‘ไทย - ญี่ปุ่น’ ปลุกความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ สู่ปีที่ 135
ไทย-ญี่ปุ่น มุ่งสู่การครบรอบ 135 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน
ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งมีความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน กำลังก้าวผ่านความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และทิศทางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี มุ่งสู่การครบรอบ 135 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปีหน้า
กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย จัดสัมมนา Envisioning the Future : Thailand - Japan Strategic Economic Partnership ผ่านระบบออนไลน์ มุ่งหวังเกิดการตระหนักถึงคุณค่าความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมระหว่างประเทศ และการเติบโตของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาในการสัมมนาว่า ไทยกับญี่ปุ่น เสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อรับกับความท้าทายในสถานการณ์โควิด-19 เน้นให้ความสำคัญการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ซึ่งจะเป็นกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อการเติบโตของไทยในยุคหลังโควิด-19 และสอดประสานกับยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ของญี่ปุ่น
แนวทางความร่วมมือ แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (ZEV) ของไทยอย่างสมบูรณ์ โดยรับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น 2. การสร้างวงจรชีวภาพ (Bio-Cycle) ประกอบด้วย เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio-Fuel) และชีวมวล (Bio-Mass) ในระบบเศรษฐกิจ 3. อุตสาหกรรมอาหารครบวงจรของไทย เนื่องจากมีความหลากหลายในทรัพยากรทางชีวภาพ และ 4. การบ่มเพาะผู้ประกอบการและพัฒนาแรงงานทักษะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG Economy
‘คาซูยะ นาชิดะ’ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ Towards a new stage of Japan-Thailand cooperation เสนอแนะแนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทย ภายใต้ความท้าทายทางสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ได้แก่ 1.พันธมิตรแบบการร่วมคิดร่วมสร้าง (Co-creation) เน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม การใช้อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งเพื่อหาโซลูชั่น และปัญญาประดิษฐ์ และ 2.การเสริมสร้างความร่วมมือสาขาการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดสังคมความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593
“รัฐบาลญี่ปุ่นจัดตั้งกองทุน 2 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 6 แสนล้านบาท ให้เอกชนพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้พลังงานสะอาด (green energy) มุ่งผลักดันให้เอกชนญี่ปุ่นลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอน” เอกอัครราชทูตนาชิดะ ระบุ
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นจะผลักดันเรื่องนี้ในการประชุม APEC ปี 2565 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ และสนับสนุนไทยในการพัฒนา เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก และการพัฒนาแรงงานทักษะชั้นสูงผ่านศูนย์โคเซ็นไทย ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นคาดหวังให้ไทยเข้าร่วม CPTPP เพื่อขยายซัพพลายเชนในระดับโลก
ในห้วงการเสวนาภายใต้หัวข้อ “What now & What next: Thailand-Japan Strategic Economic Partnership in Challenging Time” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ‘สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว’ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ‘จิระพันธ์ อุลปาทร’ ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย - ญี่ปุ่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ‘อารีย์ ชวลิตชีวินกุล’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ‘ยูรูกิ โยชิโกะ’ หัวหน้าาผู้แทนประจำสำนักงานผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชีย องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น ‘ศ.ดร. โออิซูมิ เคอิชิโร’ สถาบันเอเชียศึกษามหาวิทยาลัยเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น ‘ชกกิ โมริคาสึ’ ประธานบริษัทมิซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) และ ‘โมริตะ
เคสุเกะ’ ผู้บริหารบริษัท สไปเบอร์ (ประเทศไทย) ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการสร้างคุณค่าให้กับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในอนาคต โดยการให้ความสำคัญกับการสอดประสานโมเดล BCG Economy ของไทยและยุทธศาสตร์ Green Growth Strategy ของญี่ปุ่น
โดยการเตรียมความพร้อมเพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแรงงานฝีมือชั้นสูง และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย โดยการพิจารณาใช้พื้นที่ EEC เป็นสถานที่รองรับการพัฒนาดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้เอกชนญี่ปุ่นซึ่งยังคงเล็งเห็นถึงจุดแข็งของไทยในฐานะฐานการผลิตเพื่อส่งออกที่สำคัญในภูมิภาคที่มีในโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายควรจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันระยะ 5 ปี ในโอกาสการครบรอบ 135 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในปีหน้า และใช้ประโยชน์จากกลุ่มเอกชนญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่ให้มากยิ่งขึ้น
สามารถติดตามชมเวทีสัมมนาแบบเต็มรูปแบบ โดยสแกนด์คิวอาร์โคดที่นี่