'ศูนย์พักคอย' ไม่ใช่ 'โรงพยาบาลสนาม' ต่างกันยังไง? มีที่ไหนบ้าง?

'ศูนย์พักคอย' ไม่ใช่ 'โรงพยาบาลสนาม' ต่างกันยังไง? มีที่ไหนบ้าง?

อย่าสับสน! "ศูนย์พักคอย" หรือ Community Isolation ไม่ใช่ "โรงพยาบาลสนาม" ชวนรู้ความแตกต่างของทั้งสองรูปแบบ เช็ค! ตอนนี้ศูนย์พักคอยมีกี่แห่ง? บางแห่งก็อัพเกรดเป็นศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนามด้วย

ห้วงเวลานี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย ยังคงวิกฤติหนัก มีรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุเกินกว่า 2 หมื่นรายติดต่อกันหลายวัน ผู้ที่ได้รับการ "ตรวจโควิด" แล้วพบว่าตนเอง "ติดโควิด" ต่างก็เร่งเข้าสู่ระบบการรักษาตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ที่แบ่งตามระดับอาการป่วย เขียว/เหลือง/แดง

แต่หลายคนยังสับสนว่าอาการป่วยของตนนั้น ต้องไปรักษาที่ไหน? โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ (Home Isolation) เพราะตอนนี้มีคำศัพท์และชื่อสถานที่ที่ใช้รักษาหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Community Isolation, ศูนย์พักคอย, ศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม, Hospitel, โรงพยาบาลสนาม, โรงพยาบาลหลัก เหล่านี้แตกต่างกันยังไง?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น โดยเรารวบรวมข้อมูลและสรุปมาให้ ดังนี้

1. โรงพยาบาลสนาม/Hospitel/ศูนย์พักคอย ไม่เหมือนกัน

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้คําจํากัดความว่า “โรงพยาบาลสนาม” หมายถึง สถานที่ที่ให้การดูแลรักษาพยาบาลในกลุ่มผู้ป่วยไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย กรณีการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งเกินศักยภาพการจัดระบบบริการในโรงพยาบาล มีวัตถุประสงค์ คือ 

  • จัดตั้งระบบบริการการดูแลรักษาพยาบาล ผู้ป่วยที่เข้าข่ายสอบสวนโรค ในกรณีที่เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาล ทั้งคัดกรองผู้ป่วย วินิจฉัย ดูแลรักษา
  • มีบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลอยู่ประจำและต่อเนื่อง
  • สามารถรับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ไว้ดูแลรักษา ดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง
  • ใช้เป็นสถานที่เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ ซึ่งถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลหลัก ซึ่งดูแลผู้ป่วยในภาวะเฉียบพลันหรือวิกฤติ จนอาการดีขึ้นแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ถัดมา “Hospitel” หมายถึง สถานพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะกิจ ที่เป็นการปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นสถานพยาบาลชั่วคราว โดย Hospitel เหมาะสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการความสะดวกสบาย เป็นส่วนตัวมากกว่าโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่รุนแรง เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด มีหลักเกณฑ์ คือ

  • ต้องเป็นโรงแรมที่มีห้องพักมากกว่า 30 ห้องขึ้นไป ผู้ป่วยทุกรายต้องผ่านการตรวจคัดกรองจากโรงพยาบาลหลักก่อน
  • ทุก Hospitel จะต้องมีแพทย์ 1 คน มีพยาบาลอัตราส่วน 20 เตียงต่อ 1 พยาบาล มีการตรวจคนไข้ผ่านเทเลเมดิซีน/แอพฯไลน์ ทุกวัน มีเครื่องมือพื้นฐาน เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดระดับความเข้มข้นออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่มา ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 5-7 วัน ไม่มีไข้และมีผลปอดคงที่
  • ในกรณีผู้ป่วยมีอาการหนักมากขึ้นก็จะย้ายไปยัง "โรงพยาบาลหลัก" ได้ทันที
  • ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือ สื่อสารรู้เรื่อง ดูแลตนเองได้ ไม่ก้าวร้าว ไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช กรณีมีโรคประจำตัว ต้องควบคุมอาการได้ดี ต้องจัดยาให้พร้อม
  • ทีมแพทย์จะดำเนินการตรวจและบันทึกอาการผู้ป่วยทุกวันผ่านเทเลเมดิซีนหรือไลน์กลุ่ม

