ใช้นวัตกรรมลดต้นทุน มะม่วงน้ำดอกไม้ GI สินค้าเกษตรอัตลักษณ์
เกษตรกร จ.สระแก้ว ดึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม แอร์บัส ประยุกต์ใช้ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ มะม่วงน้ำดอกไม้ GI สินค้าเกษตรอัตลักษณ์
นางศศิญา ปานตั้น ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “มะม่วงน้ำดอกไม้” นับเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ของจังหวัดสระแก้ว และเป็นสินค้าที่มีศักยภาพด้านการแข่งขันทางการตลาด ประกอบกับจังหวัดสระแก้วมีโรงบรรจุที่มีมาตรฐานการส่งออก ซึ่งมะม่วงน้ำดอกไม้ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อปี 2561 จำนวน 2 สายพันธุ์ คือ น้ำดอกไม้เบอร์ 4 และน้ำดอกไม้สีทอง เกษตรกร ส่วนใหญ่นิยมปลูกสายพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่นิยมทั้งในตลาดต่างประเทศและภายในประเทศ เปลือกหนา รูปทรง ผิวสวยเป็นสีเหลืองทอง และมีค่าความหวานไม่น้อยกว่า 16 องศาบริกซ์ ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และฮ่องกง
สศท.6 ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม กรณีศึกษาสินค้ามะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว ที่ได้รับ GI ทั้ง 2 สายพันธุ์ จากผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ปี 2565 (ข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสระแก้ว ปี 2564) มีเนื้อที่ยืนต้น 3,424 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของพื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ของทั้งจังหวัด เกษตรกรได้รับการขึ้นทะเบียน GI จำนวน 72 ราย โดยพื้นที่ปลูกครอบคลุม 6 อำเภอ ได้แก่ วังสมบูรณ์ วังน้ำเย็น วัฒนานคร เขาฉกรรจ์ เมือง และอรัญประเทศ โดยมะม่วงน้ำดอกไม้ GI จะเริ่มให้ผลผลิต ในปีที่ 3 และเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 30 ปี ผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน ของทุกปี สำหรับปี 2564 ให้ผลผลิตรวม 3,276 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 975 กิโลกรัม/ไร่ โดยผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 54 จำหน่ายให้กับพ่อค้ารวบรวมนอกจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ จันทบุรี และระยอง ร้อยละ 28 จำหน่ายให้กับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจังหวัดสระแก้ว ร้อยละ 8 จำหน่ายให้กับพ่อค้ารวบรวมในจังหวัด ร้อยละ 5 ขายปลีกผู้บริโภค ร้อยละ 2 ส่งออกตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และฮ่องกง และผลผลิตส่วนที่เหลือ ร้อยละ 3 ส่งให้กับโรงงานแปรรูปโกลบอลจังหวัดจันทบุรี และห้างสรรพสินค้า Tesco Lotus
การพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมมะม่วงน้ำดอกไม้ GI ของจังหวัดสระแก้วเพื่อลดต้นทุนการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้แก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่และวิสาหกิจชุมชนมะม่วงน้ำดอกไม้ จำนวน 30 ราย โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม แอร์บัส (Air blast) สำหรับใช้ฉีดพ่นสารเคมี ยาป้องกันกำจัดโรคและแมลง ฮอร์โมนและสารเร่งที่มีความจำเป็นต่อพืช ส่งผลให้ประหยัดเวลา ทำงานได้รวดเร็ว สะดวก ง่ายต่อเกษตรกรในการใช้งาน ลดแรงงานในการฉีดพ่นสารเคมี ซึ่งผลสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม แอร์บัส ดังกล่าว ส่งผลให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยต้นทุนการผลิตของเกษตรที่ใช้ แอร์บัส มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 17,810 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 33,760 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 15,950 บาท/ไร่/ปี ขณะที่เกษตรกรที่ใช้เครื่องฉีดยาแบบปั๊มถัง (แบบเดิม) จะมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 21,378 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 33,505บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 12,127 บาท/ไร่/ปี ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่ใช้ แอร์บัส มีต้นทุนการผลิตน้อยกว่าเกษตรกรที่ใช้แบบปั๊มถัง 3,568 บาท/ไร่/ปี และมีผลตอบแทนสุทธิสูงกว่า 3,823 บาท/ไร่/ปี
สำหรับการพัฒนาในระยะต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดจะมุ่งส่งเสริมการพัฒนามะม่วงน้ำดอกไม้ GI สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเน้นพัฒนาและจัดทำฐานข้อมูลการผลิต การตลาด Big data และ ส่งเสริมด้านการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้อัตลักษณ์ฉลาก GI การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย สนับสนุนห้องเย็นเพื่อใช้ในกลุ่มเกษตรกรในการรวบรวมผลผลิต และห้องบ่มมะม่วงที่ใช้เทคโนโลยีการบ่ม พัฒนาคุณภาพการผลิตตามมาตรฐานส่งออกและสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตและสร้างมูลค่า สนับสนุนเกษตรกรเข้าสู่แพลตฟอร์ม E-Commerce รวมถึงไลฟ์สด Live-Streaming มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร กรณีราคาตกต่ำผ่าน Fruit Board และการพัฒนาแบบ BCG Value Chain
ทั้งนี้ สำหรับผลศึกษาดังกล่าว สศท.6 ได้มีการจัด focus group เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และนำผลการจัดประชุมมาปรับปรุงแนวทางพัฒนาฯ ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าว จะเผยแพร่ในเดือนตุลาคมนี้ ทางเว็บไซต์สำนักงานเศรษฐกิจการที่ 6 http://www.zone6.oae.go.th หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันทางการตลาด ตลอดจนเป็นแนวทางในการพัฒนาเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ที่มีความชัดเจนของจังหวัดต่อไป หากท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมด้านข้อมูลแนวทางการพัฒนา สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม กรณีศึกษาสินค้ามะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว (GI) สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.6 โทร. 03 835 1398 หรืออีเมล [email protected]