นเพื่อดูแลสุขภาพร่วมด้วย โดยเฉพาะการออกกำลังกายและรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ จึงจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมรับมือโรคภัยหากเจ็บไข้ได้ป่วย
* * * * * * * * *
เมนูสู้โควิดที่คุณอาจสนใจ
‘วันพระ’ กินมังสวิรัติเพิ่มโปรตีนด้วย ‘ชิกพี’ กล้ามเนื้อฟิตปั๋ง
‘น้ำผัก’ ทำไมกินแล้วดี เลือกวิธีกินผักแบบที่ใช่ เพื่อร่างกายที่แข็งแรง
‘แพนเค้ก’ สูตรเพิ่มน้ำหนักคน ‘ผอม’ แบบไม่ทำร้ายสุขภาพ
‘อะโวคาโด’ เติม HDL ป้องกันผนังหลอดเลือดแดงแข็ง
‘ไข่เจียว’ สูตรใส่ ‘ถั่วฝักยาว’ เพิ่ม ‘ไข่ขาว’ เสริมกล้ามเนื้อ