‘แบงค็อก โกลส์’ คัมภีร์ ฟื้นเศรษฐกิจเอเปค
เปิดร่างเอกสาร “Bangkok Goals” ที่มีส่วนสำคัญช่วยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังโควิด-19 ท่ามกลางสถานการณ์ระดับภูมิภาคที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์พลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร และความผันผวนทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งท้าทายกลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค)
“ธานี ทองภักดี” ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส กล่าวว่า เป้าหมายกรุงเทพฯ ตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG ) ตั้งชื่อตามเอกสารระดับผู้นำจะร่วมยืนยันเพื่อแสดงความมุ่งมั่นของเอเปคซัมมิท ในปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
"บางกอกโกลส์จะเป็นหมุดหมายก้าวไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และครอบคลุมทุกมิติในสังคม ในฐานะที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ" ธานีกล่าวและระบุว่า ในการประชุมโต๊ะกลม ว่าด้วยความร่วมมือสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน เติบโตผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้รวบรวมข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญทั้งภาครัฐ เอกชน และการเงิน วิชาการ และเยาวชน ร่วมแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จ ในการผนึกพันธมิตร และพลิกโฉมธุรกิจของตนบนเส้นทางที่ยั่งยืนนอกจากนี้ ยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงการผสมผสานนโยบายและทำให้ระบบนิเวศน์สามารถช่วยเหลือธุรกิจได้ เอาชนะความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน
ธานี กล่าวอีกว่า เพื่อให้มั่นใจว่าเป้าหมายกรุงเทพฯ จะเหมาะสมและสะท้อนความต้องการเฉพาะทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ที่ประชุม SOM ได้แสดงความเห็นต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมก่อนยื่นขอรับรองจากผู้นำเอเปคในเดือน พ.ย.
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้องที่จังหวัดเชียงใหม่ ปิดฉากด้วยความสำเร็จในการสานต่อการหารือเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” โดยมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวคิดสำคัญในการขับเคลื่อน
ปลุกเศรษฐกิจหลังโควิด
ที่ประชุม SOM ได้หารือประเด็น การนำความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) มาหารือใหม่ในบริบทยุคหลังโควิด-19 โดยให้เริ่มจัดทำแผนงานขับเคลื่อนการหารือเรื่อง FTAAP ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคเห็นชอบในเดือน พ.ย.ต่อไป ซึ่งจะรวมถึงการดำเนินงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ลดช่องว่าง แบ่งปันความรู้ กระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัล เปิดรับการมีส่วนร่วมของ MSMEs ในอีคอมเมิร์ซ
"แผนงานระยะเวลาหลายปีของ FTAAP จะสร้างกรอบการทำงานระยะยาวให้เอเปค และสิ่งนี้จะเป็นความสำเร็จที่สำคัญในปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพ" ธานี ระบุ
แชร์ข้อมูลการเดินทางปลอดภัย
การส่งเสริมความเชื่อมโยงการเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกและปลอดภัย เอเปคเดินหน้าสานต่อการส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างสะดวกและปลอดภัย ด้วยการจัดประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ APEC Safe Passage Taskforce (SPTF) ครั้งที่ 3 เพื่อขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย ก่อนที่วาระของคณะทำงานฯ จะสิ้นสุดในเดือน พ.ย.นี้ ประเด็นหารือสำคัญคือการแปรผลข้อเสนอต่าง ๆ ไปเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม
ฟื้นการท่องเที่ยวยั่งยืน
การจัดทำฐานข้อมูลเอเปคเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการเดินทางอย่างปลอดภัยที่จะเปิดให้เริ่มใช้ภายในเดือน ก.ย.นี้ และการหารือถึงกิจกรรมที่ยังต้องเจรจาต่อไป เช่น การขยายกลุ่มผู้ใช้บัตรเดินทางนักธุรกิจเอเปค (ABTC) ให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่หลากหลายยิ่งขึ้น พร้อมทั้งร่วมกันหากลไกที่เหมาะสมเพื่อสานต่อการทำงานนี้ต่อไปในอนาคต เพื่อให้เอเปคพร้อมรับมือวิกฤติใหม่โดยยังสามารถรักษาการเดินทางข้ามพรมแดนไว้
หนุนเทคโนฯยกระดับคุณภาพชีวิต ปชช.เอเปค
ที่ประชุมเห็นพ้องถึงความสำคัญของการส่งเสริมการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อการดำเนินธุรกิจด้านป่าไม้อย่างยั่งยืนและส่งเสริมชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาระบบอาหารและการเกษตรให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี ค.ศ. 2030 เรื่องการขจัดความอดอยาก
แม้ว่า เอเชีย-แปซิฟิกต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงในภูมิภาค ซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน วิกฤติด้านอาหารและพลังงานซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงสงครามยูเครน แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ประเด็นหลัก สิ่งที่ที่ประชุมให้ความสำคัญคือการผลักดันให้เกิดความคืบหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางความท้าทายต่างๆ
“เชิดชาย ใช้ไววิทย์” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า แบงค็อก โกลส์จะเป็นเหมือนคัมภีร์ให้กับเอเปค ในการดำเนินงานเพื่อประสานประโยชน์ 21 เขตเศรษฐกิจ ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การเดินทางให้สะดวกปลอดภัย และการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจเอเปคให้ยั่งยืน