เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง วอนรัฐทบทวนนำเข้ากุ้ง หวั่นทำราคาตก
เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเมืองตรัง เรียกร้องรัฐทบทวนการนำเข้ากุ้ง เฉพาะช่วงที่กุ้งภายในประเทศมีปริมาณไม่เพียงพอเท่านั้น หากนำเข้ามาจำนวนมากหวั่นทำราคาตก และหวั่นนำเชื้อโรคเข้ามา
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 นายอักษร ขจรกาญจนกุล ประธานชมรมกุ้งตรังพัฒนา กล่าวว่า การอนุมัตินำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากกุ้งในประเทศไม่เพียงพอต่อการส่งออก การนำเข้ากุ้งนั้นจะทำให้ราคากุ้งในประเทศตกต่ำ ไม่มีเสถียรภาพ มีความเสี่ยงเรื่องโรคที่ติดมากับกุ้ง รวมถึงเกิดปัญหาคุณภาพความปลอดภัย การปนเปื้อนของสารเคมีต้องห้ามและยาปฏิชีวนะ จะสร้างความเสียหายกับผู้เลี้ยงและห่วงโซ่การผลิต อย่างไรตนเองได้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและเห็นด้วยกับการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่การนำเข้านั้นขอให้นำเข้ากุ้งให้พอดีกับกุ้งที่ขาดหายไปเท่านั้น หากนำเข้ามาจำนวนมาก เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งก็ได้รับผลกระทบอย่างมากในด้านของราคา และต้องมีการตรวจหาเชื้อโรคที่มากับกุ้งที่นำเข้าด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ของโลกในการส่งออกกุ้งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ต่างประเทศรู้จักในแบรนด์กุ้งไทย และให้ความเชื่อถือในการสั่งสินค้าจำนวนมาก ในปัจจุบันนั้นเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้ง ประสบปัญหาในหลายด้าน เช่นโรคระบาดในกุ้ง ราคาอาหาร เชื้อเพลิงที่นำมาในการปั่นกังหันเพื่อสร้างออกซิเจนให้กับกุ้ง และอีกหลายปัจจัย ทำให้เกษตรกรเลิกเลี้ยงกุ้งไปจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามหน่วยที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรหาแนวทางการแก้ปัญหาโรคระบาดในกุ้งและส่งเสริมปัจจัยให้กับเกษตรกรมากกว่า การนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ หากแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปัญหาการนำเข้ากุ้งก็จะไม่เกิดขึ้น และไม่ต้องเสี่ยงกับโรคที่จะมาจากกุ้งนำเข้ามาจากต่างเทศอีกด้วย ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ อีกทั้งหากนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศจะต้องมีการเชคสต๊อกอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันผู้ประกอบการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก จะทำกุ้งในประเทศมีราคาตกลงไปอีก เป็นการซ้ำเติมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศต้องประสบปัญหาการขาดทุน