'สุพัฒนพงษ์'เตรียมประชุม รมว.เศรษฐกิจอาเซียน ดันแก้อุปสรรคการลงทุน
“สุพัฒนพงษ์” เตรียมประชุมร่วม รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 8 ก.ย. รับรองกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนอาเซียน 11 ด้าน แก้ปัญหาอุปสรรคการลงทุน เตรียมดันความร่วมมือภูมิภาคให้อาเซียนเป็นซัพพายเชนสำคัญของโลก
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.เมื่อเร็วๆนี้เห็นชอบร่างกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Facilitation Framework : AIFF) ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอ โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนของไทยในการรับรองกรอบ AIFF ในการประชุม รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียนครั้งที่ 24(ASEAN Economics Ministers-24th ASEAN Investment Area Council Meeting : AEM-24tAA Counail Meeting ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน ที่จะถึงนี้
โดยกรอบ AIFF ในครั้งนี้ให้ความสำคัญ ในการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในฐานะเสาหลักสำคัญของการลงทุนที่นำไปสู่การรักษาและการเติบโตของการลงทุนในประเทศ ผ่านการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนในการจัดตั้ง ดำเนินการ และขยายการลงทุนและธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภูมิภาคอาเชียนกำลังจะก้าวเข้าสู่สภาพแวดล้อมภายหลังวิกฤติการระบาดของโรคโควิด 19 โดยมุ่งให้อาเซียนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด 19 โดยเน้นที่การลงทุนเพื่อผลักดันให้อาเซียนเป็นฐานการผลิต (ซัพพายเชน) ที่สำคัญของโลก
สำหรับสาระสำคัญในการอำนวยความสะดวกการลงทุน 11 ด้าน ได้แก่ 1.ความโปร่งใสของมาตรการและข้อมูล เช่น การเข้าถึงได้ของมาตรการบังคับใช้ทั่วไปความสะดวก และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในรัฐสมาชิกที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น 2.การปรับปรุงด้านการลงทุน และเร่งรัดขั้นตอนการปฏิบัติและข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น มาตรการบังคับใช้ทั่วไปเกี่ยวกับการลงทุนมีการนำไปบังคับใข้อย่างสมเหตุสมผล ตรงตามวัตถุประสงค์ และเป็นธรรมครอบคลุม ขั้นตอนด้านการลงทุนไม่เป็นอุปสรรคต่อความสามารถของผู้ลงทุนในการลงทุน ด้านเอกสารไม่ทำให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
3.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต เช่น ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนากระบวนการรับคำขอด้านการลงทุน การอนุมัติการต่ออายุ และการดูแลหลังการลงทุ น สนับสนุนการใช้สำเนาเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายในประเทศต่าง ๆ ของแต่ละรัฐสมาชิก แทนการใช้เอกสารต้นฉบับ ส่งเสริมทางเลือกในการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บโดยหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลด้านการลงทุน เป็นต้น
4.แพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จ เช่น สนับสนุนให้ลดข้อกำหนดสำหรับผู้ยื่นคำขอในการประสานติดต่อหน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งหน่วยงานสำหรับการขออนุญาตลงทุนในเขตแดนของรัฐสมาชิกนั้น 1 สนับสนุนให้มีแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จสำหรับผู้ลงทุนเพื่อชำระค่าธรรมเนียมและภาษีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตเข้าไปลงทุน จัดตั้ง ควบรวม และขยายการลงทุน เป็นต้น
5.บริการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ลงทุน เช่น การจัดให้มีบริการช่วยเหลือผู้ลงทุนในขอบเขตที่ส่ามารถทำได้เพื่อแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน พิจารณาจัดตั้งกลไกในการให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่มีอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาที่พบบ่อยซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุน เป็นต้น
6.ความเป็นอิสระของหน่วยงานที่มีอำนาจ เช่น เมื่อจำเป็นต้องมีการขออนุญาตในการลงทุน หน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินการและตัดสินใจอย่างเป็นอิสระจากองค์กรใดๆสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการขออนุญาตในการลงทุนนั้นได้ เป็นต้น
7.การเข้าเมืองและการพำนักอยู่เป็นการชั่วคราวของนักธุรกิจเพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุนเช่น สนับสนุนให้อำนวยความสะดวกโดยเร่งดำเนินการเกี่ยวกับคำขอเข้าเมืองและการพำนักอยู่ เป็นการชั่วคราวของนักธุรกิจเพื่อวัตถุ ประสงค์ในการลงทุนภายในระยะเวลาอันสมควร เป็นต้น
8.การอำนวยความสะดวกด้านปัจจัยสนับสนุนการลงทุน โดยช่วยเหลือผู้ลงทุนในการบ่งชี้ปัจจัยสนับสนุนการลงทุน เช่น แรงงาน แหล่งเงินทุน ผู้ผลิตภายในประเทศ และโอกาสในการจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น 9.กลไกการให้คำปรึกษาสำหรับนโยบายการลงทุน
เช่น สนับสนุนให้มีกลไกสำหรับการปรึกษาและสนทนาอย่างสม่ำเสมอกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ให้ความสนใจ โดยรวมถึงผู้ลงทุนและหน่วยงานภาคเอกชน เป็นต้น
10.ความร่วมมือ เช่นอำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสารและร่วมมือกับรัฐสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เป็นต้น และ 11.การดำเนินการตามกรอบ AIFF ฉบับนี้ และแจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการฯทราบอย่างสม่ำเสมอ