เร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตร แนะ 3 วิธี แปลงวิกฤติเป็นโอกาส
เกษตรฯ เร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตร แนะ 3 วิธี แปลงวิกฤติเป็นโอกาสชาวบ้านอยู่กับน้ำ
รองอธิบดี ”รพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์” ลุยสำรวจพื้นที่การเกษตรเสียหายเต็มสูบ เร่งเยียวยาค่าชดเชยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบด่วน ขณะตำบลบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ยังอ่วมน้ำเต็มพื้นที่ คาดอาจขังนานถึง 4 เดือน ด้านนายกเทศมนตรี ต.บางบาลยอมรับหนักกว่าทุกปี พร้อมแนะ 3 วิธีให้ชาวบ้านอยู่กับน้ำได้อย่างมีความสุข
สถานการณ์น้ำท่วม อันเป็นผลพวงจากจาก พายุโนรู แม้ปริมาณน้ำจะเริ่มลดลง แต่หลายพื้นที่ยังคงอ่วมหนักเช่นเดิม โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแอ่งรับน้ำท่วมทุกปี ขณะนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ล่าสุด นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวถึงผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ว่าเกิดขึ้นในวงกว้างถึง 52 จังหวัด มีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 3.5 ล้านไร่ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบประมาณ 4 แสนครัวเรือน
โดยความเสียหายในพื้นที่ 3.5 ล้านไร่ นั้นแบ่งเป็น
- นาข้าว 2 ล้านไร่
- พืชไร่ 1.3 ล้านไร่
- ไม้ผล 4 หมื่นไร่
- อื่น ๆ เช่น ประมง ฟาร์มปศุสัตว์ เป็นต้น
โดยกระทรวงเกษตรฯเองมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักใน 3 กรม ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมงและกรมปศุสัตว์ แต่พื้นที่การเกษตรมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด ยังไม่นับรวมชีวิตความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก เนื่องจากส่วนใหญ่ที่อยู่อาศัยจมน้ำได้รับความเสียหาย
“ล่าสุดผมกับท่านอธิบดีเข้มแข็ง(ยุติธรรมดำรง)ลงพื้นที่ภาคกลางไปดูความเสียหายในจ.สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา จะเห็นว่ามันค่อนข้างหนักและรุ่นแรงระดับน้ำก็ยังแทบไม่ได้ลด อย่างสิงห์บุรี อ่างทองบพนังกั้นน้ำแตก ไม่ใช่แค่ผลผลิตทางการเกษตรแต่ยังเสียหายกับบ้านเรือนพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบ ชีวิตของเขาที่ต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่าง เช่นการประกอบอาชีพไม่ได้ ลำบากในการใช้ชีวิต เช่นเดียวกับทางอีสานตอนใต้ อุบลราชธานี ศรีสะเกษชาวบ้านไม่มีที่อยู่เลย ต้องอพยพมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ทางราชการจัดไว้ให้”รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเผย
นายรพีทัศน์ กล่าวต่อว่าในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯเองตอนนี้ได้เร่งสำรวจพื้นที่ประสบภัย โดยตนเองได้ลงพื้นที่กำชับให้ดูแลอย่างรอบคอบอย่างให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเสียสิทธิค่าชดเชยจากรัฐเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย
- นาข้าวเสียหายได้รับชดเชย1,340บาท/ไร่
- พืชไร่ 1,980 บาท/ไร่
- ไม้ผล 4,080 บาท/ไร่
ถึงแม้จะไม่คุ้มกับมูลค่าความเสียหาย แต่อย่างน้อยสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนไปได้
“อย่ามันสำปะหลังปกติอย่างน้อยได้ผลผลิตเฉลี่ย 3-4 ตัน/ไร่ ขายก็ต้องได้ แปดเก้าพันบาท แต่ตามระเบียบกฎหมายได้แค่ 1,980 บาทหรือไม้ผล 4,080 บาท/ไร่ แต่อย่าลืมว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน ลงทุนไปเท่าไหร่กว่าไม้ผลพวกนี้จะให้ผลผลิต” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวและย้ำว่าฉะนั้นการดำเนินสำรวจความเสียหายของพี่น้งอเกษตรกรจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด โดยจะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งเงินส่วนนี้จะเข้าสู่บัญชีพี่น้องเกษตรกรโดยตรงผ่านธ.ก.ส.
