เปิดวิธีใช้งาน 'ไทยเซฟไทย' แอพคัดกรองความเสี่ยงโควิด
เปิดวิธีใช้งาน "ไทยเซฟไทย" แอพคัดกรองความเสี่ยงโควิด-19 เตรียมพร้อมล่วงหน้า หากต้องใช้จริงก่อนเข้าใช้บริการห้างและร้านค้า 1 ต.ค.นี้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศมาตรการที่คาดว่าจะบังคับใช้ในอนาคตซึ่งจะพิจารณาตามสถานการณ์ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไปนั้น คือ การใช้มาตรการ COVID Free Setting ประกอบด้วย ความปลอดภัย 3 ด้าน คือ
1) ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย (COVID Free Environment) อาทิ การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ทุก 1-2 ชั่วโมง เช่น ปุ่มกดลิฟต์ ราวจับบันได ราวจับรถเข็น ที่เปิดประตู หมั่นทำความสะอาดสินค้า ทำความสะอาดระบบปรับอากาศทุก 3 เดือน ใช้ระบบกรองอากาศ HEPA หรือติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศเฉพาะที่ เน้นบริเวณที่มีคนจํานวนมากและอากาศไม่ไหลเวียน เช่น ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น อีกทั้งเข้มงวดเรื่องมาตรการห้ามการรวมตัวกันจุดใดจุดหนึ่งด้วย
2) ด้านพนักงานปลอดภัย (COVID Free Personnel) มีภูมิคุ้มกัน โดยพนักงานทุกคนฉีดวัคซีนครบโดส หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อโควิดมาก่อน อยู่ในช่วง 1-3 เดือน และให้มีการคัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยระบบ "ไทยเซฟไทย" รวมถึงจัดหา ATK ให้พนักงาน เพื่อทําการตรวจทุก ๆ 7 วัน กำชับให้งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงาน ระหว่างพัก และงดกินอาหาร รวมกัน และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention)
3) ด้านผู้ใช้บริการปลอดภัย (COVID Free Customer) ให้คัดกรอง ความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยแพลตฟอร์ม "ไทยเซฟไทย" หรือแอพพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด หากจะใช้บริการในกิจการเสี่ยง ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ตัดผม คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส หรือประวัติการติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน หรือตรวจ ATK ผลเป็นลบ ระยะเวลา ไม่เกิน 7 วัน และผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการหรือข้อกำหนดของจังหวัดด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ‘ไทยชนะ’ ‘หมอชนะ’ ‘ไทยเซฟไทย’ ต่างกันอย่างไร? เลือกใช้ให้ถูก
ไทยเซฟไทย คืออะไร
“ไทยเซฟไทย” เป็นเว็บแอพพลิเคชั่นใหม่ล่าสุด จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยมาพร้อมความสามารถหลัก ๆ ในการให้ประชาชนประเมินความเสี่ยง คัดกรองตัวเอง ซึ่งหากประเมินเสร็จแล้ว แอพจะบอกชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มไหนนั่นเอง
ทั้งนี้ การทำงานของเว็บแอพพลิเคชั่น "ไทยเซฟไทย" ก็สามารถทำได้ง่าย ไม่กี่ขึ้นตอนก็จะประเมินได้ว่าคุณจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแบบไหน
- โลโก้แอพพลิเคชั่นมือถือ ไทยเซฟไทย -
ถ้าอยู่ในกลุ่มสีแดง หรือเสี่ยงมาก ก็ไม่ควรออกไปพบปะผู้อื่น และอาจจะต้องไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เช่นนั้น อาจจะเผลอแพร่ต่อไปยังผู้อื่นได้
- หน้าตาแอพ ไทยเซฟไทย -
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะโหลดแอพ “ไทยเซฟไทย” เพื่อประเมินความเสี่ยงแล้ว ยังสามารถเข้าไปทำแบบทดสอบประเมินความเสี่ยงได้ที่ เว็บไซต์ "ไทยเซฟไทย" ได้อีกหนึ่งช่องทาง ซึ่งข้อมูลจะเหมือนกัน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
- คัดกรองก่อนเข้าทำงาน สำหรับพนักงาน : ประเมินความเสี่ยงการแพร่เชื้อให้กับเพื่อนในที่ทำงาน
- คัดกรองก่อนเข้าบ้าน สำหรับบุคคลทั่วไป : ประเมินความเสี่ยงการแพร่เชื้อให้กับคนที่รักในบ้าน
- หน้าตาเว็บไซต์ ไทยเซฟไทย -
ทั้งนี้ สามารถอ่านขั้นตอนใช้งาน ไทยเซฟไทย โดยละเอียดสำหรับพนักงานได้จากที่นี่