มหาวิทยาลัยทักษิณเปิด "ศูนย์นิติชาติพันธุ์" ช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ใต้
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิด ศูนย์นิติชาติพันธุ์ ให้ความช่วยเหลือให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับกลุ่มชาติพันธุ์ และพัฒนาสร้างองค์ความรู้ทางกฎหมายให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ และสร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ แถลงข่าวเปิดศูนย์นิติชาติพันธุ์ คณะนิติศาสตร์ วิทยาเขตพัทลุง อย่างเป็นทางการ ร่วมกับคณะผู้บริหาร นักวิชาการ กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม
ทั้งเครือข่ายชาวเลอันดามัน เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ มานิ เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่นและนักศึกษา ในการเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคที่ช่วยขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม
ตลอดจนสร้างนวัตกรรมทางสังคมร่วมกับองค์กรอื่นๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาทางสังคมอย่างบูรณาการ
ศาสตราจารย์ ดร.กรกฎ ทองขะโชค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ แถลงว่าจากปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ได้มีความพยายามในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในหลายศาสตร์และสหวิชาชีพ
กฎหมายก็ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญที่ช่วยให้เกิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม และสร้างความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายบางครั้งเองก็อาจจะเป็นทั้งคุณประโยชน์
หรือในบางกรณีก็อาจจะสร้างความเสียหายให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องจำยอมต่อความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมอย่างไม่แบ่งแยก
ภารกิจของศูนย์ศึกษานิติชาติพันธุ์จึงจัดตั้งขึ้น เพื่อศึกษาปัญหาความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำของกลุ่มชาติพันธุ์และดำเนินการวิจัย รวบรวมข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้น
ตลอดจนเป็นศูนย์ดำเนินการให้ความช่วยเหลือให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับกลุ่มชาติพันธุ์ และพัฒนาสร้างองค์ความรู้ทางกฎหมายให้กับกลุ่มชาติพันธุ์
รวมถึงเป็นศูนย์รวมในการส่งเสริมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งในเรื่องของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ประเพณี ระเบียบ จารีตและกฎเกณฑ์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ อันเป็นการเสริมสร้างให้เกิดการยอมรับพหุวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป
ทั้งนี้ทางศูนย์นิติชาติพันธุ์ยังได้จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคใต้หลังสถานการณ์โควิด – 19” โดยมีวิทยากร 6 ท่าน เข้าร่วมการเสวนาดังนี้ 1) รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
2) ศาสตราจารย์ ดร.กรกฎ ทองขะโชค คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ 3) คุณปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 4) คุณภควินท์ แสงคง ที่ปรึกษาเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่นและเจ้าหน้าที่มูลนิธิชุมชนไทย
5)คุณวิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามันและรองประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 6) คุณณรงค์ชัย สงไข่ ผู้ประสานงานและดูแลกลุ่มชาติพันธุ์มานิ
ในการเสวนา คุณณรงค์ชัย สงไข่ คุณภควินท์ แสงคง และคุณวิทวัส เทพสง ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมซึ่งทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ ได้สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคใต้ ทั้งก่อนและหลังสถานการณ์โควิด-19 พบว่า กลุ่มชาติพันธุ์มานิ ป่าบอน ยังคงประสบกับปัญหาในการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะการเข้าถึงระบบการศึกษา
เนื่องจากวิถีการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมทำให้ชาวมานินั้นไม่ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งที่แน่นอน ทำให้การเข้าถึงระบบการศึกษาเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเด็กมานิหลายคนเข้าเรียนช้ากว่าเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เด็กมานิอายุ 16 ปี เพิ่งเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 1 เป็นต้น
รวมถึงปัญหาความรู้ความเข้าใจของบุคคลภายนอกที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ซึ่งทำให้ในปัจจุบันมีชาวมานิอีกเป็นจำนวนมาก ยังคงถูกตีตราและถูกเรียกด้วยคำที่ไม่เหมาะสม เช่น เงาะป่า ซาไก แต่พวกเขาคือ “มานิ”
ประเด็นของคนไทยพลัดถิ่นในภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา ประจวบคีรีขันธ์และชุมพร แต่ในปัจจุบันคนไทยพลัดถิ่นมีการเคลื่อนย้ายเพื่อไปทำงานในพื้นที่จังหวัดต่างๆ
ปัญหาหลักของคนไทยพลัดถิ่นนั้น พบว่ามีคนไทยพลัดถิ่นอีกเป็นจำนวนมากที่ยังมีปัญหาด้านสถานะบุคคลและยังไม่ได้รับบัตรประชาชน ทำให้ยากต่อการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้รับบัตรประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิที่ตนควรจะได้รับได้ และเข้าไม่ถึงการเยียวยาจากภาครัฐ
ในส่วนประเด็นปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอุรักลาโว้ย มอแกน มอแกลน พบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล จะมีทั้งกลุ่มคนที่ได้รับบัตรประชาชนแล้วเรียกว่า “ไทยใหม่” (นามสกุลพระราชทานหลายครอบครัว เช่น หาญทะเล) และกลุ่มที่ยังไม่ได้รับบัตรประชาชน
