สถิติโควิด 'นิวไฮ' จุดพีค 'ขยะติดเชื้อ'
สถิติผู้ติดเชื้อ "โควิด" ตั้งแต่การระบาดระลอกใหญ่เดือน เม.ย.2664 กำลังดันยอดขยะติดเชื้อให้สูงขึ้นเรื่อยๆ
จากประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐและเอกชน ดำเนินการมาตรการ Work from Home เพื่อลดการรวมกลุ่มในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ยกระดับวิกฤติมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อมาตรการ Work from Home รวมกับการสิ่งที่แพทย์เสนอให้ประชาชน "ล็อกดาวน์" ตัวเองและคนในครอบครัว เพื่อลดอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จนทำให้ผู้ติดเชื้อ "นิวไฮ" ทะลุ 2 หมื่นคนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา
ทว่าการล็อกดาวน์ และ Work from Home อีกด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้ชีวิตประจำวันที่บ้านจะเพิ่มปริมาณขยะที่เกิดขึ้นแต่ละวันโดยเฉพาะตัวเลข "ขยะติดเชื้อ" มียอดทิ้งพุ่งสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวเลขล่าสุดวันที่ 9 ส.ค. มีข้อมูลขยะติดเชื้อ กทม.อยู่ที่ 126,700 กิโลกรัม(กก.) แบ่งเป็นขยะติดเชื้อทั่วไป 70,380 กก. และขยะติดเชื้อโควิด 56,320 กก. มาจากขยะกระดาษทิชชู หน้ากากอนามัย ชุดตรวจแอนติเจนแบบเร็ว (Antigen Test Kit) ภาชนะใส่อาหารและช้อนส้อมพลาสติก(แบบใช้ครั้งเดียว) ขวดน้ำดื่ม หรือหลอดดูดน้ำพลาสติก
"กรุงเทพธุรกิจ" ตรวจสอบข้อมูล กทม.พบว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ค.2564 มีปริมาณ "ขยะติดเชื้อ" ที่จัดเก็บสูงขึ้นตามลำดับ ดังนี้
เดือน เม.ย. จัดเก็บขยะติดเชื้อเฉลี่ย 61.19 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะติดเชื้อทั่วไปอยู่ที่ 45.77 ตันต่อวัน และขยะติดเชื้อโควิดเฉลี่ย 15.41 ตันต่อวัน
เดือน พ.ค. จัดเก็บขยะติดเชื้อเฉลี่ย 71.24 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะติดเชื้อทั่วไปอยู่ที่ 47.86 ตันต่อวัน และขยะติดเชื้อโควิดเฉลี่ย 23.38 ตันต่อวัน
เดือน มิ.ย. จัดเก็บขยะติดเชื้อเฉลี่ย 83.86 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะติดเชื้อทั่วไปอยู่ที่ 53.41 ตันต่อวัน ขยะติดเชื้อโควิดเฉลี่ย 30.45 ตันต่อวัน
เดือน ก.ค. จัดเก็บขยะติดเชื้อเฉลี่ย 98.83 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะติดเชื้อทั่วไปอยู่ที่ 61.18 ตันต่อวัน ขยะติดเชื้อโควิดเฉลี่ย 37.65 ตันต่อวัน ทุบสถิติจัดเก็บขยะติดเชื้อมากที่สุด
หรือหากนับสถิติ 7 วันล่าสุด กทม.จัดเก็บขยะติดเชื้อ "โควิด-19" ดังนี้
วันที่ 3 ส.ค. 37,817 กก.
วันที่ 4 ส.ค. 43,000 กก.
วันที่ 5 ส.ค. 37,920 กก.
วันที่ 6 ส.ค. 42,314 กก.
วันที่ 7 ส.ค. 43,924 กก.
วันที่ 8 ส.ค. 41,957 กก.
วันที่ 9 ส.ค. 56,320 กก.
สำหรับแผนจัดการขยะติดเชื้อโควิด ที่มาจากการจัดเก็บขยะบ้าน ชุมชน คอนโด "สำนักงานเขต" จะมีทีมเฉพาะกิจเก็บขยะระบบ "กักตัวที่บ้าน" นำไปไว้ที่จุดพักของเขตพื้นที่ จากนั้นบริษัทกรุงเทพธนาคม(เคที) นำขยะติดเชื้อไปกำจัดที่เตาเผาขยะติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุชรองรับได้ 70 ตันต่อวัน และนำไปกำจัดที่เตาเผาขยะผลิตไฟฟ้าขนาด 500 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขมในอุณหภูมิที่ 1 พันองศาเซลเซียส
จากแผนยกระดับระบบ "กักตัวที่บ้าน" นั้น "สำนักสิ่งแวดล้อม" ได้รณรงค์ประชาชนที่ต้องกักตัวที่พัก หอพัก อพาร์ทเมนท์คอนโดมิเนียม และบ้านพักอาศัยในกรุงเทพฯ แยกขยะติดเชื้อออกจากจากขยะทั่วไป โดยกลุ่ม "ขยะติดเชื้อ" ให้นำขยะใส่ถุงมาซ้อนกัน 2 ชั้น แล้วมัดปากถุงให้แน่น ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เขียนป้ายหน้าถุงว่า "ขยะติดเชื้อ" และแยกไว้ในที่พักป้องกันเชื้อโควิดกระจายสู่ภายนอก เพื่อเตรียมพร้อมให้ "ทีมเฉพาะกิจ" สำนักงานเขตมาจัดเก็บต่อไป
สำหรับขยะ "หน้ากากอนามัย" ซึ่งผ่านการใช้งานจากบุคคลทั่วไปและผู้ป่วยโควิด-19 ให้ทิ้งหน้ากากอนามัยใส่ถุงปิดสนิท แล้วมัดปากถุงให้แน่น แล้วเขียนติดหน้าถุงว่า "หน้ากากอนามัย" และแยกทิ้งให้ชัดเจนกับขนะทั่วไป หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) ซึ่งตั้งวางในพื้นที่สาธารณะ 1 พันจุด อาทิ สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการ กทม. หน้าห้างฯ วัด หรือชุมชนต่างๆ
สถิติขยะติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นตามลำดับจากการระบาดระลอกใหญ่ตั้งแต่เดือน เม.ย.2664 กำลังเป็นอีกหนึ่งข้อปฏิบัติเคร่งครัดจากทุกฝ่าย เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤติ ไปสู่ทางรอดโดยเร็วที่สุด.