อย่างไรก็ตาม จากรายงานผลการสำรวจเบื้องต้นของสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 2 จังหวัด สิงฟ์บุรีและพระนครศรีอยุธยา (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2565) พบว่า
- พื้นที่เกษตรจังหวัดสิงห์บุรี
ได้รับผลกระทบครอบคลุมทั้ง 6 อำเภอ โดยมีพื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหายจำนวน 33,399.59 ไร่ แบ่งเป็น
- ข้าว 30,225.50 ไร่
- พืชไร่และพืชผัก 1,060 ไร่
- ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 1,511.09 ไร่
- อ้อย 603 ไร่
- เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 4,461 ราย
- พื้นที่เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ได้รับผลกระทบ จำนวน 15 อำเภอ พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหายจำนวน 11,269.48 ไร่ แบ่งเป็น
- ข้าว 9,647.88 ไร่
- พืชไร่และพืชผัก 370.09 ไร่
- ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 1,251.51 ไร่
- เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 1,892 ราย
- ภาพรวมพื้นที่เกษตรทั่วประเทศได้รับผลกระทบ
มีจำนวน 52 จังหวัด พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหายจำนวน 3,489,162.50 ไร่ แบ่งเป็น
- ข้าว 2,089,293.50 ไร่
- พืชไร่และพืชผัก 1,363,641.75 ไร่
- ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 36,227.25 ไร่
- เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 438,011 ราย
นายชูเกียรติ บุญมี นายกเทศมนตรี ตำบลบางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ยอมรับว่าปีนี้ตำบลบางบาลน้ำท่วมหนักกว่าทุกปี 6 หมู่บ้านในตำบลบางบาลท่วมเต็มที่พื้นที่ทั้งหมด ชาวบ้านอยู่ในสภาพจนมุม ไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้ ต้องใช้บนถนนเป็นที่พังพิงชั่วคราว ยังไม่ต้องพูดถึงการทำมาหากิน น้ำท่วมหมด ทั้งพื้นที่การเกษตร ทำนา ปลูกพืชผัก โดยเฉพาะการทำอิฐมอญและการผลิตธูป ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านบางบาล ขณะนี้ได้รับความเสียหายทั้งหมด ชาวบ้านอยุ่ได้ก็ต้องปรับตัว
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงของคนในพื้นที่ก็คือ น้ำท่วมครั้งหนึ่งเสียโอกาสการทำมาหากินไป 4 เดือน ปีมี 12 เดือนหายไปแล้ว 1ใน 3 ซ้ำร้ายกว่านั้น บางบาลท่วมทุกปี เมื่อปีที่แล้วก็หนักมาปีนี้หนักกว่าอีก พูดง่าย ๆ พอจะมีเงินทองอยู่บ้างกลายเป็นคนจนในทันที เพราะว่าเราทำมาหากินไม่ได้ 4 เดือน บางคนที่มีลูกหลานทำงานที่อื่นก็พอมีรายได้จากส่วนนั้น ส่วนคนในพื้นที่ก็ทำอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นอิฐมอญ อาชีพหลักดของชาวบ้านบางบาลก็ทำไม่ได้ ธูปก็ทำไม่ได้ ทำเกษตรไม่ต้องพูดถึงตายยับหมด” นายกเทศมนตรีตำบลบางบาล กล่าว
นายชูเกียรติ ยอมรับว่า ต.บางบาล น้ำท่วมทุกปี เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำ เมื่อหน่วยงานรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวให้กับคนในพื้นที่ได้ ตนจึงมีแนวคิดอยากแปลงวิกฤติเป็นโอกาสแบ่ง 3ช่วง ได้แก่ ก่อนท่วม ระหว่างท่วมและหลังท่วม โดยก่อนน้ำท่วมนั้นอยากให้หน่วยงานภาครัฐเตรียมเพาะเมล็ดพันธุ์พืชผัก พร้อมวัสดุปลูก เข่ง กระถางใบใหญ่ ๆ ไว้ล่วงหน้าเพื่อปลูกไว้รับประทานระหว่างน้ำท่วมนาน 4 เดือน ส่วนระวห่างน้ำท่วมนั้นก็ให้ชาวบ้านจัดบริการท่องเที่ยวทางน้ำไว้บริการนักท่องเที่ยวหรือคนที่มาให้การช่วยเหลือ และหลังน้ำท่วมก็เชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมด้วยช่วยกันพื้นฟูสภาพพื้นที่ ทั้งนี้จะทำให้ชาวบ้านผู้ประสบภัยมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เมื่อต้องอยู่กับน้ำยาวนานถึง 4 เดือน
“การช่วยเหลือเฉพาะหน้าชาวบ้านได้รับการดูแลอย่างดีไม่ว่าท่านผู้ราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์กรท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้เราไม่ได้ขาด แต่สิ่งที่ขาดก็คือเรามามองตอนน้ำท่วมแล้ว ความเดือดร้อนเกิดขึ้นแล้ว มันช่วยทำอะไรได้ไม่มาก เมื่อรู้ว่าท่วมแน่ ๆ ช่วงเดือนนี้ทุกปีรัฐก็ต้องเตรียมการ ระหว่างท่วมก็หาอาชีพให้เขา เช่นจัดบริการท่องเที่ยวทางน้ำ คนอยู่กรุงเทพท้ายน้ำ แทนที่จะมาแจกถุงยังชีพอย่างเดียวเอาค่าเรือให้ลุงให้ป้าพาไปดูทุ่งนายามน้ำท่วมมีข้าวใบบัวให้กิน ลุงป้าเหล่านั้นก็จะได้ค่าจ้างนำเที่ยว พอหลังท่วมเชิญชวนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเกษตรมาทำซีเอสอาร์ หาปุ๋ยหาเมล็ดพันธุ์มาให้และรับซื้อผลผลิตในราคาประกัน”ถ้าทำแบบนี้ได้ ชาวบ้านที่อยู่กับน้ำนานก็จะไม่เครียดไม่เดือดร้อน”นายชูเกียรติย้ำทิ้งท้าย