กทม. ประกาศเขตลาดกระบัง "พื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม" ปชช.เดือดร้อนกว่า 2 หมื่นราย

กทม. ประกาศเขตลาดกระบัง "พื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม" ปชช.เดือดร้อนกว่า 2 หมื่นราย

กทม. ประกาศเขตลาดกระบัง เป็นพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม ผู้ประสบภัย 20,767 คน 10,300 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,322 ไร่ เร่งช่วยเหลือ-เยียวยา คาดหากฝนไม่ตกเพิ่ม สถานการณ์น้ำท่วมจะลดลงภายใน 7 วัน

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 65 ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และ นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม. ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์น้ำในพื้นที่และการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

นายขจิต กล่าวว่า ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้ง กทม.ฝนตกเกิน 100 มิลลิเมตร ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มเขตหลักสี่ เขตดอนเมือง เขตบางเขน น้ำสูงสุดที่คลองเปรมประชากร 1.56 เมตร ปัจจุบันเหลือ 1 เมตรแล้ว และในซอยต่าง ๆ ของเขตบางเขน สถานการณ์น้ำลดลงเกือบหมดแล้วเช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่าหากฝนไม่ตกอีกในช่วง 2-3 วัน จะเข้าสู่สภาวะปกติ

ส่วนที่ 2 คือ เขตลาดกระบัง เขตประเวศ เขตหนองจอก สถานการณ์น้ำลดลงไปประมาณ 50 เซนติเมตร อยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น และเมื่อวานนี้ (14 ก.ย.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ได้ลงพื้นที่หนองจอก ทำให้เห็นว่าระดับน้ำเริ่มลดระดับ โดยผู้ว่า กทม.ขอให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ทำทางด่วนน้ำตัดไปออกฉะเชิงเทรา
 

ทั้งนี้ ผู้ว่า กทม. ได้ตัดสินใจเปิดประตูน้ำลาดกระบัง และกระทุ่มเสือปลา ทำให้น้ำลดลงอย่าวรวดเร็ว คาดว่าไม่เกิน 7 วัน หากฝนไม่ตกเพิ่มก็จะส่งผลให้น้ำจะลดลงทั้งหมด จึงมองว่าสถานการณ์น้ำในบริเวณรอบนอกน่าจะดีขึ้น

สถานการณ์น้ำเหนือผ่านบางไทรยังอยู่ในระดับที่รับได้ ทำให้ไม่มีอะไรน่าเป็นกังวล ซึ่งพื้นที่ฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 17 เขต ได้ให้สำนักเขตเตรียมเฝ้าระวังไว้ก่อน
 

ขณะที่ ดร.ทวิดา กล่าวว่า สถานการณ์ที่ผ่านมา กทม.พยายามปรับให้มีศูนย์กลางของข้อมูล เมื่อเขตทราบข้อมูลว่าจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ ทุกหน่วยของ กทม.จะออกไปเตรียมพร้อม และให้การช่วยเหลือต่าง ๆ ทั้งอำนวยความสะดวกประชาชน ประสานอำนวยความสะดวกจราจร และอำนวยความสะดวกทางสัญจร รวมถึงทำสุขาชั่วคราว ช่วยให้มีเครื่องมือทางสุขอนามัยเพิ่มขึ้น และการทำถุงยังชีพ

ส่วนการช่วยเหลือเยียวยา ขณะนี้สำนักงานเขตกำลังทำข้อมูลทั้งหมดเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการประกาศพื้นที่สาธารณะภัยเพิ่มเติม ยืนยันว่าไม่ได้ประกาศพื้นที่สาธารณภัยเพื่อให้เกิดความวิตก แต่เพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติของ กทม.ในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเดิม กทม.สามารถเยียวยาตามเกณฑ์ได้ แต่การประสานขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมในการประกาศเขตภัยพิบัตินั้น แม้จะได้รับการเยียวยา แต่ต้องไม่ซ้ำประเภทกัน
 

ส่วนกรณีที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลงพื้นที่เขตลาดกระบังเมื่อวานนี้ (14 ก.ย.) ช่วยทำให้การประสานงานเร็วขึ้นด้วยหรือไม่นั้น ดร.ทวิดา กล่าวว่า การประสานงานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว แต่การลงพื้นที่ของ รมว.มหาดไทย เพื่อให้เห็นว่าทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ ส่วนเกณฑ์เยียวยาไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีอยู่เดิมแล้ว และก่อนหน้านี้ใช้ทรัพยากรของ กทม.เป็นหลัก

ด้าน นายเอกวรัญญู กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากพอสมควร จึงต้องชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น รวมถึงกรณีพื้นที่เขตลาดกระบัง กทม.มีการดูแลมาตลอด ไม่ใช่ไม่ได้ดูแลเลย และยืนยันว่าจะหาทุกช่องทางช่วยเหลือประชาชนให้ดีที่สุด และให้ความมั่นใจว่า กทม.ไม่ทิ้งประชาชนแน่นอน

สำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัยที่จะประกาศเป็นพื้นที่สาธารณะภัยทั้งหมด 6 พื้นที่ ประกอบด้วย แขวงลาดกระบัง แขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงขุมทอง แขวงทับยาว และแขวงลำปลาทิว มีประชาชนได้รับความเสียหายจากอุทกภัย 10,300 หลังคาเรือน ประชากร 20,767คน รวมถึงพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 1,322 ไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 800 ไร่ สวนผักและผลไม้ 22 ไร่ และบ่อปลา 500 ไร่