กรมชลฯ เดินหน้าอ่างเก็บน้ำแม่วาง เร่งผลศึกษา EIA

กรมชลฯ เดินหน้าอ่างเก็บน้ำแม่วาง เร่งผลศึกษา EIA

กรมชลประทาน ลงพื้นที่รับฟังความเห็นชาวแม่วาง สันป่าตอง ดอยหล่อ เร่งศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างฯแม่วาง จ.เชียงใหม่ ตั้งเป้าแก้ปัญหาแล้งซ้ำซากให้ราษฎรสองฝั่งลำน้ำแม่วาง สร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นให้ราษฎร 82 หมู่บ้าน

 นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ราษฎรที่อาศัยในเขตอำเภอแม่วาง อ.สันป่าตอง และ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ รวม 11 ตำบล 82 หมู่บ้าน ประสบปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2528 ทั้งนี้ราษฎรทั้ง 3 อำเภออาศัยน้ำจากลำน้ำแม่วางและลำห้วยสาขาเป็นหลักเพื่อใช้การทำเกษตรและอุปโภคบริโภค ในช่วงฤดูแล้งน้ำในลำน้ำดังกล่าวมีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ ด้านพื้นที่การเกษตรก็ขาดแคลนน้ำ ผลผลิตได้รับความเสียหาย และช่วงฤดูฝนน้ำในลำน้ำแม่วางไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่เกษตรสองฝั่งลำน้ำ กรมชลประทานจึงได้ใช้รูปแบบโครงการก่อสร้างขนาดเล็กที่เหมาะสมกับสภาพทางธรณีวิทยาเพื่อแก้ไขปัญหา โดยการสร้างฝายทดน้ำตลอดลำน้ำแม่วางจำนวน 11 แห่ง สามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้ 45,500 ไร่  

กรมชลฯ เดินหน้าอ่างเก็บน้ำแม่วาง เร่งผลศึกษา EIA

อย่างไรก็ดี เกษตรกรและราษฎรยังคงเดือดร้อนขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งอยู่ จึงได้ทำหนังสือขอให้กรมชลประทานสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง ในปี 2547 และจากการจัดทำรายงานเพื่อวางโครงการ (Pre-feasibility Study) พบว่าพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขานและป่าแม่วาง นอกจากนี้ พื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำบางส่วนอยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่วาง และอุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) ซึ่งต้องนำเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนอนุญาตตามขั้นตอนต่อไป 

 

“กรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการจัดหาแหล่งน้ำให้แก่พื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทาน จึงได้เริ่มดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสม และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ‘โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่’ เมื่อกลางปี 2563 โดยที่ตั้งหัวงานอยู่บริเวณหมู่ 1 บ้านใหม่ปางเติม ต.บ้านกาด อ.แม่วาง กักเก็บน้ำต้นทุนเพิ่มได้  25.42 ล้านลบ.ม เสริมสร้างความมั่นคงน้ำอุปโภคบริโภค ส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรได้รวม 48,780 ไร่ใน 3 อำเภอดังกล่าวข้างต้น แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 38,209 หมื่นไร่ ชลประทานฤดูแล้ง 20,489 ไร่ ช่วยบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำแม่วางช่วงหน้าฝน เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ในพื้นที่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ และยังช่วยรักษาระบบนิเวศน์ เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ป่าไม้บริเวณโดยรอบโดยเฉพาะพื้นที่ท้ายน้ำของลุ่มน้ำแม่วาง ซึ่งภายหลังจากรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการปัจฉิมนิเทศโครงการในวันนี้ (12 ต.ค.) กรมชลประทานจะนำความคิดเห็นของราษฎรมาปรับปรุงเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของทางคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เป็นลำดับถัดไป” นายสุรชาติ กล่าว   

“ที่ผ่านมามีการลงพื้นที่เพื่อประชุมรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มราษฎร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มประกอบการล่องแพไม้ไผ่ ที่ได้รับผลกระทบอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินโครงการสนองต่อการพัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะยาว ทั้งเพื่อการชลประทาน อุปโภคบริโภค พัฒนาการเกษตร การท่องเที่ยวทั้งในปัจจุบันและความต้องการในอนาคตได้อย่างยั่งยืนที่สุด” ผู้อำนวยการสำนัก ฯ กล่าวตอนท้าย