MSMEs ยั่งยืน กับ บทบาทสตรีในภาคธุรกิจ
กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรม APEC Media Focus Group ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “Sustainable MSMEs, Women and Business” ณ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
งานนี้มี "ณัฐภาณุ นพคุณ" รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมด้วยวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมทั้งผู้แทนจากหน่วยงาน ภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน คณาจารย์และนักศึกษากว่า 100 คน เข้าร่วมรับฟังการเสวนา
การเสวนาเริ่มด้วยสุนทรพจน์ “ธานี ทองภักดี” ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ประจำปี 2565 เกี่ยวกับศักยภาพของเชียงใหม่ในการเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคเหนือและประเทศไทย ตลอดจนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดและต้อนร้บผู้เข้าร่วมงาน โดยเน้นย้ำบทบาทของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของไทยที่มีส่วนช่วยในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และยกระดับจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองนวัตกรรม
ในงานเสวนาช่วงแรกภายใต้หัวข้อ “Sustainability with MSMEs” “เชิดชาย ใช้ไววิทย์” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศและเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย อธิบายความเชื่อมโยงระหว่างแนวทางการพัฒนาเชียงใหม่ที่สอดคล้องกับการทำงานและเป้าหมายของเอเปค พร้อมทั้งชี้ให้เห็นโอกาสในการยกระดับจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ การสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ MSMEs สตรี เยาวชน การอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจข้ามพรมแดน และการพัฒนาอย่างสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิดตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG
“อาคม สุวรรณกันธา” ประธานสมาพันธ์ SME เชียงใหม่ กล่าวถึงความท้าทายของ MSMEs ได้แก่ วิกฤติเศรษฐกิจ โควิด-19 สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศ โอกาสทางสังคม และสิ่งแวดล้อม เสนอแนวทางการสนับสนุน MSMEs ระดับจังหวัด ภูมิภาค และประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเอเปคของไทยและเป้าหมาย SDGs
รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ MSMEs ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของ อติกานต์ สุทธิวงษ์ นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เชียงใหม่ กล่าวถึงบทบาทในการส่งเสริมนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ ขณะที่นฤมล ทักษอุดม จาก Hillkoff ตัวแทนผู้ประกอบการ MSMEs ด้านการเกษตร แบ่งปันประสบการณ์การทำธุรกิจกาแฟที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ จนเป็นต้นแบบการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน
งานเสวนาในช่วงที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “Women and Business” ดร.ศศิพัชร์ ชัยสิริบดินทร์ อาจารย์ประจำสำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายเกี่ยวกับบทบาทของสตรีในปัจจุบัน ตลอดจนศักยภาพของสตรีในการทำธุรกิจผ่านกรณีศึกษาต่าง ๆ โดยชวนัสถ์ สินธุเขียว จากสบันงา เวลเนส กรุ๊ป แบ่งปันประสบการณ์ธุรกิจสปาไทยล้านนา ซึ่งก้าวไปได้รับรางวัลระดับโลก และเกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง หรือ “แม่หนิงภูดอย” จากพอDคำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการทำขนมที่สามารถต่อยอดธุรกิจจนเป็นสินค้าระดับประเทศและได้มีโอกาสร่วมให้ผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปคได้รับประทานในการประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2565
ในวันเดียวกัน “ประจญ ปรัชญ์สกุล” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมพิธีเปิดนิทรรศการ APEC 2022 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเอเปคและบทบาทของไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2565 โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน วิสาหกิจชุมชน และสื่อมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมหลายร้อยคน