'พัชร์ เคียงศิริ' กับ 7 ข้อคิดปรับตัวพา ‘ไร่รวมใจ’ อยู่รอดในช่วงโควิด-19
“พัชร์ เคียงศิริ” พลิกตำราธุรกิจอีกครั้งหลังสวมหมวกเกษตรกร ถอดเป็น 7 แนวคิด ทำไมนาข้าวออร์แกนิค “ไร่รวมใจ” อยู่รอดและดีขึ้นสวนทาง “โควิด”
พัชร์ เคียงศิริ ชื่อนี้เป็นที่ต้องการตัวมาโดยตลอดในวงการกลุ่มบริษัทขนาดกลางที่ต้องการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากเขามีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในการเป็น ‘ที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์และการตลาด’ ที่สร้างความสำเร็จให้กับหลายบริษัทชื่อดัง
กระทั่งเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เขาเริ่มต้นเส้นทางสายใหม่ให้กับตนเองด้วยอาชีพเกษตรกรรม โดยก่อตั้ง บริษัท ไร่รวมใจ จำกัด เพื่อทำนาข้าวหอมมะลิ 105 ออร์แกนิค ที่จังหวัดแพร่
‘ไร่รวมใจ’ ปลูกข้าวด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ด้วยความใส่ใจยิ่ง ความมุ่งมั่นนี้ทำให้นาข้าวไร่รวมใจเป็นนาข้าวออร์แกนิคในจังหวัดแพร่ที่ได้รับการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movement) และผลิต 'ข้าวกล้องหอมมะลิ 105' ภายใต้แบรนด์ ข้าวใส่ใจ จำหน่ายออกสู่ท้องตลาดเป็นรายได้หล่อเลี้ยงการทำงานของไร่
ตลอดสามปีที่ผ่านมา เขาตัดสินใจหันหลังให้กับตำแหน่ง ‘ที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์ฯ’ อย่างสิ้นเชิง ถอดสูทสวมเสื้อเกษตรกรเต็มตัว ไม่เพียงแต่ศึกษาวิถีเกษตรกรรมเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิต แต่ยังสมัครเรียนหลักสูตรออนไลน์เพื่อหาความรู้ในศาสตร์อีกหลายแขนง จนสามารถสร้างสรรค์คอร์สดูแลสุขภาพและน้ำหนักเฉพาะบุคคลผ่านแอปพลิเคชัน SAIJAI SLIM (ใส่ใจสลิม) ผู้ผ่านคอร์สนี้ต่างภูมิใจกับผลลัพธ์ที่น้ำหนักลดจริงอย่างยั่งยืนและสุขภาพดีขึ้น
ขณะนี้ทุกธุรกิจกำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค โควิด-19 อดีตที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์ฯ นำ ‘ไร่รวมใจ’ ฝ่าช่วงเวลานี้อย่างไร ทำไมนักธุรกิจในเมืองใหญ่จึงหันไปทำการเกษตร
:: ทำไมคุณพัชร์เลือกทำงานเกี่ยวกับ “การปลูกข้าว” หลังตัดสินใจยุติบทบาทนักธุรกิจในเมืองใหญ่
“ที่ปรึกษาทางด้านการวางแผนกลยุทธ์ เป็นงานที่เหนื่อยมาก ผมรับงานทีละหลายบริษัทและปรากฏตัวที่แต่ละบริษัทลูกค้าสองวันต่อเดือนเท่านั้น ในแต่ละวันที่ไป เราโดนรีดทุกอย่างออกจากหัวสมอง บางวัน 11 ประชุม บางวัน 14 ประชุม กินข้าวเที่ยงครึ่งกินไปประชุมไปก็มี ทำให้เบิร์นเอาท์ (burnout) คำนี้เป็นคำที่...คุณอานันท์ ปันยารชุน เคยใช้ตอนถามผมว่าทำไมผมถึงมาเป็นเกษตรกร พอเห็นผมถอนหายใจตอบไม่ถูก ท่านก็พูดเลยว่า ‘เบิร์นเอาท์’ ใช่ไหม
