ป่วยโควิดกักตัวที่บ้านกว่า 1 แสนราย ศบค. เร่งปรับ 'รพ.สนาม' รับผู้ป่วยสีเหลือง
ศบค. เผย มีผู้ป่วยโควิดกักตัวที่บ้าน 'Home isolation' พื้นที่กทม. กว่า 1 แสนราย เร่งขยับ รพ.สนาม ฮอสพิเทล รับผู้ป่วยสีเหลือง เตรียมจัดทำ 'Community isolation' กลุ่มพิเศษ ดูแลกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช มีประวัติใช้สารเสพติด เด็กพิเศษ
วันนี้ (9 ส.ค. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวถึง สถานการณ์ผู้ป่วยในกทม. ปริมณฑล และการจัดสรรเตียง ว่า อย่างที่เน้นย้ำเสมอว่า เมื่อทางผู้ป่วยโทรไป 1330 จะมีระบบจับคู่อัตโนมัติ ในการจับคู่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ หน่วยบริการปฐมภูมิ จำนวนใหญ่ ที่หน่วยบริการปฐมภูมิโทรไปภายใน 24 ชั่วโมงเพื่อคัดแยกอาการจะพบว่า ส่วนใหญ่เป็น สีเขียว 70-80 %
หากดูการรอเตียงเทียบกับเดือนก.ค. ที่ผ่านมา เทียบกับส.ค. ในช่วงสัปดาห์แรก พบว่า ในช่วง 24 ก.ค. อัตราผู้ป่วยรอเตียงสีเขียวและเหลืองพุ่งสูง แต่ใน 8 ส.ค. พบว่าอัตราการรอเตียงกราฟปักหัวลงอย่างชัดเจน แปลว่าตอนนี้มีการปรับระบบบริการ ดูแลผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่ได้รับการคัดแยก ดูแลจากหน่วยปฐมภูมิ จะได้รับการจัดสรรใน Home isolation หากที่บ้านไม่เหมาะสม ก็เข้าสู่ Community isolation หรือ การแยกกักในชุมชน
ตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่า การทำงาน Home isolation ตอนนี้หน่วยปฐมภูมิมีทั้งสิ้นมากกว่า 246 หน่วย พาผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ Home isolation ในกทม. แล้วเกือบแสนราย และขอประชาสัมพันธ์คลินิกเอกชนในกทม. อีกกว่า 3,000 แห่ง หากมีศักยภาพร่วมดูแลได้ ขอให้ติดต่อไปที่ สธ.
- ขยาย Home /Community isolation ต่อเนื่อง
นอกจาก Home isolation จะเห็นว่า Community isolation ตอนนี้มี 67 แห่ง ขยายทุกเขตกทม. 8,886 เตียง ในบางเขต เริ่มมีความหนาแน่น และแต่ละเขตพยายายามเพิ่ม Community isolation และจะรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวอ่อน เขียวเข้ม โดยในสัปดาห์นี้ มี Community isolation ที่เปิดแล้ว ในเขตบางนา คือ สโมสรกรมอุตุนิยมวิทยา เขตป้อมปราบ คือ ศูนย์พักคอยประปาแม้นศรี , เขตสาทร ศูนย์พักคอยลานกีฬาชุมชนทุ่งมหาเมฆ ,บางแค โรงเรียนคลองหนองใหญ่ , ภาษีเจริญ วัดกำแพง เป็นต้น
- CI Plus 7 แห่ง
ขณะเดียวกัน มี Community isolation บางแห่งที่เป็น CI Plus ดูแลผู้ป่วยระดับเหลืองเข้มได้ 7 แห่ง รวมจำนวนรับได้ 1,036 เตียง ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มการรองรับผู้ป่วยสีเขียวอ่อน เขียวเข้ม และสีเหลืองอ่อน ในการดูแลมากขึ้น ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนว่าเราจะมีเตียงรองรับผู้ป่วยสีแดงมากขึ้นด้วย
- เตียงผู้ป่วยรับสีแดง เหลืองเข้ม เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน มีเตียงผู้ป่วยสีแดงที่เพิ่มขึ้น จากการที่ผู้ป่วยได้รับอนุญาตให้กลับบ้านวันหนึ่งประมาณ 14,000 กว่าเตียง หากมองในกทม. จะพบว่า มีเตียงบวกเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ป่วยระดับสีแดง และเหลืองเข้มมากกว่า 5,000 เตียง แต่การขยายศักยภาพเตียงสีแดงทำได้อย่างยากลำบาก เพื่อเตียงเหล่านี้ต้องการบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทาง และมีเครื่องมือในการรักษาในห้องความดันลบได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รพ.บุษราคัม รับผู้ป่วยสีแดง 17 เตียง
