ราชกิจจาฯ โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 66 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท เริ่ม 1 ต.ค. 65
"ราชกิจจานุเบกษา" ประกาศ โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินกว่า 3.18 ล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2565
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 เว็บไซต์ "ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่ประกาศ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศลงวันที่ 19 กันยายน 2565 เผยแพร่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินกว่า 3.18 ล้านล้านบาท มีผลใช้บังคับวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ความว่า
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของรัฐสภา ดังนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2566"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้ตั้งเป็นจํานวน รวมทั้งสิ้น 3,185,000,000,000 บาท จําแนกเป็นรายจ่ายตามที่จะระบุต่อไปในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 5 ให้กระทรวงการคลังมีอํานาจสั่งจ่ายเงินแผ่นดิน ตามรายการและจํานวนเงินที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่สํานักงบประมาณจะได้จัดสรร หรือตามที่จะได้มีการโอนเปลี่ยนแปลงตามกฎหมาย
พร้อมทั้งให้ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
- รายจ่ายงบกลาง 590,470 ล้านบาท
- รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,090,329.6 ล้านบาท
- รายจ่ายบูรณาการ 218,477.7 ล้านบาท
- รายจ่ายบุคลากร 772,119.1 ล้านบาท
- รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 206,985.6 ล้านบาท
- รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 306,618 ล้านบาท
ขณะที่โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,185,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
- รายจ่ายประจำ จำนวน 2,390,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75.04% ของวงเงินงบประมาณ
- รายจ่ายลงทุน จำนวน 695,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 21.82% ของวงเงินงบประมาณ
- รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้จำนวน 100,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.14% ของวงเงินงบประมาณ
- ประมาณการรายได้สุทธิจำนวน 2,490,000 ล้านบาท
- งบประมาณขาดดุล จำนวน 695,000 ล้านบาท
อ่านประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับเต็มคลิกที่นี่