ผมมีโอกาสไปช่วยเหลืองานในตำบลน้ำชำ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ได้สัมผัสความเป็นธรรมชาติมากๆ รวมถึงการทำเกษตรกรรมทฤษฎีใหม่ของรัชกาลที่ 9 หลังจากนั้นเลยตัดสินใจซื้อที่ และในที่ด้วยความบังเอิญมีนาข้าว ทำให้เราได้กินข้าวในนาของตัวเองเป็นครั้งแรก คือมีคนช่วยปลูก เขาแบ่งไปสองส่วน เราเอามาส่วนเดียว ตอนนั้นยังไม่คิดอะไรมาก ก็ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาฯ
แต่ว่าตอนที่กินข้าวในนาตัวเอง ทำไมหอมแบบนี้ ทำให้ผมศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้น และพบว่า ในชีวิตเราเติบโตขึ้นมากับความเคยชินในสิ่งต่างๆ รอบตัว ทำให้เราลืมดูรายละเอียดสิ่งใกล้ตัว ผมมักเปรียบเทียบว่า เราเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการหายใจ เราเคยสนใจไหมว่าการหายใจที่ดีต้องทำอย่างไร เลยทำให้ผมหันกลับมาคิดว่า เราเติบโตมาพร้อมกับการกินข้าว แต่เราไม่เคยสนใจข้าวไทยเจ๋งยังไง คำว่าข้าวหอมมะลิ สมัยก่อนผมคิดว่ามีพันธุ์เดียว เอาเข้าจริงๆ ข้าวหอมมะลิมีหลายพันธุ์ และก็มีข้าวบางพันธุ์ที่มีคำว่า ‘หอม’ นำหน้า แต่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘ใส่ใจ’ เพื่อสะท้อนว่าเราควรใส่ใจรายละเอียดใกล้ตัว และ ‘ข้าวใส่ใจ’ ก็เป็นสินค้าแรกที่เราผลิตและจำหน่ายครับ
และต้องขอเท้าความด้วยว่า คุณพ่อมีอิทธิพลมากครับ ท่านเลิกกินเนื้อสัตว์บกสัตว์ปีกตั้งแต่อายุ 60 ผมเลยทำตามพ่อ เลิกกินสัตว์บกสัตว์ปีกตั้งแต่อายุ 40 และผมก็หันมากินแมคโครไบโอติกส์ ยังกินเนื้อปลาอยู่บ้าง แต่ข้าวแทบจะเรียกว่าปฏิเสธข้าวขาว กินข้าวกล้องอย่างเดียว ร่างกายก็ดีขึ้น คอเลสเตอรอลที่เคยสูงก็ลดลง ไขมันเลวเหลือครึ่งหนึ่งของคนในอายุเดียวกัน ไขมันดีเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของคนอายุเท่ากัน นี่เป็นคำพูดของหมอที่ดูจากผลเลือดผม
พอได้ผลที่ดี สุดท้ายเราก็อยากส่งของดีๆ แบบนี้ออกไป ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก เพราะผมทำธุรกิจ business-to-business มาโดยตลอด ตอนนี้ผมกำลังจะมาทำธุรกิจ business-to-consumer (บีทูซี) คนละสเกล ก็ลองดู เพราะเราก็เบิร์นเอาท์แล้วจริงๆ”
:: ผลผลิตของไร่รวมใจวางจำหน่ายที่ใดบ้าง
“เราขายตรงอย่างเดียวครับ ไม่มีวางจำหน่ายผ่านคนกลาง จริงๆ แล้วเป็นโมเดลที่เราคิดไว้ตั้งแต่ต้นครับว่าจะทำธุรกิจแบบส่งตรงเข้าบ้านคนเลย ด้วยความที่เป็นข้าวกล้องออร์แกนิค ใช้ต้นทุนสูงมาก แข่งราคากับคนอื่นไม่ได้ ผมไม่สามารถขายราคานี้โดยผ่านช่องทางคนกลางได้ จึงเป็นทั้งโชคร้ายและโชคดี
โชคร้ายคือทำให้สเกลเล็ก โชคดีคือคนที่เขาเห็นสินค้าของเราได้ลองสินค้าของเรา เขาอยู่กับเรายาวเพราะข้าวกล้องหอมมะลิ 105 เราหอมและนุ่มมาก และเราอำนวยความสะดวกอย่างดี โดยติดต่อผ่านเฟซบุ๊กใส่ใจกินอยู่เป็น และไลน์ @saijai_wellbeing”