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา รพ.บุษราคัม ที่แต่เดิมดูแลผู้ป่วยสีเหลือง สัปดาห์ที่ผ่านมา สามารถเปิดส่วนที่ดูแลผู้ป่วยอาการหนักได้อีก 17 เตียง เป็นการดูแลทั้งให้ออกซิเจน เครื่องไฮโฟวล์ ห้องความดันลบ เครื่องช่วยหายใจ รวมตั้งแต่ 14 พ.ค. 64 ดูแลผู้ป่วยไปแล้ว 15,700 ราย รักษาหาย 11,612 ราย
- เร่งปรับ รพ.สนาม ฮอสพิเทล รับผู้ป่วยสีเหลือง
นอกจากนี้ สธ. ยังมีการปรับเตียงจาก รพ.หลัก ทั้งภาครัฐ เอกชน ในการรองรับได้ ในส่วนของ กทม. 14 แห่ง ราว 7,000 กว่าเตียง และมีฮอสพิเทล รพ.สนาม จากเดิมที่ รพ.สนามดูแลผู้ป่วยสีเขียว มีการปรับให้ดูแลสีเหลืองได้ เพิ่มได้อีก 2,000 กว่าเตียง รวมทั้ง ฮอสพิเทลทุกแห่ง สามารถปรับดูแลสีเหลืองอ่อนได้ด้วยได้เพิ่มมาอีก 4,000 เตียง เป็นต้น
สะท้อนให้เห็นว่า ในส่วนของการทำงาน กทม. ปริมณฑล สธ. การพยายามเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยที่อยู่บ้านหรือแยกกักในชุมชน และเพิ่มศักยภาพเตียงระดับแดง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
- ส่งต่อผู้ป่วยสีแดง 500 เที่ยวต่อวัน
ขณะเดียวกัน หากดูในส่วนของการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากศูนย์เอราวัณ หรือ สพฉ. มีการรับส่งผู้ป่วยที่มีอาการเปลี่ยนแปลง และต้องได้รับการรักษาในผู้ป่วยระดับสีแดง มากถึงวันละ 500 เที่ยวต่อวัน เป็นสภาพการทำงานหนักที่ สธ. พยายามร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการดูแลบุคลากร และผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาโดยเร็วและปลอดภัย
- ไม่ให้ RT-PCR เป็นอุปสรรคในการรักษา
สิ่งที่ ที่ประชุม ศบค. ชุดเล็กประชุมในวันนี้ เป็นสิ่งที่สังคมถามมาตลอด คือ เรื่องของการตรวจ RT-PCR ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยต้องสงสัยเป็นผู้ติดเชื้อ ไปรับการตรวจเชิงรุก ได้ผล ATK เป็นบวก จะเข้ารับการรักษา อาจจะถูกปฏิเสธจากสถานพยาบาล เพราะต้องไปตรวจ RT-PCR ยืนยันก่อน ดังนั้น ในที่ประชุม EOC ได้สรุปว่า การดำเนินงาน ผล ATK สามารถรักษา Home isolation ได้ทันที โดยไม่ให้ผลการตรวจ RT-PCR เป็นอุปสรรค การเข้าถึงการรักษา
- ผลการตรวจ ATK ผลบวกเฉลี่ย 7%
ในกทม. เมื่อมีผู้ป่วยกลุ่ม PUI ไป รพ. อัตราการพบผลบวก 40% โดยที่ต่างจังหวัด 25% แต่หากเป็น ATK ที่ตรวจโดยการคัดกรองเชิงรุก สถานพยบาลที่กระจายทั่วกทม. พบผลบวกที่ 10-14% ล่าสุด ของสัปดาห์นี้ คือ ราว 7%
ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศ 13 เขตสุขภาพ ผลตรวจ PUI ผลบวกจะอยู่ที่ 38.13% บางจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานอาจจะขึ้นไปถึง 50% ในบางจังหวัด รวมถึงภาคเหนือบางจังหวัด
