'รับยาฟรี ถี่ผิดปกติ'จริง! สปสช.ตรวจสอบปมแม่ลูกสิทธิบัตรทองนำขายออนไลน์
สปสช.ตรวจสอบพบ “รับยาความถี่ผิดปกติจริง” ปมแม่ลูกสิทธิบัตรทอง เอามาขายต่อในออนไลน์ เร่งเช็กเชิงลึกรับหน่วยบริการเดียวหรือหลายหน่วย เบื้องต้นมอบสปสช.เขตลงบันทึกประจำวัน ย้ำเอาผิดตามกฎหมาย ทำกองทุนฯเสียหาย
จากที่มีข้อมูลเผยแพร่ในสื่อโซเชียลมีเดีย กรณีมีคุณแม่นำยาพ่นเพื่อบรรเทาอาการภูมิแพ้และคัดจมูก ซึ่งได้รับการพาลูกเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและนำมาขายทางออนไลน์ โดยระบุถึงการใช้ สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ได้มีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนนั้น
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานพิธีปล่อยขบวนคาราวาน รถเพื่อนใจ สู้ภัยน้ำท่วม ในประเด็นที่แม่พาลูกตระเวนรับยาพ่นจมูก แล้วนำมาขายต่อทางออนไลน์ โดยมีการอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิ30 บาทรักษาทุกที่ว่า เป็นเรื่องของระบบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่สามารถตรวจสอบได้ ที่ผ่านมาก็ได้มีการตรวจสอบ ลงโทษหรือดำเนินคดีบางรายแล้ว ส่วนเรื่องการตรวจสอบระบบไอทีก็จะต้องทำให้เข้มงวดขึ้น ไม่ให้มีอะไรที่ผิดพลาดออกมา ส่วนกรณีนี้กำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมด คงไม่มีปัญหาอะไร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถป้องกันได้
เมื่อถามต่อว่า มีช่องโหว่อะไรที่ทำให้เกิดการตระเวนไปตามโรงพยาบาลเพื่อนำยาออกมาขายได้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมาก ใน 1 ปี มีผู้ป่วยมาโรงพยาบาล 304 ล้านคน/ครั้งต่อปี มุ่งเน้นการรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยทั้งประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข กำลังทำนโยบายลดการป่วยให้น้อยลง บุคลากรในส่วนของสปสช.ที่ทำอยู่งานก็หนัก แต่เมื่อลดผู้ป่วยน้อยลง การใช้จ่ายก็น้อยลง ก็จะมีเวลาตรวจสอบได้ถี่ถ้วนมากขึ้น ไม่ใช่ไม่ได้ดูรายละเอียด แต่มีไคนขมาก จึงมีหน้าที่ลดคนป่วยโดยการป้องกันก็ทำมา 2 เดือนแล้วในปีงบประมาณ 2568
ด้านทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบเป็นการไปรับยาในความถี่ที่แปลกๆ ผิดปกติจริง จึงได้มอบหมายให้สปสช.เขตที่เกี่ยวข้อง ไปตรวจสอบในรายละเอียดว่าเป็นการไปรับยาที่หน่วยบริการหน่วยเดียวหรือไปรับยาในหลายๆหน่วยบริการ และให้สปสช.เขตไปลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน
ถามถึงการเอาผิดกับผู้กระทำลักษณะเช่นนี้ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ตามหลักกฎหมาย ต้องพิจารณาว่าใครเป็นผู้เสียหาย เบื้องต้นสปสช.ลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน เพราะในภาพใหญ่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับความเสียหาย เนื่องจากเงินทั้งหมดเป็นงบประมาณแผ่นดิน เงินทั้งหมดมีไว้เพื่อจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชน เมื่อประชาชนที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทป่วยก็จะได้รับบริการ โดยใช้งบประมาจากกองทุนฯจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชน
ดังนั้น หากมีการรับยาถี่เกินไป ซึ่งดูจากพฤติกรรมแล้วมักจะไปในคลินิกหรือห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการ ที่มีความเร่งด่วน และเห็นใจแพทย์พยาบาลที่ห้องฉุกเฉินที่จะต้องเอาเวลาส่วนหนึ่งมาดูผู้ป่วย และบังเอิญช่วงนั้นมีคนไข้ที่ฉุกเฉินกว่าเข้าไป ยิ่งทำให้การตรวจสอบน้อย กรณีเช่นนี้ก็ว่าตามกฎหมาย
“ส่วนจะสามารถเอาผิดไปถึงคนที่มีพฤติการณ์แบบนี้หรือไม่ เบื้องต้นหลักการใหญ่ๆเอาผิดแน่ๆ ส่วนจะไปถึงตรงไหนก็จะต้องเป็นเรื่องตามกฎหมาย ซึ่งการเจอการกระทำความผิดเช่นนี้ตรวจสอบเจอเมื่อ 10 ปีก่อนโดยนำข้อมูลมาดูว่ามีการใช้บริการที่ผิดปกติ มี 1 ราย หลังจากนั้นก็ไม่เจออีก จนมาปรากฏกรณีนี้”ทพ.อรรถพรกล่าว
สำหรับระบบป้องกัน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า กรณีนี้เป็นการเบิกจ่ายจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งสปสช.ได้มีการโอนงบประมาณไปให้หน่วยบริการแล้ว เมื่อโอนขาดไปแล้วในส่วนของสปสช.จึงมีการมอร์นิเตอร์ในภาพใหญ่เรื่องของการรับบริการในภาพใหญ่เป็นอย่างไร มีการไปรับซ้ำ หรือในความถี่ที่ผิดปกติหรือไม่ ถ้าเจอมีการรับบริการในความถี่ผิดปกติจึงลงไปดูในรายละเอียดว่าไปรับซ้ำ รับถี่เกินไปหรือไม่ เป็นการมอร์นิเตอร์ในภาพกว้าง