ส่วน “ศูนย์พักคอย” หรือ Community Isolation หมายถึง สถานที่ให้ผู้ป่วยโควิดระดับสีเขียวอยู่ระหว่างการรอส่งต่อโรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลหลัก ใช้เป็นสถานที่สำหรับดูแลรักษาเบื้องต้นระหว่างรอเตียง ซึ่ง กทม.จะจัดตั้งให้มากที่สุดทุกเขตทั่วพื้นที่

โดย นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุชัดว่าสำหรับคนไม่สามารถทำ Home Isolation แยกกักที่บ้านได้ จะมีระบบส่งต่อไปที่ Community Isolation หรือ ในกทม. เรียกว่า ศูนย์พักคอย 

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แนวทางบริหารในการจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน สามารถดำเนินการได้ดังนี้

  • สถานที่จัดตั้งมีการถ่ายเทอากาศได้ดี มีการกํากับดูแลการทํางานของเจ้าหน้าที่/อาสาสมัคร
  • มีวัสดุอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ที่จําเป็น เช่น เครื่องอุปโภค บริโภค น้ำดื่ม เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันตัวทางการแพทย์ อุปกรณ์ทำความสะอาด
  • ระบบการดูแลรักษาผู้ป่วย ให้เป็นไปตามสถานพยาบาลคู่สัญญา มีช่องทางในการติดต่อแพทย์ มี จนท. วัดอุณหภูมิ วัดความดันโลหิต ความเข้มข้นของออกซิเจน อัตราการหายใจ
  • การรักษาให้เป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข
  • มีระบบการส่งต่อผู้ป่วย ระบบการเชื่อมโยงเวชระเบียน ระบบสื่อสาร
  • มีระบบการป้องกันควบคุมการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ ระบบสุขาภิบาล ห้องอาบน้ำ ห้องสุขา

อ่านเพิ่ม : 

2. โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ใน กทม. (อัพเดต 2 ส.ค.64)

จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย COVID-19 ฃโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. ข้อมูลประจำวันที่ 2 ส.ค.2564 มีทั้งหมด 9 แห่ง ประกอบด้วย

1. รพ.สนาม รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน มีเตียงทั้งหมด 705 เตียง ใช้ไปแล้ว 677 เตียง คงเหลือ 28 เตียง คิดเป็น 96.03 %

2. รพ.สนาม รพ.ราชพิพัฒ (วัดศรีสุดารามวรวิหาร) เตียงทั้งหมด 240 เตียง ใช้ไปแล้ว 236 เตียง คงเหลือ 4 เตียง คิดเป็น 98.33 %

3. รพ.เอราวัณ 1 ที่ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาบางบอน เตียงทั้งหมด 120 เตียง ใช้ไปแล้ว 70 เตียง คงเหลือ 50 เตียง คิดเป็น 58.33 %

4. รพ.เอราวัณ 2 ที่สนามกีฬาบางกอกอารีนา หนองจอก เตียงทั้งหมด 450 เตียง ใช้ไปแล้ว 358 เตียง คงเหลือ 92 เตียง คิดเป็น 79.56 %

5. รพ.เอราวัณ 3 ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ ทุ่งครุ เตียงทั้งหมด 342 เตียง ใช้ไปแล้ว 320 เตียง คงเหลือ 22 เตียง คิดเป็น 93.57 %

6. Hospitel รพ.กลาง เตียงทั้งหมด 110 เตียง เตียงเสริม 12 เตียง ใช้ไปแล้ว 122 เตียง คงเหลือ 0 เตียง คิดเป็น 110.91 %

7. Hospitel โรงแรม Elegant Airport เตียงทั้งหมด 180 เตียง เตียงเสริม 48 เตียง ใช้ไปแล้ว 228 เตียง คงเหลือ 0 เตียง คิดเป็น 126.67 %

8. Hospitel โรงแรมบ้านไทย เตียงทั้งหมด 200 เตียง เตียงเสริม 29 เตียง ใช้ไปแล้ว 229 เตียง คงเหลือ 0 เตียง คิดเป็น 114.50 %

9. Hospitel โรงแรมราชพิพัฒน์ เตียงทั้งหมด 500 เตียง ใช้ไปแล้ว 470 เตียง คงเหลือ 30 เตียง คิดเป็น 94 %

3. "ศูนย์พักคอย" ใน กทม. (อัพเดต 5 ส.ค.64)