ขณะที่ กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือ ในแต่ละ รพ. หากพบผู้ป่วย PUI คือ มีอาการระบบทางเดินหายใจ ขอให้ตรวจ หาเชื้อโควิดทุกราย เพราะอัตราการพบ PUI ค่อนข้างสูง ขณะที่อธิบดีกรมการแพทย์ ได้เน้นย้ำว่า ผลตรวจ ATK หากเป็นบวก เรียกว่าเป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่าย สามารถเข้าระบบแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home isolation โดยไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ เน้นย้ำไปยังศูนย์บริการ สถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้งภาครัฐ เอกชน โดยในส่วนของภาครัฐ กรมการแพทย์ได้มีหนังสือแจ้ง แนวทางการดูแลผู้ที่มีผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วย ATK เป็นบวก
ส่วน ภาคเอกชน จะเป็นหนังสือจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เช่นกันในทุกสถานบริการ Community isolation (CI) สามารถรับผู้ป่วยเข้าได้ทันที เพราะกรณีผลบวกลวง พบเพียง 3-5% เพราะฉะนั้น กรณีผู้ติดเชื้อเข้าข่าย ATK เป็นบวก ขอให้รับผู้ป่วยเข้าได้ทันที ใน CI โดยให้ผู้ป่วยเซ็นยินยอมการรักษา แยกผู้ป่วยออกจากผู้ป่วยรายอื่น และมีการตรวจ PCR ยืนยัน หากเป็นบวก จึงให้ผู้ป่วยเข้าสู่บริเวณหลักรวมกับผู้ป่วยอื่น คล้ายกับระบบเรือนจำ และสถานประกอบการ
- ปักหมุด จุดตรวจ และ CI
ผู้ช่วย ศบค. กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ศบค. ได้ร่วมกับทีมอาสา เทคฟอร์ไทยแลนด์ รวบรวม สถานที่ จุดตรวจโควิด ที่เปิดให้บริการ ใน Koncovid.com แสดงปักหมุนตรวจ ในการไปตรวจได้ และวันนี้มีการเพิ่ม หากต้องการค้นเฉพาะรับตรวจ PCR หรือ ATK ตรงนี้ เว็บไซต์ปรับให้แล้ว สามารถดูได้ และตอนนี้มีการปักหมุน Community isolation กรณีผู้ที่ต้องการค้นหาการดูแล ศูนย์แยกกักในชุมชน สามารถเข้า Koncovid.com พิมพ์รหัสไปรษณีย์ของท่าน โดยสามารถรองรับระบบมือถือ แท็บเล็ต ได้ เป็นการเพิ่มศูนย์แยกกักและดูแลในชุมชนที่อัพเดทที่สุด เพราะมีการเปิดเพิ่มทุกวัน
โดยข้อมูล จะเป็น Community isolation ในกทม. เป็นหลัก และในสัปดาห์นี้ ทีมงานจะปักหมุดให้ทั่วประเทศ แต่ต้องเรียนทำความความเข้าใจประชาชน เป็นการปักหมุด ที่อยู่ใกล้ๆ บ้านท่าน และจะมีการอัพเดทการเปิดเพิ่มทุกวัน การเข้ารับบริการ ไม่ใช่วอล์คอินด้วยตัวเอง แต่ต้องเข้าระบบผ่าน 1330 สบายดีบอท หรือคิวอาร์โค้ด ซึ่งหากเข้าระบบแล้ว หน่วยบริการจะโทรติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อคัดแยกอาการ ในหลักการที่หน่วยปฐมภูมิจะเลือกจับคู่ให้กับ Community isolation ที่อยู่ใกล้บ้านของท่าน
สธ. ยังประกาศเพิ่มว่า Community isolation หากมีความพร้อมแต่ยังไม่มี รพ.พี่เลี้ยง สามารถติดต่อมาที่ กรม สบส. ในการจัดหา รพ. พี่เลี้ยงได้ และการทำงานที่เขตตอนนี้ 50 หมายเลข หมายเลขละ 20 คู่สาย ทุกวันนี้มีการใช้บริการวันละกว่า 5,000 ราย จะมีการจ้างพนักงานเพิ่ม เพื่อให้การบริการ สะดวก รวดเร็ว ทั้งในแง่ของการดูแลผู้ป่วยเข้ารับบริการ และดูแลผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้าน เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและปลอดภัย
- จัด Community isolation กลุ่มพิเศษ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำ Community isolation กลุ่มพิเศษ ที่ประชุมพูดถึง กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช มีประวัติใช้สารเสพติด เด็กพิเศษ ตรงนี้ กรมสุขภาพจิต สถาบันราชานุกูล จะเข้ามาเป็น รพ. พี่เลี้ยงที่จัดสรรให้การดูแล ครบถ้วน สำหรับผู้ป่วยที่มีการดูแลพิเศษ