"ครูยุ่น" ยืนยันตีเด็กมีเหตุผล พร้อมเดินหน้าทำ "มูลนิธิคุ้มครองเด็ก" ต่อ
"ครูยุ่น" เปิดใจหลังเข้ารับทราบ 2 ข้อหา ยืนยันไม่มีเจตนาทำร้ายร่างกายเด็ก รับตีจริงเพื่อสั่งสอน พร้อมเดินหน้าทำ "มูลนิธิคุ้มครองเด็ก" ต่อถึงแม้ไม่ได้ต่อใบอนุญาต
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 นายมนตรี สินทวิชัย หรือ "ครูยุ่น" เลขา "มูลนิธิคุ้มครองเด็ก" เปิดใจหลังเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.อัมพวา เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ข้อหาทำร้ายร่างกายเด็ก โดยมีนายแก้วสรร อติโพธิ ประธานมูลนิธิ และนายพนัส ทัศนียานนท์ ร่วมในการแถลงข่าว
โดย "ครูยุ่น" เปิดเผยว่า ขณะนี้ถูกดำเนินคดี 1 ข้อหาตามหมายเรียก ซึ่งตนปฎิเสธข้อกล่าวหาพร้อมชี้แจงว่า เหตุการณ์ตีเด็กนั้น เป็นเด็กกลุ่มที่ต้องถูกทำโทษ ซึ่งกลุ่มแรกเป็นกลุ่มเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เเละกลุ่มที่ฝ่าฝืนคำสั่ง ลงไปเล่นในแม่น้ำแม่กลอง ทั้ง ๆ ที่บางคนว่ายน้ำไม่เป็น ซึ่งเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมาก จึงต้องทำโทษ
ส่วนเรื่องปัญหายาเสพติดยอมรับว่า มีเด็ก 1 ใน 8 คน มีปัญหาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และพยายามนำยาเสพติดมาเผยแพร่ ใน "มูลนิธิคุ้มครองเด็ก" ซึ่งการลงโทษด้วยการตีนั้น หลายคนอาจจะมองว่า เป็นการลงโทษที่รุนแรง แต่สำหรับตนมองว่าเป็นการลงโทษเพื่อสั่งสอนไม่ได้มีเจตนาจะทำร้าย หรือทารุณกรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ครูยุ่น" บอกอีกว่า เด็กทุกคนที่อยู่ในบ้าน จะเรียกตนว่าพ่อ ดังนั้นการลงโทษด้วยการตีเป็นเหมือนพ่อสั่งสอนลูก ซึ่งการที่ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ก็ว่ากันไปตามพยานหลักฐาน แต่หากมองถึงเจตนา ตนยืนยันว่า ไม่มีเจตนาที่จะทำร้ายเด็ก
ส่วนประเด็นการทารุณกรรมเด็ก มีการทำลายข้าวของ รวมไปถึงการนำปัสสาวะ อุจจาระ ราดเสื้อผ้าเด็ก ที่มีภาพถูกนำเสนอออกไปนั้น ครูยุ่น ชี้แจงว่า ตนเป็นรื้อเสื้อผ้ามากองพื้น แต่ไม่ได้นำอุจจาระ และไม่ได้เอาปัสสาวะหมา มาราด ตามที่เด็กกล่าวหา แต่เป็นการรื้อเสื้อผ้าออกมา เนื่องจากเด็กใหม่ ที่มาอยู่ใน "มูลนิธิคุ้มครองเด็ก" ไม่ชอบซักเสื้อผ้า และนำเสื้อผ้าที่ใส่แล้วมาซุกในตู้เสื้อผ้า จนเกิดความสะสมหมักหมมและสกปรก ไม่เป็นระเบียบ ตนจึงพยายามสั่งสอนเด็ก แต่เด็กก็ไม่ยอมทำตาม จึงต้องนำเสื้อผ้าทั้งหมดออกมาเพื่อให้เด็กทำความสะอาด และนำไปพับให้เป็นให้เป็นระเบียบ
จากพฤติกรรมต่างๆ ไม่ได้ก่อเหตุความรุนแรงตามที่เด็กกล่าวหา ซึ่งตนดูแลมูลนิธิฯ และอยู่กับเด็กมานานอาจจะเป็นคนพูดไม่เพราะ แต่ยืนยันว่าทั้งหมดไม่ได้เป็นเจตนาในการที่จะทำร้ายทารุณกรรม หรือหากินกับเด็ก
ส่วนกรณีการใช้แรงงานเด็กในรีสอร์ท ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงผิด พ.ร.บ.การใช้แรงงานเด็ก นั้น ครูยุ่น ยืนยันว่า ไม่ได้มีการบังคับเด็กให้ทำงาน ไม่ได้เป็นการให้ค่าจ้าง หรือบังคับเด็ก แต่เด็กใน "มูลนิธิคุ้มครองเด็ก" เต็มใจที่จะไปช่วยงาน ซึ่งเป็นความสมัครใจของเด็กในการไปช่วย เปรียบเหมือนการช่วยผู้ปกครองทำงานบ้าน ซึ่งตนมองว่าไม่เข้าข่ายความผิด
ส่วนกรณีเงินบริจาคที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การเปิด "มูลนิธิคุ้มครองเด็ก" แห่งนี้ อาจจะใช้เด็กมาหากินนั้น ครูยุ่น ชี้แจงว่า เงินบริจาคทุกบาททุกสตางค์ของมูลนิธิฯ มีคณะกรรมการตรวจสอบบัญชีทุกเดือน โดยมีนายแก้วสรร เป็นประธานในการตรวจสอบ ซึ่งเงินที่ได้มาทั้งหมดนั้นก็จะมีการทำรายงานต่อภาครัฐให้รับทราบทุกปี
สำหรับกรณีการตัดเงินค่าขนมของเด็ก ซึ่งทำให้เด็กหลายคนออกมาร้องเรียนว่าได้รับเงินไปโรงเรียนไม่เพียงพอ ครูยุ่น เปิดเผยว่า เด็กจะได้เงินไปโรงเรียนไม่เท่ากัน เนื่องจากว่า มีการหักเงินในการลงโทษหลังจากที่ไม่ยอมทำงาน และทำตามกฎระเบียบของ "มูลนิธิคุ้มครองเด็ก" จึงลงโทษด้วยการหักเงินเริ่มต้นที่ 5 บาทถึง 10 บาท เท่านั้น และเงินส่วนที่หักไปก็จะไปให้กับเด็กที่ทำงาน จึงขอยืนยันว่า ทั้งเงินที่หักไป และเงินบริจาค ไม่ได้นำเข้ากระเป๋าส่วนตัวหรือเป็นการหากินกับเด็ก ทั้งหมดมีหลักฐานทางการเงินสามารถชี้แจงได้
ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2566 ใบอนุญาตการจัดตั้งสถานสงเคราะห์เด็กฉบับปัจจุบันจะหมดอายุลง หาก พม.ไม่พิจารณาต่อใบอนุญาต ก็จำใจต้องปิดสถานสงเคราะห์ แต่มูลนิธิคุ้มครองเด็ก ยังสามารถดำเนินการต่อได้ เพราะเป็นคนละส่วนกัน โดยเด็กที่สมัครใจอยู่ในความดูแลต่อกับมูลนิธิฯ ก็สามารถอยู่ได้ แต่หากเด็กและเยาวชนคนใดสมัครใจที่จะไปอยู่ในสถานสงเคราะห์แห่งอื่นก็ยินยอมให้เด็กไป ยืนยันไม่มีการจำกัดอิสรภาพ