กทม. ตั้งเป้าตั้ง "ศูนย์พักคอย" (Community Isolation) 60 แห่งทั่วทุกพื้นที่เขต เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่สะดวกกักตัวที่บ้าน โดยศูนย์พักคอยเหล่านี้ จะใช้รองรับผู้ป่วย ทั้งจากการตรวจหาเชื้อในระบบเฝ้าระวัง และ จากการตรวจเชิงรุกของทีม CCRT ที่ไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ โดยผู้ที่ตรวจด้วยชุดตรวจเร็ว ATK จะมีหน่วยตรวจซ้ำด้วย RT-PCR อีกครั้งที่ศูนย์พักคอย
เมื่อวันที่ 5 ส.ค.64 มีข้อมูลอัพเดตว่า ขณะที่การดำเนินงาน "ศูนย์แยกกักในชุมชนหรือ "ศูนย์พักคอยถูกกำหนดเป็นสถานที่แยกผู้ติดเชื้อโควิค-19 ที่มีอาการไม่มากหรือไม่แสดงอาการ แต่ประเมินแล้วว่าไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ก็จะส่งตัวให้มาพักในศูนย์พักคอย เพื่อรอการนำส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลหากมีอาการรุนแรง โดยแบ่งประเภทศูนย์พักคอย 85 แห่ง ดังนี้

3.1) ศูนย์พักคอย กทม.ร่วมกับหน่วยงานภาคี (Community Isolation : CI) 55 แห่ง

3.2) ศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม (Community Isolation plus : CI plus) 7 แห่ง*

3.3) ศูนย์พักคอยโดยภาคประชาชน (Semi Community Isolation) 19 แห่ง

3.4) ศูนย์พักคอยโดยหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม 4 แห่ง

3.5) ศูนย์พักคอยในองค์กรเพื่อรองรับเฉพาะบุคคลในองค์กร (Organizational Isolation) 2 แห่ง

4. ศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม คืออะไร?

อย่างที่เห็นข้างต้นคือ มีศูนย์พักคอยบางแห่งที่อัพเกรดขึ้นมาเป็น ศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม อีกด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการระดับสีเหลืองได้รักษาเพิ่มขึ้น ช่วยลดความรุนแรงของการแพร่ระบาด และลดการสูญเสีย โดยศูนย์ฯ รูปแบบนี้ จะมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการป่วยปานกลาง ที่ต้องได้รับการดูแลจากทีมแพทย์อย่างใกล้ชิดเพิ่มขึ้น แล้วมีที่ไหนบ้าง? 

4.1) ศูนย์สร้างสุขทุกวัยจตุจักร เขตจตุจักร 120 เตียง

4.2) อาคารวิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการเจ้าพระย เขตราชเทวี 170 เตียง

4.3) วัดสุทธิวราราม เขตสาทร 106 เตียง

4.4) ร้านจงกั๋วเหยียน เขตลาดกระบัง 200 เตียง

4.5) ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี 200 เตียง

4.6) วัดศรีสุดาราม (อาคารศาลาวิจิตร รัตนศิริ วิไล) เขตบางกอกน้อย 90 เตียง

4.7) ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค (เรืองสอน) เขตบางแค 150 เตียง

อ่านเพิ่ม : เช็ค 7 ศูนย์พักคอย ยกระดับเป็นกึ่ง 'รพ.สนาม' รักษาผู้ป่วย 'โควิด'

162832906628

5. ศูนย์พักคอยฯ เปิดแล้ว 47 แห่ง ครอบคลุม 6 โซน

ล่าสุด กทม.จัดตั้งศูนย์พักคอยฯ ทั้งหมด 62 แห่งทั้ง 50 เขต เปิดบริการแล้ว 47 แห่ง ครอบคลุม 6 โซนกรุงเทพฯ รองรับผู้ป่วย 9,038 เตียง ประกอบด้วย

1.กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 11 ศูนย์ รองรับผู้ป่วย 1,855 เตียง

2.กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 11 ศูนย์ รองรับผู้ป่วย 1,130 เตียง

3.กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 11 ศูนย์ รองรับผู้ป่วย 1,411 เตียง

4.กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 9 ศูนย์ รองรับผู้ป่วย 1,323 เตียง

5.กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 9 ศูนย์ รองรับผู้ป่วย 836 เตียง

6.กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 11 ศูนย์ รองรับผู้ป่วย 1,371 เตียง