:: ‘ไร่รวมใจ’ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ลักษณะใดบ้างหรือไม่ อย่างไร
“อย่างที่เรียนว่าโชคดี คือการไม่ผ่านหน้าร้านหรือคนกลาง เราติดต่อตรงกับครัวเรือนไปเลย และโควิดทำให้คนทำกับข้าวกินเองมากขึ้น เราค่อนข้างเติบโตสวนกระแส
แต่ต้องเล่าย้อนกลับไปเมื่อสามปีที่แล้ว ที่บอกว่าผมเลิกเป็นที่ปรึกษาฯ ผมก็ศึกษาหาความรู้ในเชิงการวางแผนเพิ่มเติม ผมเรียนออนไลน์กับ ฮาร์วาร์ด บิซิเนส สคูล เซอร์ทิฟิเคตชื่อ ดิสรัปทีฟ สแตรทิจี (Certificate in Disruptive Strategy, Harvard Business School) ช่วงนั้นดิสรัปชั่นกำลังฮิต ผมนำสิ่งที่เขาสอนมาใช้ด้วยการเริ่มถามกลับไปที่ลูกค้าที่ซื้อข้าวผมว่า คุณซื้อข้าวใส่ใจ คุณต้องการให้ข้าวเราทำอะไรให้คุณ
คนกินข้าว เราก็นึกว่าต้องการกินให้อิ่ม แต่เขาบอกซื้อ ‘ข้าวใส่ใจ’ เพื่อให้ดูแลสุขภาพ ผมก็ถามต่อ ให้ดูแลสุขภาพด้านไหน ปรากฏว่า 80 เปอร์เซนต์ของคำตอบคือให้ดูแลน้ำหนัก ต้องการลดน้ำหนัก ผมก็เลยพัฒนาสิ่งใหม่ขึ้นมา เรียกว่า SAIJAI SLIM (ใส่ใจสลิม) เป็นคอร์สลดน้ำหนักแบบองค์รวมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันชื่อเดียวกันนี้ ก็โชคดีตรงที่ว่ายุคนี้ลดการพบหน้ากัน แต่เราทำมาแล้วปีกว่า มีคนมาเข้าคอร์สลดน้ำหนักหลากหลาย เจ้าของร้าน เจ้าของทีมฟุตบอล อดีตโฆษกพรรคการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เด็กๆ อายุ 20 กว่า”
คุณพัชร์ให้สัมภาษณ์กับ ‘จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ’ ด้วยว่า คอร์สลดน้ำหนักแบบองค์รวมผ่านแอปพลิเคชัน SAIJAI SLIM ระยะเวลา 42 วัน ผู้เข้าคอร์ส 90 เปอร์เซนต์สามารถลดน้ำหนักได้จริงตามที่ตั้งใจ อีก 10 เปอร์เซนต์ที่ไม่เห็นผลเพราะไม่ได้ปฎิบัติตามคำแนะนำ เนื่องจาก SAIJAI SLIM เน้นการปฏิบัติตัวจากการให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักสุขภาพ ไม่ใช่การลดน้ำหนักด้วยการใช้ยาต้องห้ามประเภทต่างๆ
กว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน SAIJAI SLIM ที่เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของไร่รวมใจ คุณพัชร์ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในศาสตร์อีกแขนง อาทิ หลักสูตร Introduction to Food & Health จาก Stanford School of Medicine(USA), ศึกษาโยคะระดับโยคาจารย์จากสถาบันหฐราชาโยคาศรม เรียนโยคะออนไลน์จากสถาบันในแคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย มีโอกาสเรียนรู้ด้านอายุรเวช และความช่วยเหลือด้านข้อมูลจากเพื่อนซึ่งเป็นแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนจีน
:: ‘โมเดลไร่รวมใจ’ ที่คุณพัชร์ทำอยู่ เช่นการขายแบบบีทูซี การพัฒนาแอปพลิเคชัน เป็นทางออกหนึ่งสำหรับคนทำธุรกิจในการรับมือสถานการณ์โควิดได้หรือไม่
