ลุยจับเครือข่ายร้านขายยา กทม.-ปทุมฯ 19 จุด ลอบขายยาแก้ไอให้เยาวชน
ปคบ. ร่วม อย. ลุยจับ 3 เครือข่ายร้านขายยาพื้นที่กทม.-ปทุมธานี 19 จุด หลังพบใช้พนักงานขายยาจบระดับประถมศึกษาไม่ใช่เภสัชกรโดยตรง ลอบขายยาแก้ไอให้กลุ่มเยาวชนนำไปผสมสูตรยาเสพติด ใช้วิธีขอเปิดร้านขายยาหลายแห่ง เพิ่มโควต้าซื้อยาแก้แพ้-แก้ไอปริมาณมากกว่ากำหนด ด้าน อย. เตือนใช้ทางผิด ก่อเกิดปัญหาสังคม
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พร้อมด้วยนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภญ.วรสุดา ยูงทอง ผู้อำนวยการกองยา ร่วมกันแถลงผลจับกุมเครือข่ายร้านยาที่ลักลอบขายยาแก้ไอให้เยาวชน หลังเข้าตรวจค้นเครือข่ายร้านยา 3 เครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปทุมธานี จำนวน 19 จุด จับกุมผู้ต้องหา 20 คน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกร พร้อมของกลาง ยาน้ำแก้ไอ ยาแก้แพ้ และยาแคปซูลเขียวเหลือง กว่า 35 รายการ มูลค่ากว่า 2.4 ล้านบาท
พล.ต.ต.อนันต์ เปิดเผยว่า ร้านขายยา 3 เครือข่าย แบ่งเป็น เครือข่ายร้านขายยานายธนกฤต , นายธนเทพ และนายคมพิษฐ์ (สงวนนามสกุล) ทั้งหมดพบพฤติการณ์การกระทำความผิด โดยจะขออนุญาตเปิดร้านขายยาหลายแห่ง เพื่อจะได้รับโควต้าซื้อยาแก้แพ้ แก้ไอ ในปริมาณมาก โดยมุ่งเน้นขายให้กลุ่มเยาวชน ซึ่งพบขายมากกว่า 3 ขวดต่อครั้ง ปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากยาน้ำแก้ไอ มีส่วนประกอบของไดเฟนไฮดรามีน โปรเมทาซีน และเดกซ์โตรเมธอร์แฟน จึงต้องจำกัดปริมาณการขายจากผู้ผลิตไปร้านยา ไม่เกิน 300 ขวดต่อเดือน และจำกัดขายให้ประชาชนไม่เกินครั้งละไม่เกิน 3 ขวด เพื่อป้องกันไม่ให้นำยาไปใช้ในทางที่ผิด
" จากการสอบสวนพบว่า ส่วนใหญ่ลูกค้าวัยรุ่นมักจะซื้อไปผสมกับสารเสพติดชนิด 4x100 ทำให้เกิดความมึนเมา ง่วงซึม ขณะเดียวกันเป็นที่น่าตกใจคือ ผู้ขายเองนั้นก็ไม่ใช่เภสัชกร ไม่ได้เรียนจบเภสัชศาสตร์โดยตรง บางรายก็เรียนจบเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาเท่านั้น"
เบื้องต้นจะมีการดำเนินคดีผู้ต้องหาจำนวน 2 คน ในข้อหาร่วมกันขายยาปลอม และร่วมกันย้ายสถานที่เก็บยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนที่เหลืออีก 18 คน จะถูกดำเนินคดีในข้อหา ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาต ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดีต่อไป
ขณะที่ ภญ.วรสุดา กล่าวว่า จากการตรวจสอบเครือข่ายร้านขายยาดังกล่าว พบร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตมีผู้ดำเนินกิจการเป็นชื่อเดียวกัน โดยเปิดเป็นเครือข่ายหลายร้าน มีพฤติการณ์ในการขายยาแก้แพ้ แก้ไอ และยาแก้ปวดทรามาดอลให้กลุ่มวัยรุ่น เพื่อนำไปผสมเป็น 4×100 หรือนำมาผสมกับน้ำอัดลม และอาจผสมกับยาบางชนิดใช้สำหรับดื่มเพื่อความมึนเมาและเสพติดเป็นการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด อันจะทำให้เกิดปัญหาต่อสังคมตามมา
“ผู้รับอนุญาตและเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการจึงมีหน้าที่จัดทำบัญชีซื้อและขายยาให้เป็นจริง หากพบรายใดที่ฝ่าฝืน หรือกระทำความผิดซ้ำ ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย และพักใช้ใบอนุญาตจนกว่าคดีถึงที่สุดด้วย”