ซึ่งทั้งสองกลุ่มยังคงประสบปัญหาในการดำเนินชีวิต โดยปัญหาหลักที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลกำลังเผชิญและยังไม่ได้รับการแก้ไขคือ ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากิน (เช่น หาดราไวย์ และเกาะหลีเป๊ะ) รวมถึงปัญหาสถานะบุคคลทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ เช่นการรักษาพยาบาล
โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด ชาวเลส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อใจการรักษาพยาบาลของรัฐทำให้ชาวเลหันมาใช้สมุนไพรรักษาอาการของตนเองตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม
จากการสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคใต้ข้างต้น ศาสตราจารย์ ดร.กรกฎ ทองขะโชค เห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านนโยบายของรัฐและการปฏิบัติยังคงมีปัญหา จนทำให้เกิดการจำกัดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างเช่นกรณีปัญหาเรื่องสถานะบุคคล กลุ่มคนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลายาวนาน
การจะได้บัตรประชาชนต้องผ่านการเรียกร้อง การสอบสวนจึงจะได้มาซึ่งบัตรประชาชนคนไทยซึ่งแตกต่างจากคนไทยปกติทั่วไป ฉะนั้นการเริ่มต้นไม่เท่ากันจะบอกว่าคนเท่ากันจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ภาครัฐเองจึงต้องแยกกลุ่มให้ได้เพื่อเข้าไปช่วยเหลือดูแลจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
ในปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์มีความเสี่ยงอยู่ 3 ประเด็น คือ
1) เรื่องสถานะทางกฎหมาย แม้ว่าจะมีกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายรัฐธรรมนูญส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ แต่การดำเนินการเป็นเพียงมติคณะรัฐมนตรีและเมื่อไม่มีกฎหมายเฉพาะก็จะทำให้ปัญหาเวียนกลับมาเหมือนเดิม
2) การสูญสียวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศรับรู้รับทราบ และ
3) การเข้าไปจัดการพื้นที่ทางทรัพยากรธรรมชาติ เพราะเมื่อเกิดการลิดรอนสิทธิจากการประกาศเขตอุทยานหรือการประกาศพื้นที่ป่าสงวน จะทำอย่างไรให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมของตนได้ ในระหว่างรอกฎหมายเฉพาะ
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ยังได้สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำของกลุ่มชาติพันธุ์ ในการถูกทำให้เป็นคนอื่นในสังคมและกลายเป็นส่วนเกินของสังคมไทยมาโดยตลอด คนเหล่านี้ถูกตีตราให้กลายเป็นส่วนเกินของสังคม ซึ่งทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างทั้ง การไม่มีสิทธิ การสูญเสียตัวตนหรืออัตลักษณ์ การเข้าไม่ถึงสวัสดิการทางสังคม
จะเห็นได้ว่าประเทศไทยของเราคนยิ่งจนมากเท่าไร เรายิ่งเข้าไม่ถึงสวัสดิการและการช่วยเหลือมากเท่านั้น การตั้งศูนย์นิติชาติพันธุ์จึงเป็นเรื่องที่ดีในการขับไล่ความมืดดำมายาคติทางสังคมด้วยข้อมูลและงานวิจัย รวมถึงช่วยเหลือและเป็นสื่อกลางโดยร่วมกับองค์กรและภาคีต่างๆ ในการเปลี่ยนภาระให้กลายเป็นพลังในการช่วยเหลือคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม
สุดท้ายคุณปรีดา คงแป้น ในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังเห็นว่าสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคใต้ในช่วงระยะเวลา 1 ปีกว่าๆ มีปัญหาร้องเรียนทั้งหมด 10 เรื่อง
ได้แก่ กรณีชาวเลอูรักลาโว้ยถูกสั่งให้รื้อพื้นที่บากั๊ตหาปลาหลังเกาะพีพีซึ่งอยู่ในระหว่างตรวจสอบ กรณีชาวเล เกาะหลีเป๊ะถูกฟ้องขับไล่ที่ดิน รายได้จากการท่องเที่ยวถูกตัดทอนลง ชาวเลราไวย์ถูกฟ้องขับไล่
กรณีพิพาทธุรกิจเอกชนใช้พื้นที่หน้าหาดที่ชาวเลใช้มานาน เกาะสุรินทร์และเกาะเหลาเป็นเรื่องสัญชาติซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการเฝ้าระวังของ กสม.
กลุ่มมันนิที่จังหวัดสตูลไม่มีความมั่นคงในการอยู่อาศัย ที่ยังไม่ได้รับบันทึกตามกฎหมายอุทยาน เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือชาติพันธุ์มลายูในสามจังหวัดชายแดนที่พบปัญหาเรื่องความรุนแรง และกลุ่มไทยพลัดถิ่นที่กำลังเร่งรัดเรื่องสัญชาติ
ทางกสม.มีหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม คุ้มครองกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้ร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมแนวทางให้ทุกมหาวิทยาลัยทำเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น รวมถึงได้นำร่องกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและจะร่วมกับมหาวิทยาลัย เรื่องประกาศเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมทั้งพื้นที่อยู่อาศัย
พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและมันนิเป็นที่แรก ตามมติคณะรัฐมนตรีและเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายซึ่งมีความสำคัญในการจะช่วยปกป้องและคุ้มครองสิทธิเบื้องต้น รวมถึงการผลักดันกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติด้วย
เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอยู่ในพื้นที่การท่องเที่ยว ทำให้ถูกรุกราน เบียดขับเร็วและแรงมาก กสม.จึงมีความยินดีที่จะร่วมมือและส่งเสริมการทำงานร่วมกัน
ข้อท้าทายของ กสม. คือการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม เพราะรายงานทางเอกสารอย่างเดียวอาจไม่สำเร็จผลได้ การร่วมมือกันขับเคลื่อนไปด้วยกัน จึงจะช่วยในการแก้ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคใต้ได้.