“ผมขอใช้คำว่าบังเอิญ ตอนเราทำ เราไม่รู้ว่ามันจะมีโควิด แต่เราเห็นแนวโน้ม และด้วยต้นทุนของเรา มันทำให้เราผ่านคนกลางไม่ได้จริงๆ เราก็เลยต้องทำทุกอย่างเอง ไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งเหนื่อยมาก”
:: โควิด-19 อยู่กับเราไปอีกนานเท่าใดยังไม่ทราบ หลายบริษัทหลายธุรกิจประสบปัญหา ในฐานะผู้มีประสบการณ์ทำงานด้าน ‘การวางแผนกลยุทธ์และการตลาด’ คุณพัชร์พอจะให้ความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรได้หรือไม่
“ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ และอยู่กับมันให้ได้ คนที่ไม่เปลี่ยน ก็จะประสบปัญหา เบื้องต้นผมขอพูดแค่นี้
แต่ก่อนหน้าที่ผมจะได้รับการติดต่อจาก ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ผมเพิ่งสรุปแนวคิดของตัวเองออกมาเป็น 7 ข้อ ผมใช้คำว่า ‘บริษัทของผมสามารถอยู่รอดและดีขึ้นในช่วงโควิด-19 ได้อย่างไร’
ข้อที่หนึ่ง Employees come first. Find the right team members, love them, and take care of them as best as you can. พนักงานมาก่อนเสมอ พนักงานเป็นคนสำคัญที่สุด สิ่งที่เราต้องทำคือต้องหาสมาชิกของทีมเราที่ถูกต้อง เราต้องรักเขาดูแลเขาให้ดีที่สุด
ข้อที่สอง We offer only good things to our customers. เราจะต้องเสนอเฉพาะสิ่งดีๆ เท่านั้นให้กับลูกค้าของเรา อะไรที่ไม่ดีจริง อะไรที่หลอกเขา อย่าทำ มันอยู่ไม่นานไม่ยั่งยืน
ข้อที่สาม Focus on what really needs to be done, not everything. And begin with yourself. เราเองจะต้องโฟกัสอยู่เฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องทำจริงๆ ไม่ใช่โฟกัสทุกอย่าง เพราะว่ามีอะไรเยอะแยะเข้ามา อย่าไปเสียเวลากับทุกอย่าง ให้ใช้เวลากับสิ่งที่จำเป็นจริงๆ นิสัยนี้ต้องให้เริ่มที่ตัวเรา
ข้อที่สี่ When we are proud of our products and services, we passionately deliver them to our customers. Make sure they say ‘I got more than I paid’ in the end. เมื่อเรามีความภูมิใจ เชื่อมั่น ศรัทธาและรักในสินค้าและบริการของเรา เราจะสามารถส่งมอบสินค้าและบริการของเราไปยังลูกค้าของเราได้โดยมีแพสชั่นตลอดเวลา ลูกค้าต้องได้ความรู้สึกว่าเขาได้มากกว่าที่เขาจ่ายในตอนจบ
ข้อห้า We make things fun. ทำทุกอย่างให้สนุก น้องๆ ในทีมผมทุกคนประชุมผ่านซูมก็สนุก ทำงานก็สนุก ผมอยู่บ้านถ่ายคลิปเองคนเดียวก็สนุก ข้อที่ห้าสัมพันธ์กับข้อแรกคือหาสมาชิกในทีมที่ถูกต้อง
ข้อที่หก Multi-tasking is normal. Cross-functional is the new normal. คนหนึ่งคนทำงานได้หลายอย่าง (Multi-tasking)เป็นเรื่องธรรมดาแล้ว ครอส-ฟังก์ชันนัลเป็นนิวนอร์มอล เป็นสิ่งที่ผมได้จากบทความของแมคคินซีย์ (McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจในอเมริกา) คำว่าครอส-ฟังก์ชันนัลเกิดขึ้นมาในช่วงล็อคดาวน์โควิดครั้งแรก
แมคคินซีย์บอกว่าคุณต้องสร้างครอส-ฟังก์ชันนัลทีมขึ้นมา จะเป็นทีมที่รวมบุคลากรจากหลายๆ ฝ่ายในยามปกติเข้ามาอยู่ในทีมเดียวกัน ไม่ให้อยู่ไกลกัน ต้องเอาหลายมุมเข้ามาเจอกันในเวลาเดียวกัน เพื่อพัฒนาเพื่อตัดสินใจในเวลาอันสั้น เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก พอผมเขียนข้อนี้จบ ผมก็ถามตัวเองว่า แล้วเน็กซ์นอร์มอลคืออะไร ซึ่งตอนนี้ผมกำลังเตรียมการอยู่
ข้อที่เจ็ด Adopt the 3 E’s: Educate, Execute, and Evolve. ใช้หลักการทำงาน 3E,
Educate เราต้องเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด อย่าคิดว่าเรารู้เยอะแล้ว ผมยอมรับว่าช่วงหนึ่งผมเคยเป็นเคยคิดว่าเรามีความรู้เยอะมาก ปรากฏว่าในขณะที่เราคิดแบบนั้นโลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอมาเริ่มเรียนรู้อีกที สนุกมาก
Execute การลงมือทำ เรียนแล้วเก็บไว้ในหัวไม่นำออกมาทำ ไม่นำออกมาใช้..ไม่ได้ สิ่งที่เจ๋งอย่างหนึ่งสำหรับโลกปัจจุบันก็คือ ในโลกออนไลน์ สามปีที่แล้วมีคนพูดว่า ถ้าคุณลงคอนเทนต์อะไรไปในโซเชียลมีเดียแล้วคุณพลาด คุณจะต้องแก้ไขให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ฉะนั้นเราอย่าไปกลัวการ Execute ทำไปเถอะ ถ้าพลาด แก้ไขได้ แต่ต้องทำบนพื้นฐานความถูกต้องนะครับ
Evolve คือวิวัฒนาการ เราต้องวิวัฒนาการไปสู่การทำงานที่ดีขึ้น การทำงานที่สนุกขึ้น ลูกค้าต้องมีความสุขมากขึ้น ผมเพิ่งพูดเรื่องนี้ให้น้องๆ เราประชุมออนไลน์กัน ตบมือกัน น้ำตาไหลกัน ผมบอกว่า น้องๆ คุณรู้ไหมสี่ปีที่แล้วเราคือบริษัทขายข้าวออร์แกนิค แต่ตอนนี้เราได้อยู่ในธุรกิจเวลเนสโดยสมบูรณ์แล้ว เราไม่ใช่ผู้ขายข้าวอย่างเดียวอีกต่อไป เรามีทั้งแอปฯ SAIJAI SLIM ที่ช่วยคนลดน้ำหนักอย่างยั่งยืน เรามียูทูบแชนแนล ‘ใส่ใจกินอยู่เป็น’ ที่ให้ความรู้ เป็นประโยชน์กับคนฟังคนดูตลอด มีไลน์กลุ่ม ‘อายุยืนไปด้วยกัน’ ซึ่งเป็นสังคมบวกที่ต่างให้ความรู้ ความสุข ความจรรโลงใจ แก่กันและกัน และเรากำลังเริ่มคิดโปรเจคใหม่ๆ อีก
เป็นไอเดีย 7 ข้อที่ผมสรุปได้ว่าทำให้เราดีขึ้น แต่ภายใต้ 7 ข้อนี้ ผมบอกได้เลยว่าทุกคนทำงานหนักขึ้น”
พัชร์ เคียงศิริ ไม่ได้รับประกันว่า 7 ข้อนี้ทำแล้วทุกธุรกิจจะอยู่รอดในช่วงโควิด-19 แต่ผู้เขียนเชื่อว่า น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ที่จะนำบางข้อ หรือทั้งหมดในข้อเขียนนี้ไปประยุกต์ใช้กับงานของท่านเอง
* * * * * * * * * *
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ เผยสัญญาณบวกสู้ ‘โควิด-19’ โดย ‘กระชาย’ จากห้องทดลอง
‘กษมา กันบุญ’ จากวิศวกรสู่ 'แชมป์โลก' การชงกาแฟแบบ 'ไซฟอน' คนแรกของไทย
'โอลิมปิก 2020' จารีต ‘เครื่องแต่งกาย’ ญี่ปุ่น ใน ‘Costume’ ผู้เชิญเหรียญ